ดัน'กัญชา'พืชศก. ปลุกชีวิตเกษตรกร


เพิ่มเพื่อน    


    รัฐบาล​ลุยดัน "กัญชา" พืชเศรษฐกิจสำคัญ เพิ่มทางเลือกสร้างรายได้ทำชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ขณะที่แพทย์เตือนกิน "เมนูอาหารกัญชา" ต้องระวัง ชี้ปรุงใบผ่านความร้อน-น้ำมันเพิ่มสารมึนเมา ภาคประชาสังคมห่วงกลายเป็นแฟชั่นให้เยาวชนยกระดับพฤติกรรมสู่การเสพ  
    เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา กำหนดให้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ให้ความสนใจขอรับคำแนะนำมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการอนุญาตเป็นจำนวนมาก
    ทั้งนี้ รัฐบาลย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตปลูกนั้นสามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยหากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
    “ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ผ่านการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้เริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้วใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น โดยรัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไป ทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลักที่เป็นทางเลือกในการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต” น.ส.ไตรศุลีระบุ
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งแต่ละส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ เช่น ใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง ตลอดจนเป็นเส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
    อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้สามารถใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถนำส่วนของกัญชาและกัญชงไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน หรือประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในร้านอาหาร เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาของส่วนกัญชาหรือกัญชงได้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตปลูกจากเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx    
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อพืชกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจนี้ ให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายและการสนับสนุนของภาครัฐ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ สถาบันกัญชาทางการแพทย์จะจัดงาน "ก้าวต่อไป กัญชา กัญชง สู่พืชสมุนไพรเศรษฐกิจ" ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี เวลา 08.00-14.00 น. โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธานในงานเพื่อให้นโยบายกับผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมกัญชาและกัญชงแต่ละหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
    ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชาจะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC ซึ่งสาร THC ในกัญชาทำให้มึนเมา เคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน ส่วนที่มี THC เข้มข้นสูง ไม่ค่อยดีนักในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษและเมาได้ ซึ่งขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนที่มี THC มากมาใส่อาหาร 
    "การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากกว่า เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนจะต้องระมัดระวัง ยิ่งการนำใบมาผัดผ่านน้ำมันจะยิ่งอันตราย เพราะมีทั้งผ่านความร้อนและน้ำมันที่จะทำให้สกัดสารได้มาก อาจมีผลให้ได้สารเมาปริมาณมากขึ้น จึงต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางส่วนของกัญชามีร้อยละของปริมาณสารเมาน้อย แต่ถ้าใช้ปริมาณมาก ปริมาณสารเมาก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจะเอาอะไรเข้าสู่ร่างกายก็ต้องใช้จากที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังอย่างดี" รศ.พญ.รัศมนระบุ
    ด้านนายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด โดยกลไกเครือข่ายภาคประชาชนร่วมป้องกันปัญหายาเสพติดและสร้างชุมชนสุขภาวะ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้เฉพาะใบกัญชามาประกอบอาหารได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นกัญชาที่ปลูกจากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกตามกฎหมาย จึงเอามาปรุงสุกเป็นอาหารและขายได้ โดยขายหน้าร้านตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะบรรจุในภาชนะที่ปิดติดฉลากและกระจายสินค้าไปยังสถานที่อื่น ถ้าหากเป็นการผลิตแบบใส่บรรจุภัณฑ์มีฉลากต้องขออนุญาต อย. ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อีกชั้นหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายมีความย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้วการนำใบกัญชามาทำอาหารไม่สามารถทำได้ เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.อาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 378 ซึ่งระบุว่าไม่ให้นำทุกส่วนของกัญชามาทำอาหาร 
    "คนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้เหมือนเด็กเห่อของเล่นใหม่ พอกระแสกัญชามา คิดว่าเป็นพืชทางออก พืชที่ทำรายได้ และใช้สันทนาการด้วย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขพยายามประโคมเรื่องนี้ว่าดี เลยเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมคิดว่ามันไม่น่าจะมีพิษมีภัย แม้แต่ผู้ปกครองพบกัญชาในกระเป๋าลูกที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาก็ไม่เกิดความกังวลอะไร เพราะเข้าใจว่ากัญชาไม่อันตราย แต่ที่น่ากังวลคือ เด็กเยาวชนที่สามารถเข้าถึง จะยกระดับพฤติกรรมไม่ใช่แค่ใบ แต่ไปใช้ช่อดอกที่มีสาร THC สารที่ทำให้เกิดความเมา มึนและมีสารเสพติด จึงต้องสื่อสารความถูกต้องให้กับสังคมว่ากัญชามีข้อดีและข้อเสีย" นายวัชรพงศ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"