บินไทยขาดทุน1.4แสนล. ลุ้นทำแผนฟื้นฟูทัน2มีค.


เพิ่มเพื่อน    

 การบินไทยขาดทุนอ่วม 1.4 แสนล้านบาท ผลพวงไวรัสโควิดระบาดผู้โดยสารลดลงจากปีก่อน 76.1% ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาถอนหุ้นออกจากตลาดภายใน 7 วัน ก่อนขึ้นเครื่องหมาย SP "ชาญศิลป์" ลุ้นทำแผนฟื้นฟูส่งทัน 2 มี.ค. คาดครึ่งปีหลังปี 64 ทยอยกลับมาทำการบินได้ คลังชี้ต้องปรับโครงสร้างไม่ให้เทอะทะเหมือนอดีต ยอมรับความเจ็บปวดทุกฝ่าย

    เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% สำหรับด้านการขนส่งสินค้า อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 53.8%
    นายชายกล่าวว่า ในปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท โดยบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว และส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิจำนวน 5,227 ล้านบาท สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) จำนวน 3,098 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท  สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท
    ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยขอความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานสมัครใจร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can) นอกจากนี้ มีโครงการ "ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร" 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) และโครงการลาระยะยาว (“LW20”) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดรับจากการดำเนินธุรกิจการบินปกติและจากแหล่งเงินทุนอื่น ประกอบกับการชะลอการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัย และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายคงที่จากปีก่อนได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท     
    นอกจากนี้ บริษัทมีการหารายได้จากการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับบ้าน และรายได้จากกิจการอื่นๆ อาทิ ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทและศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
    ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น บมจ.การบินไทย (THAI) ในวันที่ 25 ก.พ.64 เนื่องจาก ตลท.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนกรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ โดยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ หรือภายในวันที่ 8 มีนาคม 2564 และขึ้นเครื่องหมาย SP ในวันที่ 25 ก.พ.64 และขึ้นเครื่องหมาย NP ในวันที่ 1 มี.ค.64 เหตุผลจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้
    นอกจากนี้ ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหยุดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า THAI Futures วันที่ 25 ก.พ.2564 เนื่องจาก ตลท.หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ THAI เป็นการชั่วคราว เวลาเปิดซื้อขายหลังจากหยุดทำการซื้อขาย ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะเปิดทำการซื้อขาย THAI Futures อีกครั้ง เมื่อ ตลท.เปิดให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ THAI
    ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทันกำหนดภายในวันที่ 2 มี.ค.64 และจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนฟื้นฟูในขั้นตอนต่อไป
     นายชาญศิลป์กล่าวว่า ไม่หนักใจกับท่าทีของเจ้าหนี้ เพราะในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้มีการหารือและเจรจากับเจ้าหนี้ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้หลัก ได้แก่ เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้ภาครัฐ และเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ รวมถึงการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกหรือไม่          
    สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท นายชาญศิลป์คาดว่า ในครึ่งปีหลังปี 64 จะทยอยกลับมาทำการบินได้ โดยในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะกลับทำการบินราว 10-20% ของการให้บริการในช่วงปกติ และในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 30-60% จากนั้นในปี 67-68 จะกลับมาทำการบินได้ 70-80% เชื่อว่าใช้เวลาประมาณ 5 ปี กว่าจะกลับมาเหมือนเดิม คนมั่นใจที่จะบิน เราก็เติบโตตามสภาพ และมีแผนการตลาดเข้ามา หลังยื่นแผนฟื้นฟูในวันที่ 2 มี.ค. เราจะเปิดแผน
    ขณะเดียวกัน บริษัทได้ทยอยดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะการปรับลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับการแผนธุรกิจ ทั้งนี้ ในปี 62 บริษัทมีจำนวนพนักงาน 2.9 หมื่นคน ซึ่งในปี 63 ปรับลดเหลือ 2 หมื่นคน และในปี 64-65 คาดจำนวนพนักงานจะปรับลดลงเหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน
    ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า 3 หน่วยงานคือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมพิจารณาแนวทางฟื้นฟูกิจการ THAI ที่ส่วนหนึ่งจะมีกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการตัดลดหนี้ (Hair cut) โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะหลังการแปลงหนี้เป็นทุน ก็จะมีการเพิ่มทุนใหม่ จึงต้องมองว่าขณะนี้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน มีสถานะมั่นคงเพียงพอที่จะเข้ามาถือหุ้น THAI ในส่วนที่จะมีการเพิ่มทุนใหม่ หรือหากเปิดให้กลุ่มทุนในประเทศเข้ามาถือหุ้น ก็อาจทำให้โครงสร้างทุนของการบินไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นภาคเอกชนเต็มตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มทุนในประเทศสนใจเป็นเจ้าของการบินไทยอยู่แล้ว
    แหล่งข่าวกล่าวว่า ในที่สุดการบินไทยจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรไม่ให้ใหญ่เทอะทะเหมือนในอดีต จึงต้องยอมรับความเจ็บปวดกันทุกฝ่าย แต่เชื่อมั่นว่าการบินไทยยังมีแนวทางรอดและจะกลับมาผงาดในธุรกิจอีกครั้ง เพราะแบรนด์การบินไทยยังได้รับความเชื่อมั่นในตลาดค่อนข้างมาก
     อนึ่ง ณ วันที่ 3 ก.ค.63 กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ THAI สัดส่วน 47.86% จากเดิมถืออยู่ 51.03% ทำให้พ้นจากสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
      ขณะที่รายงานข่าวจาก THAI เปิดเผยอีกว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทย (สร.พบท.) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท 20 ข้อ โดยประเด็นสำคัญคือ ให้การบินไทยหันมาทำการบินในประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งยุบหรือควบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เพราะมีผลประกอบการขาดทุนสะสมมาก และเป็นภาระของบริษัท นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ ได้แก่ ห้ามบริษัทเปิดให้พนักงานเดิมสมัครกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งต่างๆ (Re-Launch) ห้ามแยกหน่วยธุรกิจหรือฝ่ายใดๆ เพื่อขายกิจการออกไป การกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ต้องไม่กระทบสิทธิของพนักงานระดับ 1-7 และต้องไม่ต่ำกว่าราคาอัตราเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจการบินในระดับสากล ห้ามมิให้มีการเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 เพราะจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างอย่างมาก เป็นต้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"