พปชร.-สว.ผนึกส่งศาลรธน.


เพิ่มเพื่อน    

 

ส.ว.-พปชร.จับมือลุยโหวตอังคารนี้ หวังดันให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งคำร้องไปศาล รธน. สกัดแก้ รธน. 256 ตั้งสภาร่าง รธน. "ไพบูลย์" โวมั่นใจเสียงเกินกึ่งหนึ่งเอาด้วย ยกเหตุคำวินิจฉัยในอดีตเป็นบรรทัดฐาน ปชป.ชิ่งไม่ขอร่วมสังฆกรรม

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันอังคารที่ 9 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระญัตติด่วนเรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นเรื่องด่วนเรื่องแรก ในระเบียบวาระการประชุม รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกบรรจุเป็นเรื่องด่วน
    โดยญัตติขอให้รัฐสภาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันลงชื่อรวม 73 ชื่อ เสนอญัตติเพื่อขอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  
       ด้านนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา และหนึ่งใน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ ของรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติเพื่อเสนอคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยดังกล่าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าวในวันที่ 9 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม การจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติอย่างไร เพราะขณะนี้ก็มี ส.ว.บาง ส่วนมีความคิดเห็นว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อมาร่าง รธน.ฉบับใหม่ อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะหลักการในญัตติที่ขอแก้ไขมาตรา 256 ที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการทำเพื่อให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ อันมีความหมายว่าให้แก้ทั้งฉบับแต่หมวดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 น่าจะมีเจตนาเพียงให้แก้เป็นรายมาตรา ไม่ได้มีเจตนาให้ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ จึงยังมีมุมมองที่เห็นว่าไม่น่าทำได้ โดยหากสุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากโหวตส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ แต่หากเป็นมติของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะรับคำร้องไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีบรรทัดฐานคำวินิฉัยเดิมเมื่อปี 2555 อยู่ก่อนแล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่อาจทำได้ เพราะประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ประชาชนย่อมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงย่อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ได้ หากประชาชนมีมติยอมรับ ซึ่งถึงตอนนี้ก็คิดว่าสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนก็มีคำตอบอยู่แล้วว่าจะโหวตอย่างไร
      "สำหรับผมแน่นอนว่าจะโหวตเพื่อให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะผมเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อด้วย แต่ก็มี ส.ว.อีกหลายคนเหมือนกันที่เขาก็เห็นว่าการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ตอนนี้น่าจะทำได้ไม่มีปัญหา เพราะเขามองว่า ยังไงสุดท้ายแล้วพอสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ก็ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติถามประชาชนอยู่แล้ว ทำให้จนถึงตอนนี้เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่ผมก็อยากให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไปเลยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ทำได้หรือไม่ได้ เพราะหากส่งไปมันไม่ได้ทำให้เสียเวลาอะไร ส่วนหากส่งไปแล้วยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาก่อนโหวตวาระสองและวาระสามก็ไม่เป็นไร ก็เดินไปด้วยกันได้กับการพิจารณาของรัฐสภา" นพ.เจตน์ ส.ว.ระบุ
       เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้คิดว่ามีสมาชิกวุฒิสภาเอาด้วยกับการจะลงมติให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน นพ.เจตน์กล่าวว่าก็มีเยอะ แต่ก็กะจำนวนไม่ได้ เพราะการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน แต่หากพรรคพลังประชารัฐเอาด้วยหมด มันก็เป็นไปได้ที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่สำหรับ ส.ว. ก็คิดว่าน่าจะมีคนเห็นด้วยให้ส่งคำร้องไปศาล รธน.มากกว่าไม่เห็นด้วยที่จะส่ง แต่ก็ประเมินยากอยู่ ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยคงไม่โหวตให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายค้านทั้งหมดก็คงไม่เอาด้วย
    ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าได้มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนมีความอึดอัดใจในการต้องโหวตเพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาเอาด้วย ก็ทำให้ ส.ว.ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญเพราะการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ทำได้ไม่ขัด รธน. แต่หากจะไปโหวตไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจทำให้การทำงานกับเพื่อน ส.ว.มีความไม่สะดวกใจ เลยทำให้ ส.ว.บางส่วนกำลังคิดว่าอาจหาทางออกด้วยการงดออกเสียง เพื่อเป็นการประนีประนอมกับเพื่อน ส.ว.คนอื่น
        ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่ากระบวนการแก้ไข รธน.ปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่เป็นเรื่องที่ทำได้และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐสภาที่แก้ไขรธน.ได้ เช่นเดียวกับนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงเรื่องนี้ว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมาย อยากให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน พิจารณา หากคิดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถยื่นหลังเสร็จสิ้นวาระ 3 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิ์เปิดช่องทางไว้อยู่แล้ว
    ขณะที่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ มีรายงานว่าพรรคพลังประชารัฐได้นัดประชุม ส.ส.ในวันจันทร์ที่ 8 ก.พ.นี้ ซึ่งจะมีการหารือเรื่องท่าทีของ ส.ส.พลังประชารัฐต่อการโหวตญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยมีกระแสข่าวว่า ส.ส.พลังประชารัฐยังมีความเห็นไม่เป็นเอกภาพทั้งหมด เพราะมีทั้งที่เห็นด้วยว่าควรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ควรส่ง เพราะการแก้ไขมาตรา 256 ที่รัฐสภากำลังดำเนินอยู่เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำในการเสนอญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กล่าวย้ำว่า ญัตติดังกล่าวไม่ได้มีการขอให้ชะลอการพิจารณาหรือขอให้ศาลออกมาตรการเพื่อหยุดการพิจารณาหรือคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามขั้นตอน ส่วนตัวเชื่อว่าที่ประชุมน่าจะเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
    เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการพูดถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อข้อศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ระวังถูกยื่นตีความล้มล้างการปกครองฯ มองว่าจะมีผลต่อการพิจารณาลงมติด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ความเห็นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับญัตติโดยตรง แต่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบญัตติได้ ซึ่งจะอภิปรายเสนอในประชุมด้วยว่ามีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ในบทสรุป หน้าที่ 24 ระบุตอนท้ายว่า "อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นี้ ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองดังกล่าวฉบับข้างต้น" ซึ่งอาจมีการยกเป็นประเด็นเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากได้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
    ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็มีความเห็นเช่นกัน โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อย่าทำแบบพวกมากลากไป จะทำให้ประเทศเสียหาย หากมีมติให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญจริง จะทำให้กระบวนการแก้ไขรับธรรมนูญสะดุดลง ทำให้การพิจารณาล่าช้าลงไปอีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"