สภาหักกมธ.มาตรา256 เสียง3ใน5แก้รัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    


     รัฐสภาส่อยื้อ! "ชวน" พร้อมขยายวันถกยาวถึงวันมาฆบูชา รัฐบาลหน้าแหก ผลโหวตมาตรา 256 หัก กมธ. กลับไปใช้ร่างเดิมใช้เสียง 3 ใน 5 ไฟเขียวเปิดช่องรื้อ รธน.วาระ 1 และ 3 แบบไม่ยากเย็น ประเดิมประชุมป่วน "ภท." วอล์กเอาต์ คาดเปิดประชุมสมัยวิสามัญลงมติวาระ 3 กลางเดือน มี.ค. "วิรัช" แย้มหากศาล รธน.สั่งห้ามตั้ง ส.ส.ร. จะเดินหน้าแก้ต่อรายมาตรา 
     ที่รัฐสภา วันที่ 24 ก.พ. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมคาดว่าจะใช้เวลาถึงวันที่ 25 ก.พ. แต่ถ้าไม่เสร็จก็จะพิจารณาต่อในวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา เพื่อให้จบ  ภาพรวมมีผู้ขอแปรญัตติอภิปรายร่วม 100 คน คงมีเนื้อหารายละเอียดจำนวนมาก เชื่อว่าการประชุมไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของสมาชิกทุกคน ส่วนการพิจารณาในวาระที่ 3 ต้องเว้นไป 15 วันตามเงื่อนไข ซึ่งต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อลงมติในวาระที่ 3 คาดว่ากลางเดือน มี.ค.นี้
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไข รธน. หากยังไม่มีคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่... พ.ศ.... ก็จะพิจารณาไปก่อน และจากที่นายชวนบอกหากไม่เสร็จจะเลื่อนเวลาออกไป ดังนั้นจะต้องพยายามพิจารณาให้เสร็จให้ได้ 
    ถามว่าวิปฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าทางรัฐบาลจะตั้งธงในการแก้ไขกับรายมาตราอยู่แล้วหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า จากที่เคยตอบไป หากไม่ผ่านจะแก้เป็นรายมาตรา ขอสรุปว่าตอนนี้ยังไม่ได้นึกถึงตรงนั้น แต่ทางรัฐบาลมุ่งว่าจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ได้ 200 คน หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง ต้องดูเหตุและผลว่าในช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้จะพยายามทำให้ดีที่สุด
    ซักว่าผลของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบจะมีผลต่อวาระ 3 หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า มีผลหากศาลให้ดำเนินต่อได้ก็เดินต่อ หากต้องหยุดก็ต้องหยุด และหากศาลไม่สามารถให้ตั้ง ส.ส.ร. จะเดินหน้าแก้ไข รธน.รายมาตราทันทีหรือไม่ ในส่วนนี้จะต้องปรึกษากับประธานวิปฝ่ายค้านว่ามีความเห็นอย่างไร ต้องมีความเห็นร่วมด้วยทั้ง 3 ฝ่าย และหากต้องขยายเวลาการประชุมไปถึงวันที่ 26 ก.พ. ก็ไม่มีปัญหา จากนั้นเวลา 09.30 น. ในการประชุมร่วมรัฐสภาที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 2 แต่เมื่อเริ่มประชุม นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอให้เลื่อนร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ครั้งที่แล้ว และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้  
ภท.ฉุนแซงคิวถกแก้ รธน.
    อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย (ภท.) คัดค้านการเลื่อนระเบียบวาระ โดยนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะไม่ได้ร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย เกรงว่าหากนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาก่อน จะทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 เสร็จไม่ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพราะร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ขอเลื่อนขึ้นมามีผู้ขออภิปรายจำนวนมาก  
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า แม้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าประชุมวิป 3 ฝ่าย แต่ได้แจ้งผลประชุมให้พรรคภูมิใจไทยทราบแล้ว ยืนยันการเลื่อนร่างกฎหมายฉบับมาพิจารณาก่อน ไม่ได้มีเจตนายื้อการแก้รัฐธรรมนูญ อย่าไปวิตก ถ้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 เสร็จไม่ทัน วันที่ 25 ก.พ. จะให้พิจารณาต่อวันที่ 26 ก.พ.  
