แจงแผนฉีดวัคซีน2ล.โดส10จว.เสี่ยงสูง


เพิ่มเพื่อน    

  ไทยติดเชื้อใหม่ 201 ราย สั่งเฝ้าระวังเข้มข้นเขตปทุมวัน เหตุคนพลุกพล่าน ศบค.เริ่มตรวจภูมิคุ้มกัน 15 ก.พ. ลุ้นผ่อนคลายสมุทรสาคร สธ.เปิดแผนฉีดวัคซีน 2 ล้านโดสแรก กระจาย 10 จังหวัดเสี่ยงสูง

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้มีติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 185 ราย โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 96 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 89 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุก จ.สมุทรสาคร 73 ราย ตาก 14 ราย กทม. 1 ราย และระยอง 1 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 24,104 ราย หายป่วยสะสม 19,799 ราย อยู่ระหว่างรักษา 4,225 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 80 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 107,849,724 ราย เสียชีวิตสะสม 2,364,864 ราย  
    สำหรับพื้นที่ กทม. วันนี้มีผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวัง 16 ราย โดยกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 ราย ซึ่งยังมีการสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดในพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ตลาด ชุมชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการตรวจหาเชิงรุกในพื้นที่ กทม.ไปแล้วทั้งสิ้น 59,845 ราย โดยมี 2 เขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อคือ สัมพันธวงศ์ และสะพานสูง และใน 1-2 วันนี้ มีเขตที่พบผู้ติดเชื้อ 6 เขตคือ ภาษีเจริญ บางแค บางบอน คลองเตย สาทร และล่าสุดปทุมวัน ซึ่งต้องเฝ้าระวังเข้มข้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเมือง มีคนเข้า-ออกจำนวนมาก ใครไปในพื้นที่มีประชาชนพลุกพล่าน ขอให้ระมัดระวังตัวเอง   
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.63-8 ก.พ. มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้ว 1,048 แห่ง จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 1,880 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกโรงงานขนาดใหญ่ 97 แห่ง ขนาดกลาง 223 แห่ง ขนาดเล็ก 953 แห่ง นอกจากนี้ ยังค้นหาเชิงรุกในตลาดสด 15 แห่ง ชุมชน 592 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% จำนวน 9 แห่ง ที่เราได้ใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลนั้น เราดูแลคนงานไปทั้งสิ้น 42,424 ราย หวังว่าคนที่อยู่ในโรงงานแล้วไม่มีอาการสามารถทำงานได้อยู่ จะมีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ มีการคิดมาตรการว่าในวันที่ 15 ก.พ. จะเริ่มตรวจภูมิคุ้มกันส่วนตัว ซึ่งจะเร่งตรวจในช่วง 5 วันแรก ให้ได้วันละ 8,000 รายเป็นต้นไป ที่ประชุม ศบค.ยังคุยกันว่า ถ้าตรวจแล้วพบภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ควรให้เขากลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่ แล้วจะพิจารณาผ่อนคลายได้หรือไม่ เป็นแผนที่เราคุยกันไว้ ขอให้ติดตาม
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย
    นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิดคือ ชนิดไวรัลเวกเตอร์ จากบริษัทแอสตราเซเนกา ถือเป็นเทคโนโลยีกลางๆ ไม่ได้ใหม่สุด แต่มีความมั่นใจด้านความปลอดภัย และชนิดเชื้อตาย จากบริษัทซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเก่า จึงมั่นใจความปลอดภัย ทั้งนี้ หลังฉีดอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ไม่มีผลรุนแรง ส่วนประสิทธิภาพวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีผลที่น่าพอใจในการลดไม่ให้เกิดโรค ลดการป่วยและสูญเสีย ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้มากขึ้น เรื่องลดการแพร่โรค แนวโน้มไปในทางที่ดี บางประเทศระบุว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกาสามารถลดการแพร่โรคได้ถึงร้อยละ 50-60
    นพ.โสภณกล่าวว่า นโยบายการให้วัคซีน คือทุกคนในประเทศไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมายของการให้วัคซีน คือ 1.ลดการป่วยและการเสียชีวิต จึงฉีดให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 2.ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมถึง ฝ่ายความมั่นคง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ 3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
    สำหรับการให้วัคซีนแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 วัคซีนมีจำกัด เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต ในพื้นที่เป้าหมายคือ สมุทรสาคร ตาก กทม. และปริมณฑล ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าทำงานป้องกันโควิด ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
    ระยะที่ 2 เมื่อคุมโรคได้และมีวัคซีนเพียงพอ ในช่วง มิ.ย. มุ่งเป้าเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมคือ ผู้มีอาชีพการท่องเที่ยว ให้บริการสาธารณะ ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ อีกกลุ่มคือ นักการทูต เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ
    ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดสแรกจากซิโนแวคประเทศจีน ว่า ในระยะแรกคือช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ที่พบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน โดย 1 คน ฉีด 2 เข็ม ประกอบด้วย     1.สมุทรสาคร 820,000 โดส จำนวน 410,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน, เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 150,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 210,000 คน
      2.กรุงเทพฯ 800,000 โดส จำนวน 400,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน, เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว 100,000 คน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 100,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 160,000 คน 3.สมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน, เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน 4.นนทบุรี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
    5.ปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 6.ระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน 7.ชลบุรี 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 8.จันทบุรี 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน 9.ตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
    10.ตาก 160,000 โดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน, เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน,  ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน รวมวัคซีน 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดส สำหรับ 33,000 คน จะสำรองไว้หากมีพื้นที่ระบาดเกิดขึ้นใหม่ โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อสกัดการแพร่เชื้อ
         ส่วนการฉีดวัคซีนระยะที่ 2 จำนวน 61,000,000 โดส จะดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในโรงพยาบาลที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง วันละ 500 โดส 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้น อาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งที่มีอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ
    วันเดียวกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 2 คน ซึ่งเป็นการตรวจเชิงรุกกับกลุ่มผู้สัมผัสกับบุคลากรซึ่งพักอาศัยในหอพักบุคลากรที่ติดโควิด-19 ทำให้ยอดรวมเป็น 16 คน ทั้งนี้ยืนยันว่ายังควบคุมสถานการณ์ได้
    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตากเปิดเผยว่า จังหวัดตากได้มีคำสั่งปิดสถานที่และห้ามผู้ใดเข้า-ออกย่านชุมชนมัสยิดอันซอร์ ในพื้นที่ ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่วันที่ 11-17 ก.พ.นี้ เวลา 24.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"