ธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม


เพิ่มเพื่อน    

           การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก น้ำแข็งในขั้วโลกละลายมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พายุใหญ่ที่ก่อตัวมากขึ้นทุกวัน อุณภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นในทุกๆ วัน  และสิ่งแวดล้อมที่กำลังย่ำแย่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก

                ดังนั้นธุรกิจสีเขียวจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคปัจจุบัน และยังเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสีเขียวจะสามารถสร้างงาน สร้างเงิน ลดคาร์บอน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นหลายประเทศกำลังเดินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้มีการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ มีคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจแบบใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอยู่ได้เป็นอย่างดี

                ซึ่งในเรื่องนี้ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ภาคธุรกิจทุ่มเทสรรพกำลังในการพลิกฟื้นจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว แต่ก็ต้องไม่ลืมหันมาเตรียมพร้อมกับความปกติรูปแบบใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) ด้วยเช่นกัน โดยเทรนด์ที่เด่นชัดคือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก ประกอบด้วยการมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน, การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และการประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจ

                ดังนั้นในด้านการลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 4% จากระดับปัจจุบัน

                และหากธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากฐานเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพไทยที่มีความหลากหลาย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัลอย่างเหมาะสม ในการพัฒนาและต่อยอดในหลายอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน

                เช่นเดียวกับ ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ยังเห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ได้ดำเนินมาตรการภาคบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น

                และล่าสุดสหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทย

                ถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรมและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก พลังงาน 

                ดังนั้นผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล ก็จะสร้างประโยชน์แบบ win-win โดยจะช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของภาคธุรกิจในระยะยาว. 

บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"