เผยแนวโน้มดี ป่วย‘โควิด’ลด เหลือ126ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 126 คน หายป่วยแล้ว 21,180 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3,145 ราย จาก สมุทรสาคร-ปทุมธานีเป็นหลัก ขณะที่โฆษก สธ.ยันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้านโฆษกรัฐบาลเผยวางแผนฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน

    เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้มีติดเชื้อรายใหม่ 126 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 10 ราย ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 37 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 79 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 24,405 ราย หายป่วยแล้ว 21,180 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3,145 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 80 ราย
    ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ 7 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศจากการไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ทั้งหมด
    สำหรับรายละเอียดผู้ติดเชื้อประกอบด้วย เป็นเพศชาย 3 ราย อายุ 30-52 ปี เพศหญิง 4 ราย อายุ 27-46 ปี สัญชาติไทย 3 ราย และสัญชาติเมียนมา 4 ราย อาชีพรับจ้าง 3 ราย ไม่ระบุ 1 ราย พนักงานรักษาความปลอดภัย 3 ราย โดยแสดงอาการ 2 ราย และไม่แสดงอาการ 5 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3 ราย อีก 4 รายรอประสาน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม (18 ธ.ค.2563-13 ก.พ.2564) รวมแล้วอยู่ที่ 912 ราย เป็นอันดับ 2 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด รองจาก จ.สมุทรสาคร มียอดสะสม 15,624 ราย
    ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานผู้ป่วยรายใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 53 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจค้นหาเชิงรุก 24 ราย จำแนกเป็นคนไทย 7 ราย และคนต่างชาติ 17 ราย ขณะที่พบจากการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลอีก 29 ราย จำแนกเป็นคนไทย 13 ราย และคนต่างชาติ 16 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดมีจำนวน 15,624 ราย เป็นคนไทย (ทั้งจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและการค้นหาเชิงรุก) รวม 2,581 ราย และคนต่างชาติ (ทั้งจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลและการค้นหาเชิงรุก) รวม 13,043 ราย
     ที่จุดคัดกรองตลาดพรพัฒน์ ซอยรังสิต-ปทุมธานี 19-21 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ได้บูรณาการร่วมกันเร่งตรวจคัดกรองแรงงานในตลาดและเจ้าของร้าน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะดำเนินการสืบประวัติแรงงานต่างด้าวที่เข้าทำการตรวจสอบสวนโรค พร้อมดำเนินการตรวจหาเชื้อโดยวิธีการ SWAB คือการนำไม้สอดเข้าไปในจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) นำสารคัดหลั่งเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ได้ทำการตรวจคัดกรองไปจำนวน 169 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 32 คน วันที่ 11 ก.พ. ตรวจคัดกรองไปจำนวน 288 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 52 คน และในวันที่ 12 ก.พ. ตรวจคัดกรองไปแล้ว 360 คน พบเพิ่มอีก 40 คน โดยทั้ง 3 วันได้ตรวจคัดกรองไปแล้วกว่า 817 คน พบผู้ติดเชื้อโดยรวมทั้งคนไทยและต่างด้าวติดเชื้อแล้วจำนวน 124 คน
    ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น สามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดได้ ยังคงค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยและกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน ซึ่งการจัดหาและการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้
    นอกจากนี้ ผลสำรวจ การรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเรื่องโรคโควิด-19 หรือดีดีซีโพล ของกรมควบคุมโรค ออนไลน์ล่าสุดครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม-8 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,879 คน พบว่า ประชาชนมีการสวมหน้ากากในช่วงที่ไม่มีอาการ และการเว้นระยะห่างเพิ่มขึ้น มีผู้ที่อยากฉีดวัคซีนแม้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ เจ็บป่วย และเสียชีวิตร้อยละ 69.8 โดยผู้ที่ไม่ต้องการฉีดหรือไม่แน่ใจว่าจะฉีด ส่วนหนึ่งคิดว่าสามารถดูแลป้องกันตนเองได้
        ซึ่งมาตรการ DMHTT คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนไทยชนะ/หมอชนะ นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง เป็นวัคซีนสังคม หรือโซเชียลวัคซีน ที่จะช่วยทุกคนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และเป็นจุดแข็งของระบบการควบคุมป้องกันโรคของประเทศไทย จึงขอย้ำให้ประชาชนใช้ชีวิตแบบ New Normal แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
    นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต้องเร่งสื่อสารให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการได้รับวัคซีน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต ที่สำคัญคือลดการแพร่กระจายเชื้อ ลดการระบาดของโรค รวมทั้งวัคซีนที่ประเทศไทยได้จัดหาสำหรับคนไทยเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิผลในระดับที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ มีขั้นตอนการให้บริการวัคซีนที่เป็นระบบ ได้มาตรฐาน ต้องรอสังเกตอาการ 30 นาที และมีการติดตามผลทาง Line OA หมอพร้อม
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งการแพทย์ สาธารณสุข การดูแลคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ การยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเตรียมพร้อมวัคซีนเพื่อคนไทย
    โดยการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดพบว่า สถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ทั้งหมด 579 แห่ง แบ่งเป็น State Quarantine (SQ) 152 แห่ง ยังคงมีห้องรับได้ 14,119 ห้อง และ Local Quarantine (LQ) จำนวน 427 แห่ง พร้อมใช้งาน 195 แห่ง/เตรียมพร้อม 232 แห่ง สามารถรองรับ 10,257 คน โรงพยาบาลสนามจัดตั้งแล้วใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี จ.อ่างทอง จ.สมุทรสาคร จ.จันทบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3,092 เตียง Factory Quarantine (FQ) ใน จ.สมุทรสาคร 2,389 เตียง และช่วยคนไทยในต่างประเทศกลับประเทศไทยแล้ว ในช่วง 4 เมษายน 2563-8 ก.พ. 2564 จำนวน 167,617 คน ทั้งจากเที่ยวบินและจากด่านชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ
    ด้านการยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ มีการจัดตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเหล่าทัพและตำรวจทั่วประเทศ 1,522 จุด รวมทั้งจัดชุดสายตรวจคัดกรองบุคคลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การดำเนินการป้องกันและสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทยตั้งจุดตรวจและจุดสกัด จำนวน 127 จุด ตรวจคัดกรองบุคคล จำนวน 9,882 คน
    สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีแผนการกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส โดย 2 ล้านโดสให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และอีก 61 ล้านโดสจะกระจายไปยังจังหวัดที่พบผู้ป่วย โดยวางแผนฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายไปให้บริการ ณ รพ.สต.ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้วัคซีนได้ภายในเดือน ก.พ.2564
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีมอบกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกหน่วยงาน พร้อมย้ำว่าเมื่อทราบปัญหาแล้วต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว และพร้อมเข้าร่วมแก้ปัญหาของทุกหน่วยงาน ด้วยความมั่นใจว่าโควิด-19 สามารถควบคุมได้ เพราะคนไทยร่วมมือกันด้วยดีตามแนวทาง "รวมไทย สร้างชาติ ฝ่าวิกฤติโควิด-19".

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"