48ปีการเคหะแห่งชาติ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย


เพิ่มเพื่อน    

  "เปิดแผนตั้งบริษัทลูก" ช่วยผู้กระทบโควิด-19 

     วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 นับเป็นการครบรอบ 48 ปีของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา ภารกิจสำคัญหลักถือเป็นนโยบายจากวันนั้นจนถึงวันนี้คือ การสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างบ้าน สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างชุมชนที่น่าอยู่ เพราะจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีเริ่มจากการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

            นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติดำเนินงานมาครบรอบ 48 ปี ด้วยความภาคภูมิใจในภารกิจด้านพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ แน่นอนว่าจะยังคงดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “การเคหะแห่งชาติเป็นองค์กรสมรรถนะสูงในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี” พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญตอบสนองนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยที่อยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง 

            สำหรับ กคช. ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้วทั้งสิ้น 742,975 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 280,567 หน่วย โครงการเคหะชุมชน 142,103 หน่วย โครงการเคหะชุมชน และบริการชุมชน 27,317 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ทั้งปรับปรุงชุมชนที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัย 233,964 หน่วย โครงการพิเศษและบริการชุมชน 3,980 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ  50,708 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย โครงการที่พักอาศัยสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้  845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 334 หน่วย และโครงการอาคารเช่า 525 หน่วย

 

เดินหน้า "มีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว"

            ในปี 2564 การเคหะแห่งชาติเตรียมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาและเศรษฐกิจสุขประชาทั่วประเทศ จำนวน 20,000 หน่วย โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เกษียณอายุหรือบ้านเกษียณสุข โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ (Senior Complex) โครงการที่อยู่อาศัยตามแนวโครงข่ายคมนาคม และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)

 

ขับเคลื่อนตั้งบริษัทลูก

            ขณะเดียวกันเพื่อให้ กคช.สามารถขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานให้มากขึ้น จึงได้มีแผนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ในการเข้ามาดูแลโครงการรวม 5 โครงการที่จะต้องดำเนินการใน 2564-2566 โดยการจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าวนั้นจะทำให้สามารถทำงานดีกว่าที่ผ่านมา ต่อยอดการดูแลประชาชนนับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการสร้างที่พักอาศัย การเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในโครงการ ครอบคลุมไปถึงการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัย ซึ่ง กคช.จะถือหุ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 49% โดยที่เหลือจะเป็นการหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมกับบริษัทลูก โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), กลุ่มธนาคาร และบริษัทประกัน เป็นต้น

 

แผนงานช่วยผู้กระทบโควิด-19

            สำหรับในปี 2564 ได้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ การเคหะแห่งชาติได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าใหม่ผ่าน 3 รูปแบบโปรโมชั่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2564 ได้แก่ 1. โปรโมชั่นดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0% เป็นเวลา 1 ปี สำหรับลูกค้าที่สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อสามารถยื่นขอสินเชื่อจากโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือทำสัญญาเช่าซื้อโดยตรงกับการเคหะแห่งชาติ พร้อมรับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.โปรโมชั่นลดราคาโครงการบ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ กำหนดราคาขายเงินสดหน่วยละ 250,000-520,000 บาท และ 3.โปรโมชั่นเช่าราคาพิเศษ 999-1,200 บาทต่อเดือนในปีแรก จำนวน 84 โครงการที่การเคหะแห่งชาติกำหนด

            "จะเห็นได้ว่าในตลาดของอสังหาริมทรัพย์มีผู้เล่นจัดโปรโมชั่นกันค่อนข้างแรง โดยเฉพาะการให้อยู่ฟรี 3 ปี ซึ่งจากแคมเปญดังกล่าวก็เห็นว่าน่าจะนำมาปรับใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยของ กคช.ได้ เช่น การผ่อนแบบบอลลูน หรือ Balloon Payment กล่าวคือ เป็นการแบ่งเบาภาระผู้ซื้อในระยะแรก และในระยะท้ายๆ อาจต้องการผ่อนด้วยเงินที่เป็นก้อนใหญ่มากขึ้น แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรขาดทุน"

