12ศิลปินแห่งชาติ ผลงานสุดโดดเด่น


เพิ่มเพื่อน    


    สุดา ชื่นบาน-เอนก นาวิกมูล-อรสม สุทธิสาคร-ประเมษฐ์ บุณยะชัย-กำจร สุนพงษ์ศรี คว้าศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2563 กระทรวงวัฒนธรรมประกาศผลคัดเลือกปีนี้รวม 12 ราย "แม่เม้า-สุดา ชื่นบาน" สุดดีใจ ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อการร้องเพลงมาตลอด ด้าน "ประเมษฐ์ บุณยะชัย" ผู้กำกับโขนพระราชทาน เผยภูมิใจได้สนองงานสมเด็จพระพันปีหลวง สืบสานศิลปะโขนให้กับคนรุ่นใหม่ ส่วนสองนักเขียนแถวหน้ายันสร้างงานเขียนสารคดีไม่หยุด สวธ.เตรียมทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ
    วันที่ 23 ก.พ. ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี (จิตรกรรม) นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (จิตรกรรม-สื่อผสม) นายประภากร วทานยกุล (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) นายสำเริง แดงแนวน้อย (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้), สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายเอนก นาวิกมูล นางสาวอรสม สุทธิสาคร, สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่ นายประทีป สุขโสภา (เพลงพื้นบ้าน) นายประเมษฐ์ บุณยะชัย (นาฏศิลป์-โขน) นายปี๊บ คงลายทอง (ดนตรีไทย) นางสุดา ชื่นบาน (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) นายปง อัศวินิกุล (ผู้กำกับระบบเสียง-สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) 
    นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ และรับค่าตอบแทนเดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยครั้งละไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพรายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2527 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตั้งแต่ พ.ศ.2528-2562 แล้วจำนวน 319 คน และในปี พ.ศ.2563 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 331 คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 154 คน โดยยังมีชีวิตอยู่ 165 คน   
    "กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวัน-เวลาตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทั้งนี้ จะได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย งานเลี้ยงแสดงความยินดี งานนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติผ่านสื่อต่างๆ ต่อไป สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture และ line@วัฒนธรรม" นายอิทธิพลกล่าว 
    ด้านแม่เม้า-สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เปิดเผยความรู้สึกว่า ดีใจ ร้องไห้ จนพูดไม่ออก ทั้งชีวิตได้อุทิศชีวิตเพื่อวงการบันเทิง ทั้งการแสดง การร้องเพลง ตนจบเฉลิมศาสน์นาฏศิลป์ก็อยากจะทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ต้องขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่เห็นคุณค่าของตน และให้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติอันทรงเกียรติ และหากมีอะไรจะให้ช่วยเหลือสังคมหรือให้ความรู้ต่อเด็กและเยาวชน ต่อจากนี้ก็มีความยินดีสนับสนุนหากเวลาไม่ซ้อนกับงานประจำ
    นายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า ขอบคุณคณะกรรมการตัดสินที่คัดเลือกตนให้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ จากนี้ก็ยังเขียนงานสารคดีไม่หยุด เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม ตนเน้นเรื่องการชำระประวัติศาสตร์ นำความรู้และข้อมูลที่ตรวจสอบ แก้ไขได้มาเขียน ทั้งเพลงพื้นบ้าน ประวัติบุคคล จิตรกรรมไทย การแต่งกายแบบไทย เหตุการณ์ และสถานที่ นอกจากได้ชำระสิ่งที่ค้างคาใจตัวเอง ยังได้ชำระประวัติศาสตร์เพื่อให้สังคมได้ข้อมูลถูกต้องมากขึ้น ขณะนี้เร่งชำระประวัติยายทองหล่อและยายทองอยู่ แม่เพลงพื้นบ้านที่มากความรู้ ก่อนหน้านี้ชำระประวัติยายสำอาง เลิศถวิล วณิพกในเพลงคาราบาว ที่คนรู้จักกัน อยากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนการจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่อไป ปัจจุบันงานเขียนตนเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง อีกงานสำคัญในชีวิตคือ การเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ซึ่งเก็บและแสดงมรดกชาติ ปีนี้ครบ 20 ปีบ้านพิพิธภัณฑ์แล้ว ส่วนสถานที่แห่งใหม่ที่ขยายเพื่อเก็บและแสดงของสะสมของคนไทยในอดีตก็มีความคืบหน้าไปมาก 
    ด้านนางอรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า รู้สึกยินดี อยากบอกว่าการเป็นศิลปินแห่งชาติสาขานี้ไม่ได้มีความหมายกับตนคนเดียวเท่านั้น แต่มีความหมายกับงานสารคดีที่เรารัก เราต่อสู้กับการงานสารคดีมานาน ดังนั้น การยกย่องเชิดชูเกียรติครั้งนี้จึงเป็นรางวัลของคนเขียนสารคดีทุกคน อยากบอกคนรุ่นใหม่ว่า งานสารคดีมีคุณค่า มีความหมายลึกซึ้ง อยากให้ร่วมกันสืบสานต่อไป 
    นายประเมษฐ์ บุณยะชัย สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) กล่าวว่า รู้สึกดีใจ นึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแสดงโขนที่ทรงคุณค่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการได้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระพันปีหลวงที่ทรงสืบสานการแสดงโขนพระราชทาน ทำให้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศาสตร์และศิลปะการแสดงโขนได้รับการฟื้นฟูกลับมาจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทุกวัย ทำให้ทุกคนที่ทำงานในวงการโขนได้มีกำลังใจทำงานอย่างเต็มกำลัง และทุกครั้งที่ท้อจะน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ว่า ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน สิ่งที่พระองค์ทรงสืบสานคือคุณค่าทางจิตใจ เป็นความภาคภูมิใจของตนและคนที่ทำงานด้านนี้ และมั่นใจการแสดงโขนจะไม่สูญหายไปจากประเทศไทย เพราะยังมีสถานศึกษา ชมรม และหน่วยงานต่างๆ ที่ยังยืนหยัดร่วมกันอนุรักษ์ต่อไป ส่วนตัวจะยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสืบสานการแสดงโขน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สั่งสมมาให้คนรุ่นหลังด้วยความเต็มใจ นับเป็นของขวัญวันเกิดวัย 73 ปี และการทำงานด้านโขนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"