'คอร์สพัฒนาเด็กพิเศษ' ฝึกเยาวชนพึ่งพาตนเอง


เพิ่มเพื่อน    

        เด็กเมื่ออยู่ในวัยไหนก็จำเป็นต้องได้รับการศึกษา ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษที่มักมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ยิ่งต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้เรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ สถาบัน อ.ปั้น จึงได้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี ในการเปิดคอร์สสอนการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ โดยมีคุณครูผู้สอน 1 คนต่อเด็ก 3 คน ทั้งนี้ เพื่อให้ดูแลใกล้ชิดมากที่สุด ภายใต้นโยบายที่สถาบันมองว่าน้องๆ กลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กพิเศษ แต่เป็นเยาวชนที่เรียนรู้ช้า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ รร.ที่จะต้องสอนให้เด็กสามารถเรียนรู้ มีพัฒนาการที่ดี และใช้ชีวิตได้เหมือนกันเด็กทั่วไป

(ฐิติพร แก่นจันทร์)

 

      คุณครูแอม-ฐิติพร แก่นจันทร์ บอกให้ฟังว่า ปัจจุบันจำนวนของเด็กพิเศษมีอยู่ราว 9 แสนคนทั่วประเทศ ในแต่ละปีก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจุดประสงค์หลักนั้นต้องการให้การศึกษา ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของน้องๆ กลุ่มนี้ในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับเด็กปกติและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ จึงได้เปิดการเรียนการสอน คอร์สสำหรับการพัฒนาเด็กพิเศษ มาร่วม 10 ปี โดยที่ไม่ได้โฟกัสว่าเป็นกลุ่มของเด็กพิเศษ แต่หากมองว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้ากว่าปกติ

      โดยทั่วไปแล้วผู้ปกครองที่พาเด็กมาเรียนที่ สถาบัน อ.ปั้น ส่วนมากจะเป็นเด็กที่อยู่ในวัยตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ (อายุ 20 ปี) ซึ่งมักจะมาด้วยการ ไม่พูด เพราะปกติเด็ก 2 ขวบจะเริ่มพูดได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีอาการ ไม่ยอมเข้าสังคม, อ่านและเขียนไม่ได้, ไม่เข้าใจคำสั่ง, ไม่เข้าใจเข้าภาษา (กลุ่มเด็กแอลดี), สมาธิสั้น, ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งหน้าที่ของเราคือการสอนให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้และช่วยเหลือตัวเองได้ตามเกณฑ์ หรือใกล้เคียงกับเด็กทั่วไป ที่สำคัญเรามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่เว้นแต่น้องๆ กลุ่มนี้ โดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมและการเรียนรู้

      ประโยชน์ที่น้องๆ จะได้จากการมาเรียนคอร์สนี้ อันดับแรกคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ภายในระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากเรามีประสบการณ์มาร่วม 10 ปี โดยคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มภาพชัดเจนคือ จะเห็นพัฒนาการของเด็กในทุกๆ ด้าน เริ่มจากเด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เริ่มพูดหรือขอในสิ่งที่น้องๆ อยากได้ ที่สำคัญสามารถเขียนหนังสือได้ เหมือนกับเด็กปกติที่อยู่ในวัยเดียวกัน เช่น เด็กอยู่ ป.1 สามารถเขียน ก.ไก่-ฮ.นกฮูกได้ น้องๆ ที่มาเรียนก็จะทำได้ อีกทั้งมีสมาธิมากขึ้น โดยไม่ไวกับสิ่งเร้าภายนอกอย่าง เสียงดัง หรือของเล่นที่น้องๆ ชอบ แต่ทั้งนี้ หากเด็กที่มาเรียนไม่มีการตอบสนองที่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 เดือนครึ่ง เราจะทำการประเมินพร้อมกับหาสาเหตุร่วมกับผู้ปกครอง และเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะกับปัญหาของน้องๆ แต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 6 เดือนของระยะเวลาคอร์ส สิ่งสำคัญเวลาที่กลับไปบ้าน คุณพ่อคุณแม่จะต้องใช้การเรียนการสอนลูกๆ ให้เหมือนกับตอนที่อยู่ รร.เพื่อทำให้เด็กจำและซับซึมพฤติกรรมบวก เพื่อที่จะเด็กจะได้ไม่ลืมสิ่งที่คุณครูสอน พูดง่ายๆ ว่าอย่าตามใจลูก

      ครูแอม บอกอีกว่า การเรียนการสอนคอร์สนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.สอนพูด 2.สอนการอ่านและเขียน 3.สอนการเข้าสังคม 4.สอนเรื่องการฝึกสมาธิ แต่ก่อนที่เราจะคัดเลือกให้น้องๆ ให้เรียนตามกลุ่มที่ตรงกับปัญหารายบุคคลนั้น จะต้องการเทสต์เด็กก่อน เช่น หากน้องอายุเท่ากับเด็กที่อยู่ชั้น ป.1 ที่สามารถเขียน ก.ไก่ได้แล้ว หากเมื่อทำการทดสอบแล้วว่าเขียนได้แค่ไหน ก็จะสอนกระทั่งเด็กประสบความสำเร็จในการเขียนตัวอักษรพื้นฐาน หรือพยัญชนะทั้ง 44 ตัวได้ครบ