            พร้อมกันนี้ กคช.ยังมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันในปี 2564 ได้แก่ 1.ลดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อที่อยู่อาศัย 2.ลดค่างวดเช่าซื้อที่อยู่อาศัยโดยขยายเวลาการผ่อนชำระ 3.ปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเช่าซื้อที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อ และ 4.ส่วนลดค่างวดเช่าซื้อ 1,000 บาท สำหรับลูกค้าเช่าซื้อที่มีประวัติชำระดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ

 

ยืนยันบทบาท..พัฒนาคุณภาพชีวิต

            นายทวีพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เห็นชอบในหลักการให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการดังกล่าวในวงเงิน 5,207 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2563 และปี 2564 สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จำนวน 692.80 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ร่วมทำหน้าที่บริหารการให้สินเชื่อเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 114 ราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ จำนวน 75.83 ล้านบาท

            ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติยังได้ดำเนินการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) จำนวน 6,800 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการแบบให้เปล่าจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย และกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งการดำเนินการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ในครั้งนี้ ใช้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (Refinance) อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 5 โครงการ และในปี 2564 การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าหมายการออกพันธบัตรเพื่อสังคม หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อนำเงินที่ได้มาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

            “ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการบริหารต้นทุนทางการด้วยการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อสังคม เพื่อนำมาปรับโครงสร้างนี้เงินกู้ จากการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการแฟลตดินแดง (แปลง G) ส่งผลให้จากตัวเลขหนี้ที่มีอยู่ 35,000 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 29,000 ล้านบาท ช่วยลดภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ละปีประมาณ 4% นับเป็นผลดีต่อตัวเลขหนี้สินต่อทุนที่ลดลง แม้จะไม่ได้อยู่ระดับ 1 เท่า แต่ก็ปรับลงมาอยู่ที่ 2.6 เท่า”

            ส่วนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2 อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 9-17 และแฟลตที่ 63-64 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 และอาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 23-32 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ระยะที่ 3 และ 4 จำนวน 13,746 หน่วย (แปลง D2, แปลง E และแปลง B) รองรับข้าราชการและประชาชนทั่วไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนแนวทางการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน      

            นายทวีพงษ์กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นเดียวกับทั่วโลก การเคหะแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่มีชุมชนอยู่ในความดูแลทั่วประเทศ ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดระหว่างเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน 2563 ทั้งด้านการเงินและด้านสังคม 

            สำหรับด้านการเงิน 1.พักชำระค่าเช่าซื้อ 3 เดือน 2.ปลอดค่าเช่า 3 เดือน สำหรับลูกค้าอาคารเช่ารายย่อย รวมทั้งลูกค้าที่เช่าแผงตลาด และร้านค้ารายย่อย 3.ปลอดค่าเช่าสำหรับผู้เช่ารายย่อยที่ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาอาคาร 4.ลดค่าเช่า 50% และ 5.พักชำระเงินมัดจำ/เงินจอง ด้านสังคม การเคหะแห่งชาติได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจถึงมาตรการป้องกันตนเองให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งโรงครัวในชุมชน จัดทำข้าวกล่องปรุงสุก พร้อมจัดหาเครื่องอุปโภค-บริโภค และของใช้จำเป็นให้กับผู้อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของผู้อยู่อาศัย

            นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานและสร้างอาชีพให้แก่ช่างชุมชน และบูรณาการความร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรม “นัดพบแรงงาน” และ “แนะแนวอาชีพ” แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนของ กคช. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน สามารถสร้างอาชีพมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

            อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในโครงการ "พม. เราไม่ทิ้งกัน” ภายใต้แนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยการเคหะแห่งชาติได้ให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ย้ายครอบครัวคนหูหนวก จำนวน 10 ครอบครัว จากชุมชนคนหูหนวก ริมถนนพระราม 9 ย้ายมาอยู่โครงการบ้านเอื้ออาทรลาดหลุมแก้ว 2 จังหวัดปทุมธานีอีกด้วย. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"