    จากนั้นที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบให้เลื่อนร่างกฎหมาย 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน ด้วยคะแนน 331 ต่อ 160 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยได้วอล์กเอาต์ไม่ร่วมประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ และจะกลับเข้าร่วมประชุมอีกครั้งในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 
    เวลา 12.00 น. นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.ภูมิใจไทย ได้แถลงท่าทีของพรรคภายหลังวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมระบุว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ค้างการพิจารณาจากครั้งที่แล้ว และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างแก้ไขรธน.เพิ่มเติมที่จะพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งบรรจุไว้ในระเบียบวาระอยู่แล้ว 
    ถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาในวันนี้เชื่อมโยงประเด็นจากเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่อยากให้เรื่องรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาโดยด่วน 
    ต่อมาเวลา 15.30 น. หลังจากที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย วาระ 2 โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม   
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญการรับหลักการและลงมติให้ความเห็นชอบว่าต้องใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา การให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อ ส.ส.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งร่างแก้ไขต่อรัฐสภา เพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นภายใน 30 วัน โดยไม่มีการลงมติ และให้ส่งร่างให้ กกต.ภายใน 7 วันเพื่อทำประชามติ 
หัก กมธ.กลับใช้ร่างเดิม
    จากนั้นเปิดโอกาสให้ กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น เริ่มต้นที่มาตรา 3 เรื่องการเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 วิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนคัดค้านความเห็นของ กมธ.เสียงข้างมากที่ระบุให้วาระรับหลักการและการลงมติวาระ 3 การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา เนื่องจากเป็นจำนวนมากเกินไป ทำให้โอกาสแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก โดยเสนอให้แก้ไขใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง 
    นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า จำนวนเสียงการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ที่ใช้เสียง 3 ใน 5 ตามร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเหมาะสมอยู่แล้ว หากใช้เสียง 2 ใน 3 ตามที่ กมธ.แก้ไขคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะถ้า ส.ว.ไม่เห็นด้วยจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้เลย เสียงของ ส.ส.ขณะนี้มี 487 คน ถ้าต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 492 คน ต่อให้ประธานสภาฯลงมติด้วย ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ได้  
    นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตัวเลข 2 ใน 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าสูงเกินไป ที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ให้ใช้เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา การอ้างว่า การแก้รัฐธรรมนูญควรทำได้ยากนั้น จะต้องไม่ยากเกินไปให้เกิดทางตันหรือวิกฤติทางรัฐธรรมนูญได้ ถ้าจะเกินกึ่งเล็กน้อยถือว่าพอรับได้ 
    ส่วนนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น ทำไมบางเรื่องบางมาตราบางหมวดต้องไปทำประชามติ การทำอย่างนี้ทำให้เกิดความลักลั่น รัฐธรรมนูญก่อนหน้าก็มีการแก้ไขหมวด1-2 ไม่ได้มีปัญหาทำให้ประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครอง ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุดสิ่งนี้เป็นทางออกวิกฤติ  
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นานเกือบ 4 ชม. ที่ประชุมซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 และวาระ 3 โดยให้กลับไปใช้ร่างเดิมคือเสียง 3 ใน 5 ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ด้วยคะแนน 441 ต่อ 178 คะแนน งดออกเสียง 13
    วันเดียวกัน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงถึงการงดออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมอีกครั้ง โดย น.ส.ฐิติภัสร์ยืนยันไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะคุ้มครองเราในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต
    ถามว่าขณะนี้ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทยเรียกร้องให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า ตนเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ  ไม่สามารถก้าวล่วงในส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้ และยืนยันว่าแม้จะถูกกดดันก็ไม่ขอลาออก จะขอทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด
    ส่วน น.ส.วทันยากล่าวว่า ได้ชี้แจงเหตุผลการตัดสินใจโหวตสวนมติพรรคไปหมดแล้ว เราพยายามที่จะรักษามารยาททางการเมืองโดยการงดออกเสียง ไม่ได้โหวตสวน ถือว่าวันนี้เราทำหน้าที่อย่างดีที่สุด.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"