      เราจะจัดคอร์สเรียนที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยครู 1 คน สอนเด็ก 3 คน จากนั้นคุณครูก็จะสอนอักษรที่เด็กยังเขียนไม่ได้ กระทั่งเขียนได้ถึง ฮ.นกฮูก หรือหากทดสอบแล้วว่ากลุ่มเด็กไม่ยอมพูดหรือไม่ขอในสิ่งที่อยากได้ คุณครูก็จะฝึกโดยการใช้วิธีการนำอาหารที่เด็กชอบและไม่ชอบมาวางบนโต๊ะอาหารตรงหน้า คล้ายกับการนั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน เพื่อกระตุ้นให้เด็กพูดหรือขอ กระทั่งทำท่าแบมือที่จะรับประทานอาหารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการสอนที่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมและการเรียนรู้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเรียนอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 2 ชั่วโมง (ยกเว้นบางเคสที่เด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ ที่มีปัญหาการพูด จะต้องมาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์)

(เอมอร ชื่นชอบ)

 

     ด้าน คุณครูเบลล์-เอมอร ชื่นชอบ อธิบายถึงอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับ คอร์สการพัฒนาเด็กพิเศษ ว่าอยู่ที่ประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อ 1 เดือน (เรียน 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นเรตราคาปกติทั่วไป เนื่องจาก สถาบัน อ.ปั้น ต้องการให้ผู้ปกครองทุกชนชั้นสามารถนำลูกมาเข้ารับการเรียนการสอนเหมือนกับเด็กปกติ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น

     จริงๆ แล้วราคาดังกล่าวถือว่าไม่แพงมาก และคนที่มีรายได้น้อยก็สามารถพาลูกมาเข้ารับการศึกษาได้ เพราะ รร.ของเราจะสอนเด็กให้เหมือนกับคนปกติ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ผ่านมีผู้ปกครองบางรายที่มีเงินไม่มาก แต่ก็สามารถพาลูกมาเรียนที่นี่ได้ โดยที่เราจะให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้บอกกับเราเองว่าเขาจะจ่ายเงินได้แค่ไหน ทางสถาบันไม่ได้บังคับ แต่ต้องพูดคุยปรึกษากันก่อนค่ะ เพราะ อ.ปั้นเองมองว่าการให้การศึกษากับเด็ก ไม่ว่าจะวัยไหนกลุ่มไหน ถือเรื่องสำคัญมากกว่าเงินทอง ซึ่งตอนนี้กลุ่มผู้ปกครองที่พาลูกเรียนที่เรา เรียกได้มาจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนรวยและคนรายได้น้อยค่ะ

(ตัวอย่างการฝึกพูดและอ่านในกลุ่มเด็กพิเศษที่ต้องอาศัยการปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมเด็กให้เกิดการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง)

 

     สำหรับข้อปฏิบัติของผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษหรือมีพัฒนาการช้าควรตระหนัก คุณครูเบลล์ ให้หลักคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะนอกจากพ่อแม่จะต้องพยายามเข้าใจลูกและปรับตัวเข้าหาเด็กแล้ว การสอนแบบมีเงื่อนไขและไม่ตามใจ จะช่วยให้เด็กไม่ลืมเรื่องที่เรียนมา และยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว โดยไม่เป็นภาระของผู้ปกครองมากนัก

     คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เราต้องไม่คิดมาก หากลูกทำได้แค่ไหนก็ต้องแค่นั้น และต้องพยายามเข้าใจเด็ก โดยเฉพาะหากลูกเป็นเด็กออทิสติก อารมณ์ของเขาก็จะค่อนข้างหุนหันพลันแล่น ขณะที่เด็กดาวน์ซินโดรมก็จะมีอารมณ์ดี ดังนั้นทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญหากกลับไปบ้านแล้วน้องมีอารมณ์เกรี้ยวกราดใส่ผู้ปกครอง ก็จะต้องใช้วิธีทำให้เด็กสงบลง โดยการใจแข็งไม่ตามใจเขา เพราะเด็กจะรู้ว่าพ่อแม่จะต้องให้ แต่ทางที่ดีให้อธิบายกับเด็กถึงเหตุผลว่าทำไมถึงทำได้และทำไม่ได้ ที่สำคัญหากลูกทำผิดก็ต้องรู้จักลงโทษ เพราะจะทำให้เด็กกลัวและจำ เช่น หากลูกร้องกรี๊ด หรือขว้างปาข้าวของ ให้ผู้ปกครองทำโทษโดยการไม่พาไปเที่ยวสวนสัตว์ หรือไม่ให้ในสิ่งที่เด็กอยากได้ เป็นต้น

     ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลงโทษด้วยการตี เพราะจะทำให้เด็กก้าวร้าว และเป็นการทำร้ายจิตใจเขามากเกินไป ที่ลืมไม่ได้เมื่อลูกทำความดี ผู้ปกครองจะต้องชมเชยและให้รางวัลค่ะ”.

