ติดโควิดลดฮวบ-แม่สอดป่วน


เพิ่มเพื่อน    


    เริ่มลดลงแล้ว “ศบค.” รายงานผู้ป่วยใหม่เหลือ 490 ราย เผยคลัสเตอร์แม่สอดติดเชื้อแพร่ไป 7 ครอบครัว มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 11 ราย เร่งสอบสวนหาผู้สัมผัสเพิ่ม พร้อมเฝ้าระวังช่องทางธรรมชาติ 4 จว.ติดชายแดนมาเลเซีย หวั่นเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ ย้ำ ปชช.ฉลองตรุษจีนอย่างปลอดภัย ขณะที่กทม.ยังติดเชื้่อ 23 ราย "บิ๊กตู่" ร่ายยาวคุมโควิดระลอกใหม่ มีพัฒนาการในทางที่ดี
    เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 490 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 67 ราย ได้แก่ กรุงเทพฯ 23 ราย, ตาก 2 ราย, สมุทรสงคราม 1 ราย, เพชรบุรี 1 ราย และสมุทรสาคร 40 ราย 
    จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 412 ราย ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม 1 ราย, สมุทรปราการ 1 ราย และสมุทรสาคร 410 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 10 ราย และผู้เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ผ่านช่องทางธรรมชาติ จ.นราธิวาส 1 ราย เป็นเพศหญิง สัญชาติกัมพูชา เข้าพักในโรงพยาบาลแว้ง จ.นราธิวาส ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 23,134 ราย รักษาในโรงพยาบาล 6,781 ราย ยอดหายป่วยสะสม 16,274 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 79 ราย   
    พญ.พรรณประภากล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยสะสม 105,907,231 ราย รักษาหายแล้ว 77,524,874 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 2,308,853 ราย ทั้งนี้ ในส่วนประเทศที่ยังต้องเฝ้าระวังคือมาเลเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับ 4 จังหวัดของประเทศไทย คือ จ.นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล โดยรายงานจากมาเลเซียพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 3,391 ราย ซึ่งรัฐที่มีชายแดนติดต่อกับไทยคือ ปะลิส, เกดะห์, เประ และกลันตัน ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จึงต้องเน้นย้ำ 4 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับมาเลเซีย ว่าต้องระวังเรื่องการเดินทางข้ามมาผ่านช่องทางธรรมชาติ ที่อาจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้  
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า รายงานในวันนี้จากที่ประชุม โดย จ.สมุทรสาคร มีการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนมากกว่า 150,000 คน พบติดเชื้อกว่า 13,000 คน และจะยังคงทำการตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการตรวจชุมชนโดยรอบโรงงานประมาณวันละ 2,000-3,000 คน ส่วนรายงานจังหวัดผู้ติดเชื้อจากช่วงต้นสัปดาห์ของเดือน ม.ค.ที่พบกว่า 30 จังหวัด แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต้นเดือน ก.พ. เหลือเพียง 16 จังหวัด  
    พญ.พรรณประภากล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมของผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะยกเป็นเคสเพิ่มเติม เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 95 ปี อาศัยใน กทม. เป็นผู้ป่วยติดเตียง พบว่ามีการติดเชื้อเมื่อวันที่ 31 ม.ค. หลังจากที่มีการสอบสวนโรค พบมีลูกจ้างชาวเมียนมา 3 คน มีอาชีพดูแลคนไข้ ซึ่งมีความใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ ดูแลพ่นยา ดูดเสมหะ ได้นำเชื้อมาจากข้างนอกมาติดผู้ป่วยติดเตียง 
    ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำและเรียนกับประชาชน ถ้าบ้านใดมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือเดินทางไปกลับ ให้เฝ้าระวังการติดเชื้อจากภายนอกนำเข้าสู่ในครอบครัวของเรา โดยอาจให้แรงงานดังกล่าวงดไปพื้นที่เสี่ยง งดปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อน และอีกหนึ่งเคสคือการสอบสวนโรคในจังหวัดตาก เป็นผู้ป่วยเพศชายอายุ 75 ปี ซึ่งพบมีการติดเชื้อใน อ.แม่สอด โดยกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค แต่ในข้อมูลเบื้องต้นพบผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไปใน 7 ครอบครัว และพบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 11 ราย หลังจากนี้จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มขึ้น หาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ โดยบ่ายวันเดียวกันนี้จะมีการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข  
ตรุษจีนนิวนอร์มอล
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าเทศกาลตรุษจีน ศบค.อยากให้เป็นมาตรการตรุษจีนปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ทั้งวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว อยากให้ประชาชนฉลองตรุษจีนอย่างปลอดภัย เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกัน งดการทานอาหารร่วมกัน  
    ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (โฆษก กทม.) รายงานการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่ 6 เขตของ กทม. จนถึงวันที่ 5 ก.พ.64 พบติดเชื้อสะสม 54 ราย โดย กทม.ได้ค้นหาผู้ป่วยโควิด จากแรงงาน 13,192 คน ในโรงงาน 118 แห่ง จากพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ เขตภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน จอมทอง บางขุนเทียน พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 54 ราย เป็นแรงงานของโรงงานใน 4 เขต คือ เขตภาษีเจริญ 26 ราย, เขตบางแค 7 ราย, เขตบางขุนเทียน 12 ราย และเขตบางบอน 9 ราย
      สำหรับโรงงานที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ กทม. ได้สอบสวนโรคค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อทั้งหมดแล้ว และทำความสะอาดพื้นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ขอความร่วมมือให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อที่จะได้ควบคุมสถานการณ์การพร่ระบาดให้กลับมาปกติได้อีกครั้ง
    นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า กรณีชายไทย อายุ 95 ปี ผู้ป่วยติดเตียงและมีโรคประจำตัวหลายโรค โดยจ้างผู้ดูแลแบบไปกลับ เป็นแรงงานชาวเมียนมา 3 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 20, 24 และ 36 ปี ดูแลเรื่องการพ่นยา ดูดเสมหะ ดูแลสุขภาพผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถไปไหนได้ ทีมสอบสวนจึงต้องพยายามสอบสวนว่าแรงงานเมียนมามีความเกี่ยวข้องกับสถานที่เสี่ยงหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบว่ามีประวัติเข้าพื้นที่ตลาด จึงต้องเร่งขีดวงและติดตามดูแล ค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม พร้อมทำความสะอาดพื้นที่
    ผอ.กองควบคุมโรคกล่าวว่า พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีกรณีคล้ายกัน เป็นผู้ป่วย ชาวเมียนมา อายุ 75 ปี ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียงแต่เป็นผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน มีความเชื่อมโยงกับสมาชิกในครอบครัวที่มีการเข้าและออกจากบ้าน ขณะนี้พบการติดเชื้อขยายออกไป 11 ราย ในหลายครอบครัว อย่างไรก็ตาม ขอเวลาให้ทีมสอบสวนโรคเร่งหาความชัดเจนอีกครั้ง    
"บิ๊กตู่"ร่ายยาว
