“โควิด”มรสุมเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

       ปี 2563 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเจอมรสุมลูกใหญ่ จากการระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังรวมถึงหลายประเทศทั่วโลก จนส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดแบบเข้มข้น นั่นคือมาตรการล็อกดาวน์ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทั้งหมด           

                นั่นกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ ล่าสุด “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวติดลบ 6.1% หดตัวกว่าที่ประมาณการรอบล่าสุดที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 6% และถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2552 ที่จีดีพีขยายตัวติดลบ 0.7% และถือเป็นการหดตัวอย่างหนักในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่จีดีพีขยายตัวติดลบ 7.6% 

                การขยายตัวติดลบของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 เชื่อว่าหลายฝ่ายคงคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว จากปัจจัยเสี่ยงสำคัญนั่นคือ “โควิด-19” ที่ทำให้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก นั่นหมายความว่าไม่เพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องหยุดชะงักเท่านั้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกก็สะดุดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกในปี 2563 คงไม่แตกต่างกับของประเทศไทยมากนัก

                ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการลงมาอยู่ที่ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% ต่อปี ด้วยปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของ “โควิด-19 ระลอกใหม่” ที่เริ่มระบาดเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่สถานการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนี้ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยด้วย

                แต่กระทรวงการคลังเองก็ยังเชื่อมั่นและมั่นใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะยังฟื้นตัวได้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และฐานะการคลังที่ยังมีความมั่นคง มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

                ขณะที่ “สภาพัฒน์” เอง ก็ได้ออกมาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4.5% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีก่อนหน้า จากปัจจัยในการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก การเร่งเครื่องเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเร่งผลักดันอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

                รวมถึงการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ภายในประเทศ ตามการฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากโควิด-19

                ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เอง ก่อนหน้านี้ ได้ออกมาระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ลง จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% จากเหตุผลที่เหนือการประเมินเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามเป็นวงกว้าง รวมทั้งยังมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ดังนั้นการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของ ธปท.ในครั้งนี้ จะต้องโฟกัสที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบและจะถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มคน และพื้นที่ที่ไม่เท่ากันเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงอยู่ที่การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติจะเป็นประเด็นสำคัญ

                อย่างไรก็ดี อาจจะยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่หลายฝ่ายประเมินว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดในรอบแรก แต่ก็ยังพบว่าความรุนแรงของโรคน้อยกว่า อีกทั้งยังมีข่าวดีเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เตรียมจะเข้าในประเทศไทยล็อตแรก 2 แสนโดส จะเข้ามาในช่วงปลายเดือน ก.พ.2564 อาจจะเป็นข่าวดีที่ช่วยคลายความกังวลเรื่องการระบาดได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว ก็น่าจะเป็นอีกข่าวดีที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง.  

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"