โควิดยาวสุขภาพจิตเด็กแย่


เพิ่มเพื่อน    

  ยูนิเซฟห่วงเด็กป่วยทางใจ เหตุอยู่แต่บ้านจากโควิด-19 ยาวข้ามปี พบสุดเครียด-วิตกกังวล-เผชิญภาวะซึมเศร้า ชี้มาตรการล็อกดาวน์มีเด็กติดในครอบครัวใช้ความรุนแรง โดนทำร้าย ไร้การช่วยเหลือ ส่วนเด็กเร่ร่อนถูกมองข้าม ระบุบริการด้านสุขภาพจิตชะงักเพราะโรคระบาด สวนทางคนต้องการใช้เพิ่มขึ้น เปิดช่องทางปรึกษาออนไลน์ให้วัยรุ่นไทย

    วันที่ 4 มี.ค. องค์การยูนิเซฟรายงานว่า นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด มีเด็กและเยาวชนทั่วโลกราว 332 ล้านคน หรืออย่างน้อย 1 ใน 7 คน ต้องอยู่แต่ในบ้านมาแล้วอย่างน้อย 9 เดือน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวม
    ผลวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟซึ่งใช้ข้อมูลจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ มีเด็กจำนวน 139 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 9 เดือน เนื่องจากคำสั่งให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่แต่ในบ้านที่ประกาศใช้ในหลายประเทศ เช่น ปารากวัย เปรู และไนจีเรีย ขณะที่เด็กอีกจำนวน 193 ล้านคนก็มักใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเช่นกัน หลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีมาตราการแนะนำให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่ในบ้าน
    นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศและข้อกำหนดต่างๆ ที่จำกัดการเดินทาง ทำให้ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ไม่ได้พบกับเพื่อนและอยู่ห่างไกลคนที่รัก หรือบางคนอาจต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ จำนวนมากต้องอยู่ในบ้านด้วยความกลัว โดดเดี่ยว กระวนกระวาย และวิตกกังวลต่ออนาคต ดังนั้น เราต้องผ่านวิกฤตินี้พร้อมกับการจัดการปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ดีกว่าเดิม โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
    สำหรับในประเทศไทย ผลสำรวจของยูนิเซฟและภาคี ซึ่งจัดทำในเดือนเมษายน 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน บอกว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ พวกเขามีความเครียด เป็นห่วงและเรื่องกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาการเงินของครอบครัว
    การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่ปีที่สอง และกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวมของเด็กและเยาวชน ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ผลโพลยูรีพอร์ตของยูนิเซฟ สำรวจเยาวชนกว่า 8,000 คน พบว่า เยาวชนกว่า 1 ใน 4 เคยมีภาวะวิตกกังวล ขณะที่ร้อยละ 15 เคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด เด็กและเยาวชนเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ทั้งนี้ โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตประมาณครึ่งหนึ่งจะก่อตัวขึ้นก่อนอายุ 15 ปี ขณะที่ร้อยละ 75 เกิดขึ้นในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน การทำร้ายตัวเองยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สามในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี โดยวัยรุ่นหญิงมีอัตราที่สูงกว่า
    สำหรับเด็กที่เผชิญกับความรุนแรง การถูกละเลย หรือการถูกทำร้ายที่บ้าน มาตรการล็อกดาวน์ทำให้พวกเขาต้องติดอยู่กับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรงโดยปราศจากการช่วยเหลือจากครู สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ หรือคนในชุมชน ในขณะเดียวกันปัญหาของเด็กกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบถูกมองข้าม ด้านองค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 ทำให้บริการด้านสุขภาพจิตต้องหยุดชะงักทุกประเทศ ทั้งที่ความต้องการบริการด้านนี้เพิ่มขึ้น
    นางเฮนเรียตตากล่าวว่า การรับมือในประเทศไทย ยูนิเซฟร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health) ให้บริการปรึกษาออนไลน์แก่วัยรุ่นในเรื่องต่างๆ รวมถึงด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืนฟรีผ่านทางเลิฟแคร์ สเตชั่น www.lovecarestation.com โดยเป็นบริการเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่เข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับวัยรุ่น ปีนี้ ยูนิเซฟจะออกรายงานประจำสองปี ชื่อว่า State of the World's Children เน้นประเด็นด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพื่อสร้างความตระหนักและเสนอแนวทางแก้ไขกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ
     "ตอนนี้เราต้องตระหนักเรื่องสุขภาพจิตเด็กแล้ว ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มการลงทุนในบริการและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นและผู้ปกครอง ทั้งในชุมชนและในโรงเรียน นอกจากนี้ เราต้องส่งเสริมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และทักษะมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กในครอบครัวที่เปราะบางจะได้รับการดูแลและปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมที่บ้าน" นางเฮนเรียตตากล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"