เมียนมาคึกต้านรัฐประหาร


เพิ่มเพื่อน    

 ชาวเมียนมาแสดงพลังไม่เอาเผด็จการ ย่างกุ้งคึกคักผู้ชุมนุมใกล้หลักแสน หลายเมืองใหญ่ร่วมประท้วงต้านรัฐประหารด้วย ทางการเริ่มปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้วบางส่วน โป๊ปฟรานซิสทรงร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวเมียนมา

    รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ของสำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์ กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านเผด็จการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาครั้งนี้ ว่าเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การปฏิวัติกาสาวพัสตร์เมื่อปี 2550 ที่นำไปสู่การปฏิรูประบอบประชาธิปไตยเมียนมา หรือแม้แต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2531
    เอเอฟพีอ้างการประเมินจากบางแหล่งข่าวว่า การชุมนุมประท้วงที่ย่างกุ้งในวันอาทิตย์มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100,000 คน ส่วนของรอยเตอร์อ้างบันทึกภายในสำหรับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติที่ประเมินว่า มีผู้ประท้วงราว 60,000 คนที่ย่างกุ้ง และอีกราว 1,000 คนที่กรุงเนปยีดอ ซึ่งอยู่ห่าง 350 กิโลเมตรทางเหนือ
    มีรายงานการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ในอีกหลายเมืองทั่วเมียนมาในวันเดียวกันนั้น เช่นที่เมืองมัณฑะเลย์, มาเกว, เมียวดี และมะละแหม่ง ภาพการเดินขบวนประท้วงในหลายเมืองถูกถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กด้วย ไม่ชัดเจนว่าผู้เผยแพร่หลบเลี่ยงการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตของทางการได้อย่างไร
    การชุมนุมที่ย่างกุ้ง เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของเมียนมาคึกคักที่สุด ผู้ชุมนุมชูป้ายประท้วง เช่น "ความยุติธรรมเพื่อเมียนมา" และ "เราไม่ต้องการเผด็จการทหาร" และร้องตะโกนคำขวัญเช่นเผด็จการจงพินาศ เคล้ากับเสียงอึกทึกของแตรรถยนต์ ผู้ประท้วงสวมเสื้อสีแดง ถือธงแดง ลูกโป่งสีแดงหรือใช้สีแดงที่เป็นสีของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และพากันชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต้านเผด็จการ
    จี พยู จอ นักศึกษาวัย 20 ปี บอกว่า เขาเกลียดการรัฐประหารจริงๆ และไม่กลัวโดนปราบปราม เขาจะมาร่วมการชุมนุมทุกวันจนกว่าแม่ซู (นางอองซาน ซูจี) จะได้รับอิสรภาพ
    ประชาชนเมียนมายังแสดงออกซึ่งอารยะขัดขืนด้วยการนัดกันเคาะภาชนะที่ส่งเสียงดัง เช่น หม้อ กะละมังและกระป๋อง โดยเฉพาะยามค่ำคืน เอเอฟพีกล่าวว่า เมื่อเวลา 8 โมงเช้าวันอาทิตย์ ก็มีเสียงประชาชนในนครย่างกุ้งพร้อมใจกันเคาะภาชนะเสียงอึกทึกอีก
    ผู้ประท้วงประกาศด้วยว่า พวกเขาจะกลับมาลงถนนอีกครั้งในเวลา 10.00 น.ของวันจันทร์ อย่างท้าทายภาวะฉุกเฉินที่คณะรัฐประหารประกาศไว้ขณะยึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ และบ่งชี้ว่าจะไม่รามือง่ายๆ กับการต่อต้านรัฐประหาร ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้ข้าราชการและลูกจ้างของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หยุดงานและเข้าร่วมการประท้วงด้วย
    "เราจะสู้จนถึงที่สุด" เย จ่อ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์วัย 18 ปี กล่าว "คนรุ่นใหม่จะได้มีประชาธิปไตยถ้าพวกเรายุติระบอบเผด็จการทหารลงได้"
    การชุมนุมส่วนใหญ่ยังดำเนินไปอย่างสงบ ต่างจากการปราบปรามนองเลือดเมื่อปี 2541 และ 2550 แต่รอยเตอร์รายงานว่า ภาพวิดีโอการชุมนุมที่เมืองเมียวดีในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา มีเสียงปืนดังหลายนัดระหว่างที่ตำรวจในเครื่องแบบพร้อมอาวุธเข้าชาร์จกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคน แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
    ตัน มยิน อู นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ ให้ทัศนะผ่านทวิตเตอร์ว่า การประท้วงต่อต้านรัฐประหารเผยให้เห็นสัญญาณทุกอย่างของกระแสที่แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งหากมองจากประวัติศาสตร์ ก็คาดเดาได้ว่าจะมีปฏิกิริยาตามมา "อีกด้าน สังคมเมียนมาทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากปี 2531 หรือแม้แต่ปี 2550 ทุกอย่างเป็นไปได้หมด" เขากล่าว
    การแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารที่เพิ่มมากขึ้นในเมียนมาต่อเนื่องจากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันเสาร์ เกิดขึ้นทั้งที่ทางการเมียนมาสั่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ แต่ในวันอาทิตย์ บริการเฝ้าตรวจ เน็ตบล็อกส์ กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้บางส่วนบนบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือบางเครือข่าย แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังถูกปิดกั้นและไม่ชัดเจนว่าการเชื่อมต่อจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน
    วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ตรัสอำนวยพรชาวเมียนมาและทรงย้ำด้วยว่า พระองค์ร่วมเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกับชาวเมียนมาและขอให้กองทัพทำงานเพื่อ "ความยุติธรรมทางสังคม, เสถียรภาพของชาติ และการอยู่ร่วมกันตามระบอบประชาธิปไตยอย่างกลมกลืน"
ส่วนที่ไทย เมื่อเวลา 11.00 น. ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มชาว?เมียนมาที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพระสงฆ์ นักศึกษา คนทำงาน และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กว่า 300 คน ?เดินทางมาชุมนุมกันเพื่อทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมแสดงสัญลักษณ์พรรคเอ็นแอลดี ภาพนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พร้อมภาพสัญลักษณ์ต่อต้าน พล.อ.มิน อ่อง หล่าย มีการร้องเพลงชาติและเพลงปลุกใจ กับชู 3 นิ้ว?เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีและคืนประชาธิปไตยให้เมียนมา ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.น.1 และ สน.นางเลิ้ง จำนวน 50 นาย เฝ้าสังเกตการณ์และดูแลการชุมนุม ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"