'Soft Power'ฉบับไทยๆ


เพิ่มเพื่อน    

              ในปี 2563 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้รุ่งเรืองถึงขีดสุด จะเห็นได้จากความสำเร็จของศิลปินไอดอลชื่อดังอย่าง 'Blckpink' และ 'BTS' ที่ตีตลาดตะวันตกแตกกระเจิง ขณะเดียวกันภาพยนตร์อย่าง Parasite ก็กวาดรางวัลบนเวทีใหญ่ของวงการภาพยนตร์ทั่วโลก   ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มันเกิดมาจากการพัฒนาและการทุ่มลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาคเอกชน และรัฐบาลที่สนับสนุนอย่างจริงจัง

            ซึ่งในปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นประเทศที่สามารถหารายได้จากสินค้าทางวัฒนธรรมได้จำนวนมหาศาล ผ่านสินค้าวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เกม และสื่อบันเทิงต่างๆ รวมถึงอาหาร การศึกษา การท่องเที่ยว หรือที่เรียกๆ รวมว่า Korea Wave หรือ Hallyu ซึ่งตัวเลขรายได้ประมาณการเมื่อปี 2019 สินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มีมูลค่ามากกว่า 370,000 ล้านบาท และรายได้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการใช้หรือทำลายทรัพยากรในประเทศเลย เพียงแค่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการขายสินค้าเท่านั้น

            อย่างไรก็ดี กว่าที่เกาหลีใต้จะสามารถนำสตอรี่และความคิดสร้างสรรค์สร้างเงินเป็นกอบเป็นกำ เหมือนในเวลานี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณนโยบายของรัฐบาลของเขาที่มองการณ์ไกล และเห็นว่าการใช้นโยบายแบบ 'Soft Power' จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความต้องการหรือดีมานด์ให้เกิดขึ้น ประจวบกับการเข้ามาของระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกาหลีใต้มองว่ามันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลของเกาหลีใต้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการสื่อสารและนิเทศศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมอย่างหนักหน่วงจนกระแส Hallyu ฮิตติดลมบนไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และต่อมาก็ขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ  ต่อ จนขณะนี้เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ก็ใกล้จะครองโลกไปทุกทีแล้ว

            เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาว่าไทยก็ใช้ 'Soft Power' มาอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ผ่านการโปรโมตการท่องเที่ยว ด้วยการโชว์แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม, อาหาร และสถาปัตยกรรม รวมถึงกีฬา อย่างมวยไทย ซึ่งมองในอีกแง่หนึ่ง มันก็เหมือนการขายของเก่ากิน คนไทยกำลังหารายได้จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ แต่ไม่มีการพัฒนาสิ่งใหม่ที่จะเป็นจุดขายทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

            แต่สำหรับปี 2021 ไทยเราเองเริ่มมีแสงรำไรเกิดขึ้น เมื่อในขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยเรากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากชาวต่างชาติ ซึ่งนี่คือผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากฝีมือของภาคเอกชนล้วนๆ สังเกตได้จากละครไทย เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีฐานแฟนคลับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถจะต่อยอดในการสร้างหรือขายสินค้าทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น รวมถึงจะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยว หรือทดลองซื้อและใช้สินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

            อย่างไรก็ดี การต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ให้ภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ที่ลงทุนเพียงฝ่ายเดียว ถึงเวลาที่ภาครัฐเองจะต้องมองเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งให้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ควรส่งเสริม และช่วยกันทำตลาด รวมถึงต้องมีการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสรรค์ คอนเทนต์ และเนื้อหาสาระที่ดี มีคุณภาพ ในการเป็นหัวหอกในการตีตลาดโลก ซึ่งยืนยันได้เลยว่าเมื่อสื่อสร้างสรรค์จากไทยได้รับความนิยม แบรนด์สินค้าของไทย และอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างจากไทยจะขายง่ายขึ้น ท่องเที่ยวก็จะเพิ่มขึ้น

                ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการสร้างมาตรฐานและคุณภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศให้พัฒนาขึ้น มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาที่เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าด้วยฝีมือของคนไทย ทางด้านความบันเทิงนั้นไม่แพ้ใครในโลกนี้อยู่แล้ว แต่การจะไปสู่ระดับโลก จะต้องมีการจับมือและสร้างมาตรฐาน และมีหัวหอกในการโปรโมต ที่จะช่วยกรุยทางนำไปสู่ความสำเร็จ ดั่งเส้นทางที่เกาหลีใต้หรือ ญี่ปุ่นเคยทำมาก่อนได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"