ธกส.-ออมสินให้กู้5หมื่นล. อุ้ม‘เอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว’


เพิ่มเพื่อน    

  ครม.ไฟเขียวมาตรการด้านการเงินอุ้มประชาชน-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติโควิดเพิ่มเติม สั่งออมสิน-ธ.ก.ส.อัด 4 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้อาชีพอิสระ-เกษตรกร พร้อมทุ่ม 1 หมื่นล้านดูแลธุรกิจท่องเที่ยว สศช.เผยเงินกู้ 1 ล้านล้านเหลือใช้สู้โควิดรอบใหม่ 2.8 แสนล้าน  "บิ๊กตู่" ลั่นอย่าเอาปัญหาโควิดมาโยงการเมือง ชี้ทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด หลายอย่างเราดีขึ้นกว่าเขา ย้อน "ทักษิณ" แค่เคารพ กม.ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้

    เมื่อวันจันทร์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.64 มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประกอบด้วย
    1.การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (แห่งละ 20,000 ล้านบาท) ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นไม่เกิน  12 เดือน จากเดิม 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.กำหนด พร้อมทั้งขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.64
    2.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี ที่มีเงินสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยววงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและ Supply Chain โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท  ระยะเวลากู้ 3 ปี ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปีในปีแรก 0.99% ต่อปีในปีที่ 2 และ 5.99% ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่  30 มิ.ย.64
    "คลังมั่นใจว่าการดำเนินมาตรการด้านการเงินดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป" นายอาคมกล่าว
    มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองแผนงาน ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เปิดเผยถึงการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่าขณะนี้ภาพรวมเบิกจ่ายได้แล้ว 55% เป็นการใช้เงินกู้ในส่วนของการเยียวยาครบวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ประมาณ 30% ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการคนละครึ่ง แต่ในส่วนโครงการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก
    ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีสภาพัฒน์เป็นประธาน จะติดตามการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงานภายในเดือน มี.ค.นี้ หากพบว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอ ก็จะต้องดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาส่วนกลาง เพื่อใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟูต้องอนุมัติภายในเดือนกันยายน และเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564
    "ขณะนี้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกแค่  2 แสนล้านบาทในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟู ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้จะพิจารณาเห็นชอบ มาตรการ ม.33 เรารักกัน จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน  โดยเสนอขอใช้งบ 3.7 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นการโยกงบจากแผนฟื้นฟูมาใช้ในการเยียวยา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่"
    สำหรับจำนวนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  หน้าเว็บไซต์ thaime ล่าสุด สรุปโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. พบว่าเหลืองบประมาณเงินกู้ทั้งสิ้น 288,391 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่า  ประเทศไทยต้องได้รับผลกระทบอาจจะมากหรือน้อยในบางสาขา สรุปได้รับผลกระทบทั้งหมด เจ็บทั้งหมด รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือดูแลตรงนี้ แม้จะจำเป็นแต่งบประมาณก็มีจำกัด  กติกากฎหมายต่างๆ ก็มีรัดกุม ฉะนั้นพยายามจะหามาตรการที่ทำให้ทุกคนได้เข้าถึง และวันนี้ได้มีมาตรการที่เสนอมาในที่ประชุม ครม.ด้วย ในการที่จะปรับวงเงินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอให้ติดตามเรื่องนี้ต่อไป สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาดูว่าระยะแรกที่มีการแพร่ระบาดเศรษฐกิจเป็นอย่างไร การแพร่ระบาดระลอก 2 เป็นอย่างไร ถ้าดูขณะนี้ด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่าผลกระทบในระลอกที่ 2 น้อยกว่าระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 ถ้าเราคุมได้อีก และเราส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการช่วยเหลือประชาชน ตนคิดว่าหลายอย่างเศรษฐกิจจะดีขึ้น  
    "ฉะนั้นที่หลายคนกล่าวอ้างว่าผมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ก็ต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจระดับโลกและเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเป็นอย่างไร ประเทศรอบบ้านเป็นอย่างไร หลายๆ อย่างเราดีขึ้นกว่าเขา ฉะนั้นอยู่ที่ความร่วมมือของพวกเรา ทั้งประชาชน ส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย อย่าเอาปัญหาเหล่านี้มาทำให้เกิดปัญหาการเมือง มันจะทำให้การบริหารเดินไปไม่ได้ และใครจะได้รับผลเสีย ประชาชนประเทศชาติเป็นที่รักของทุกคน และทุกคนอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินนี้จะทำอย่างไรให้แผ่นดินนี้มันสงบ ฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน"
    นายกฯ กล่าวอีกว่า นโยบายของตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลคือ การแก้ปัญหาประชาชนให้ได้มากที่สุด วันนี้มีหลายมาตรการที่ได้มีการผ่อนคลาย มีการสนับสนุนวงเงินต่างๆ เพื่อให้เข้าถึง ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจต่างๆ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ก็มีการปลดล็อกหลายอย่าง มันต้องทยอยดำเนินการตามข้อมูลที่มีอยู่ ตามความเดือดร้อน ต้องทำอย่างรัดกุม
    ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แนะนำให้แก้จนด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนก็ได้ดูบ้าง และถือว่าสิ่งที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่การแก้จนด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ตนคิดว่าแค่เคารพกฎหมายให้มากที่สุดในเวลานี้ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ว่ากันไปตามกลไกรัฐสภา มันมีกำหนดการ มีวิธีการ มีกฎหมาย ครบถ้วนทุกประการ ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุนให้มีการแก้ไข แต่จะแก้ไขอย่างไรก็สุดแล้วแต่รัฐสภา ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นว่ามีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ  แล้วได้แก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตผิดกฎหมายได้บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน วันนี้สิ่งที่ตนขอร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเข้าใจในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย ว่าแก้ไขไปเพื่ออะไร เพื่อใคร จะเป็นการแก้ไขอะไรก็ตาม.
    \

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"