 

ผู้ปกครอง"ตัวช่วย"

แก้ไขเด็กเรียนรู้ช้า

        "เววิรี อิทธิอนันต์กุล" ได้สรุปคำแนะนำที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะสามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขลูกที่มีปัญหาการเรียนรู้ได้อย่างไร? ไว้อย่างน่าสนใจว่า

        เด็กทุกคนต้องการความรักและกำลังใจ สำหรับเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ การให้กำลังใจให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ให้พวกเขามีความมั่นใจและสู้กับปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจคือ หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่การรักษาโรคให้ลูก แต่คือการสอนให้ลูกดูแลตัวเองได้ และต้องระลึกเสมอว่าสิ่งที่พ่อแม่กระทำและแสดงออกต่ออุปสรรคต่างๆ ส่งผลอย่างมากต่อลูก จริงอยู่ว่าการมองโลกในแง่ดีไม่ได้ช่วยให้อาการลูกดีขึ้น แต่แน่นอนว่ามันได้ให้ความหวังและความมั่นใจแก่ลูกอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมันมาจากพ่อแม่ของเขาเอง

      เข้าจัดการกับการศึกษาของลูก สื่อสารกับที่โรงเรียนเกี่ยวกับการเรียนของลูก ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการให้บริการจากโรงเรียนในส่วนนี้ให้ดีก่อนที่จะตกลงร่วมกันกับโรงเรียน พ่อแม่หลายคนมีความคิดที่ว่าโรงเรียนต้องสอนเด็กทุกอย่างและมีหน้าที่ดูแลเด็กในทุกแง่ จำไว้เสมอว่าโรงเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกและชีวิตครอบครัว ข้อจำกัดของโรงเรียนอาจไม่สามารถตอบโจทย์ที่พ่อแม่ต้องการได้ ลองมองหาตัวช่วยอื่นๆ ให้กับลูก

      หาให้เจอว่าลูกถนัดเรียนแบบไหน เด็กแต่ละคนมีวิธีเรียนที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กบางคนชอบที่จะเรียนจากภาพ เด็กจะเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่ออธิบายเป็นกราฟหรือแผนภูมิจากการอ่าน หากเด็กถนัดเรียนจากการฟัง เด็กจะทำได้ดีกับการเรียนในห้องเรียน และมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงหรือเล่นละคร หรือเด็กบางคนจะถนัดเรียนแบบปฏิบัติ พวกเขาจะทำได้ดีในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือทำอะไรที่ได้ค้นหา

      ให้ความสำคัญกับชีวิตนอกห้องเรียน จำไว้ว่าความสำเร็จไม่ได้หมายถึงการเรียนเสมอไป แต่รวมถึงสุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น พ่อแม่ควรจะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ด้วย เหล่านี้คือคำแนะนำที่พ่อแม่ควรจะเริ่มต้นให้ความสนใจ

      0 ควรสอนให้ลูกภูมิใจในตัวเอง โดยให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกชอบและถนัดคืออะไร และส่งเสริมเขาในจุดนั้น ให้กำลังใจลูกเมื่อต้องพูดถึงทักษะที่ตัวเองมีปัญหา ให้เด็กยอมรับและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่

      0 สอนให้ลูกมั่นใจในการตัดสินใจ พูดคุยกับเกี่ยวกับปัญหาหลายๆ เรื่อง และถามว่าถ้าเป็นเขาจะทำอย่างไร ผลจากการแก้ปัญหาแต่ละแบบเป็นอย่างไร และให้กำลังใจเด็กเวลาจะตัดสินใจ หรือเสนอตัวเลือกให้เขา

      0 สอนให้เด็กมีความพยายาม ให้เขาไม่หลีกหนีจากปัญหา

      0 ให้เด็กรู้จักมีเป้าหมายในชีวิต ลองให้เด็กสร้างเป้าหมายเล็กๆ และวิธีที่จะไปให้ถึง

      0 รู้จักที่จะขอความช่วยเหลือและช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นหลักในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

      0 สามารถจัดการความเครียดและควบคุมอารมณ์ของตนเอง โดยสอนให้เขารู้จักกับอารมณ์ในแบบต่างๆ และทำความเข้าใจมัน เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ และสามารถหากิจกรรมที่จะลดความเครียดลงได้ ที่สำคัญ พ่อแม่จะต้องรู้ได้ทันทีว่าเมื่อไหร่ที่ลูกมีความเครียด ดูแลสุขภาพให้ดี แน่นอนว่าสุขภาพที่ดีจะนำมาสู่สุขภาพจิตที่ดี และจะทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ง่ายๆ แค่ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนเพียงพอ

      อย่าลืมดูแลตัวเอง พ่อแม่จะไม่สามารถดูแลลูกได้เลยหากว่าตัวเองเหนื่อยหรือเครียด อย่าเก็บเอาทุกอย่างไว้กับตัว มองหาตัวช่วย เช่น เพื่อน ครอบครัว ครู นักจิตวิทยา ที่จะคอยแบ่งเบาปัญหาและช่วยเหลือได้ ที่สำคัญ ลองมองหากลุ่มหรือองค์กรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่และเด็กคนอื่นๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"