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ทางเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ว่าหากติดตามรายงานสถานการณ์ ศบค.อย่างใกล้ชิดทุกวัน จะเห็นว่าเรามีพัฒนาการไปในทางที่ดี ยังอยู่ภายใต้การควบคุม มาตรการที่ใส่ลงไปไม่ใช่ว่าจะรู้ผลในวันรุ่งขึ้น แต่ว่าจะมีวงรอบในการทำงานและการประเมินผลรอบละ 14-15 วัน โดยช่วงแรกของการระบาดใหม่อาจจะมีความหนักหน่วงกว่าปีที่แล้ว เพราะเกิดการะบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว งานรื่นเริงที่มีของเมา ซึ่งเราได้ระดมสรรพกำลังติดตามสอบสวนโรคทุกคนนับพันนับหมื่นอย่างไม่ลดละ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการควบคุมเฝ้าระวังของหน่วยงานด้านความมั่นคง ท่านลองจินตนาการตามดู เส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยมีมากกว่า 5,600 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ มีเส้นแบ่งเขตชายแดนไทยเมียนมายาวมากที่สุดกว่า 2,400 กิโลเมตร มีชายทะเลสองฝั่ง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ยาวมากกว่า 3,100 กิโลเมตร ครอบคลุมถึง 23 จังหวัด ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการระบาดระลอกนี้ตนได้สั่งการในฐานะเป็น ผอ.ศบค. กำชับหน่วยงานความมั่นคงให้ดำเนินการควบคุมและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งเราได้ทำมาโดยตลอดและเห็นว่าฝ่ายที่กระทำความผิดก็จะหาวิธีการใหม่ๆ หาจังหวะ หาช่องทางเสมอมา ซึ่งเราได้ติดตามและพัฒนาไปสู่การตรวจที่เข้มข้นมากขึ้น 
    วันนี้ระบบเฝ้าตรวจในชายแดนของไทยได้แบ่งการปฏิบัติออกเป็นขั้นๆ อย่างเป็นระบบเป็นระเบียบตั้งแต่ยามปกติ และเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้นในยามวิกฤตินี้ 1.ตามแนวชายแดนเราใช้กำลังพล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จัดตั้งจุดตรวจชุดลาดตระเวนเดินเท้าเฝ้าระวังตามช่องทางธรรมชาติและพื้นที่ห่างไกลผู้คน ส่วนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ตามช่องทางพื้นที่ผ่านแดน รวมทั้งใช้โดรนตรวจทางอากาศและเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินต่างๆ แทนคน ที่จะได้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง 2.พื้นที่จังหวัดชายแดนเราได้มอบหมายให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อาสาสมัครทุกจังหวัด จัดให้มีการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยเข้มงวด 
    “นับเป็นพลังทางสังคมที่มีส่วนร่วม เป็นยามเฝ้าแผ่นดินที่ช่วยให้บ้านเมืองปลอดภัยด้วย ในทุกมิติไม่ว่าจะด้านความมั่นคง โจร ผู้ร้าย กระบวนการต่างๆ ยาเสพติด ถ้าเราช่วยกัน เป็นยามเฝ้าแผ่นดิน เราก็จะแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เราก็จะได้ผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่ามัวแต่โทษกันไปกันมา เราต้องริเริ่ม เราต้องร่วมมือ อย่าไปปล่อยให้คนไม่ดีคนชั่ว หรือคนทำความผิด โจรผู้ร้าย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเรา มาตรการทางสังคมเราก็ต้องมีในการช่วยกันเฝ้าระวัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
ทำไมต้องมีโรงพยาบาลสนาม 
    “บ้านเมืองเราโชคดีมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง และประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ทุกภาคส่วนสามัคคีกัน เช่นกรณีการระบาดหนักที่จังหวัดสมุทรสาครนั้น เจ้าหน้าที่ในจังหวัดทำงานหนักเท่าไหร่ก็ไม่พอ เสียสละกันเจ็บป่วยก็มี ซึ่งเราก็ได้รับกำลังเสริมมาจากทั่วประเทศ มีชุดสอบสวนโลกเกือบ 800 คนจาก 41 จังหวัด มีทีมเฝ้าระวังค้นหาตรวจเชิงรุกอีก 250 คนจาก 25 จังหวัด มีเครื่องไม้เครื่องมือที่รับพระราชทานมา ในส่วนของรัฐบาลและส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็มีเครื่องมือ การทำงานแบบไทยๆ เช่นนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของคนไทย เมื่อมีภัยเราก็ร่วมมือกันไม่ควรทิ้งใคร หรือคนไทยด้วยกันจะมาดูแคลนคนไทย ดูแคลนบ้านเกิดเมืองนอนของตน ส่วนใครที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนและสื่อสารออกไปไม่ตรงกับความเป็นจริง ผมเชื่อว่าในสิ่งเหล่านี้จะทำให้ท่านหันมาร่วมมือกับพวกเราและคนส่วนใหญ่ของประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ  
    นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อไปทำไมต้องมีโรงพยาบาลสนาม หากมีญาติพี่น้องของท่านที่ไม่ป่วยโควิด และไปรักษาในโรงพยาบาลตามปกติ ท่านจะกังวลหรือไม่ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะปะปนกับผู้ป่วยที่เป็นโควิดในตึกเดียวกัน ที่มีทั้งผู้ป่วยและผู้มาเยี่ยมไปมาหาสู่กันตลอดวัน แม้จะระมัดระวังกันอย่างดี ก็ยังมีความลำบาก และถือเป็นความเสี่ยง ถึงแม้ไม่ประมาทก็อาจพลั้งเผลอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ป่วยในห้องไอซียู 
    ดังนั้นโรงพยาบาลสนามจึงถือเป็นทางออกหนึ่งที่เป็นสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทุกฝ่ายได้ โดยโรงพยาบาลสนามจะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของหมอและพยาบาลในการดูแลทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษา การดูแลอย่างเหมาะสม แยกส่วนไม่ปะปนกัน รวมทั้งจัดพื้นที่ให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในการควบคุม ไม่แพร่เชื้อไปสู่ชุมชน เพราะเป็นระบบปิดคล้ายๆ กับพื้นที่กักกันโรค ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานการระบาดวิทยาที่เข้มงวด  
    นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่ง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรกภายใต้การทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอนุญาตให้จัดตั้งได้ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และมีการจัดโซนนิงให้ห่างจากชุมชน อาคารมีระบบจัดการน้ำเสีย การไหลเวียนของอากาศ เป็นต้น ทั้งนี้ จะช่วยให้โรงพยาบาลปกติสามารถดำเนินการต่อไปในการดูแลประชาชน และชุมชนก็ไม่เสี่ยงไปด้วย 
    ส่วนการเลือกอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น อาจเป็นที่โล่งว่างเปล่า มีความเหมาะสมห่างไกลชุมชน ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เป็นต้น ขณะที่การจัดการภายในโรงพยาบาลสนามก็จัดโซนสีเพื่อความปลอดภัยด้วย มีการจัดระบบบำบัดท่อน้ำเสียเฉพาะไม่ไปยุ่งกับท่อน้ำเสียของพื้นที่นั้นๆ โดยมีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด และทดสอบน้ำในละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิดหรือไม่ 
    ซึ่งการออกแบบระบบดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ รวมถึงกรมควบคุมโรคแล้ว ซึ่งในระยะแรกก็มีบ้างที่บางคนบางชุมชนไม่เข้าใจ แต่ภายหลังที่มีการสร้างการรับรู้มากขึ้นก็เกิดความร่วมมือมากขึ้น มีการเสียสละให้ใช้พื้นที่ ซึ่งเราก็มีการให้ข้อเท็จจริงและสื่อสารให้คนในชุมชน หากประชาชนสงสัยก็ให้สอบถาม อสม. หรือโรงพยาบาลสนับสนุนประจำตำบลได้ตลอด เราไม่มีการปกปิดข้อมูล และจะเปิดโอกาสให้ชุมชนแจ้งเหตุ หากเห็นอะไรที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยจะได้ตรวจสอบป้องกันแก้ไขไม่ให้เชื้อออกสู่ชุมชน  
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในช่วงท้ายว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันในเรื่องของโรงพยาบาลสนามไม่มีการต่อต้านแล้ว และมีการจัดเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งตามความจำเป็นของสถานการณ์ และยังเหลือพื้นที่อย่างเพียงพอหากมีการระบาดมากขึ้น ซึ่งเราได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนหลายรายในหลายจังหวัด สนับสนุนพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอีกด้วย ต้องขอขอบคุณมากๆจริงๆ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"