ปลุกจับตา‘รัฐธรรมนูญ’


เพิ่มเพื่อน    

 "ชินวรณ์" คาดกรอบเวลาพิจารณาแก้ รธน.ยังคงเดิมหากร่างตีตก ปชช.สามารถเข้าชื่อเสนอเข้ามาใหม่ได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดหารือกำหนดท่าทีปมแก้ รธน.หากเกิดเอกซิเดนต์ “ชูศักดิ์” วิเคราะห์ 5 ด่านขบวนการขวางแก้ รธน. ชี้ข้ออ้างทั้งหมดเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจแบบ รธน.ข้าใครอย่าแตะ "สุดารัตน์" ปลุก ปชช.จับตาอย่าปล่อยให้การเขียน รธน.ฉบับใหม่เป็นเพียงกระบวนการสืบทอดอำนาจที่สมคบคิดโดย พปชร.-ส.ว. และองค์กรอิสระ

เมื่อวันอาทิตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เป็นขั้นตอนที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งเห็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าเป็นวันที่ 17-19 มีนาคม คาดว่าน่าจะเป็นตามกรอบระยะเวลาเดิม ทั้งนี้ต้องรอก่อนว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยของศาลออกมาอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ก็เชื่อว่าตามกระบวนการต่างๆ ต้องเตรียมการตามขั้นตอนไว้
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าให้สามารถดำเนินการต่อได้ ก็จะต้องมีการนำเข้าพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ฉะนั้นถ้าหากว่าเห็นชอบก็จะต้องดำเนินการต่อไปในขั้นตอนทำประชามติและประกาศทำกฎหมาย แต่หากไม่เห็นชอบ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ได้กำหนดว่าหากรัฐธรรมนูญตกไป ทางครม.ต้องเป็นผู้เสนอเข้ามาใหม่ หรือต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 ใน 5 หรือสมาชิกรัฐสภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 5 เป็นผู้เสนอเข้ามา หรือประชาชน 30,000 คนเข้าชื่อเสนอเข้ามา จึงจะสามารถเริ่มต้นกระบวนการใหม่ได้
     “ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐบาลเป็นอย่างไร หรือพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นอย่างไร ต้องดูว่ากระบวนการในการที่จะไม่เห็นชอบเกิดจากเหตุผลใดก่อน” นายชินวรณ์กล่าว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงแผนสำรองของพรรคร่วมฝ่ายค้านหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือ ส.ว.คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่า วันที่ 8 มี.ค. เราจะประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อกำหนดท่าทีในเรื่องนี้ร่วมกันว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ เพราะตอนที่ยื่นเรายื่นด้วยกัน ก็อยากถามความเห็นให้รอบด้าน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้เป็นเรื่องที่เราต้องรอดูท่าทีอย่างเดียว เนื่องจากเหนือการควบคุมของเราไปแล้ว
     นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ จะต้องฝ่าฟันในอีก 5 ด่านสำคัญ คือ ด่านแรกสุด ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มี.ค.นี้,  ด่านที่สอง ที่ประชุมรัฐสภาจะต้องลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง, ด่านที่สาม ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชน โดยต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม, ด่านที่สี่ หลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านประชามติและประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง, ด่านที่ห้า เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ จะต้องให้ประชาชนเห็นชอบโดยต้องทำประชามติอีกครั้ง ในเงื่อนไขเดียวกับด่านที่สาม หากผ่านประชามติก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
     “ด่านที่สำคัญที่สุดจะอยู่ในสองด่านแรก คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และการลงมติในวาระที่ 3 ของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งต้องให้ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 84 คน เห็นชอบด้วย หากผ่านด่านนี้ไปได้ จึงจะมี ส.ส.ร.ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน” นายชูศักดิ์ระบุ
    นายชูศักดิ์ให้เหตุผลหักล้างเกี่ยวกับกระบวนการโต้แย้งคัดค้าน ขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ว่า ต้องถามว่าท่านมีความจริงใจอย่างแท้จริงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ จริงๆ แล้วท่านได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะท่านยอมรับเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ที่ต้องแก้เพราะถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ทางการเมือง จากกระแสสังคมหรือไม่ ส่วนการลงมติในวาระ 3 โดยเฉพาะจากส.ว. 250 คน และต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 84 คนนั้น งานนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าท่านมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอาณัติใดๆ หรือไม่ จะเป็นบทพิสูจน์ว่าท่านต้องการให้บ้านเมืองเดินไปอย่างไร ท่านอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ หรือไม่
       นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า การที่ผู้ร้องอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติของประชาชน การแก้ไขโดยจัดทำร่างใหม่ควรทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อนนั้น ความจริงกระบวนการที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยึดถืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน โดยทำประชามติถึงสองครั้ง คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านรัฐสภาแล้วต้องไปทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) หากผ่านประชามติแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย และเมื่อมีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องนำไปทำประชามติอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมิได้หมายความว่ารัฐสภายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอง แต่ ส.ส.ร.เป็นคนยกร่าง แล้วให้ประชาชนลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งหมดอยู่ในบริบทเรื่องอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
    เขาบอกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใดๆ ทำได้สองวิธีคือ แก้ไขรายมาตราบางประเด็นเรียกว่าแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) (พ.ศ.....) หรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกกฎหมายเก่า แล้วตราขึ้นมาใหม่ โดยที่อาจแก้มากแก้น้อย การอ้างว่าจัดทำฉบับใหม่ไม่ได้ จึงเท่ากับต้องแก้ไขเพิ่มเติมเป็นมาตราๆ ไปเท่านั้น แปลว่ารัฐธรรมนูญหรือ กม.นั้นๆ จะเป็นนิรันดร์ ยกเลิกเพื่อทำใหม่ไม่ได้เลย ผิดหลักกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง
     “รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีนี้ ทั้งหมดอยู่ในความหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น จึงถือว่ามีอำนาจทำได้ ข้อห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเพียงข้อห้ามตามมาตรา 255 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ที่พูดว่าท่านขอให้คิดเองว่าหมายถึงใครบ้าง อยากจะกล่าวว่าข้ออ้างทั้งหมดเห็นว่าเป็นเพียงความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. แบบรัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะ ซึ่งถ้าทบทวนตั้งแต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เนื้อหา โดยเฉพาะการได้มาซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น ครม. รัฐสภา องค์กรอิสระทั้งหลาย อาจถือได้ว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้เป็นการร่วมมือ คบคิดกันปู้ยี่ปู้ยำประเทศ เพียงเพื่อคงอำนาจและสืบทอดอำนาจของพวกตัวเองไว้เท่านั้น” นายชูศักดิ์กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า อย่าปล่อยให้การเขียน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการสืบทอดอำนาจที่สมคบคิดกันโดยพรรคพลังประชารัฐ พวก ส.ว. และองค์กรอิสระ เป้าหมายของทุกภาคส่วนคือการใช้ รธน.ฉบับใหม่นี้เป็นทางออกให้กับวิกฤติการเมืองของประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ จึงจำเป็นที่ทุกขั้นตอนต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่เช่นนั้น รธน.ที่เราได้มา จะเป็นชนวนก่อความขัดแย้งต่อไปข้างหน้า การมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน เพื่อจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ทว่าขณะนี้กลไกที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากที่สุด มีแนวโน้มถูกทำลาย และแทนที่ด้วยการเขียน รธน. เพื่อการสืบทอดอำนาจ การที่รัฐสภาดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการร่าง รธน.?ฉบับใหม่ เรื่องแปลกประหลาด และส่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสมคบคิดเพื่อทำให้การจัดทำ รธน.ฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. เป็นไปไม่ได้
ต้องระวังว่า ท้ายที่สุด การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไม่ให้มี ส.ส.ร. แต่ให้อำนาจรัฐสภาในการแก้ รธน. แปลว่าเสียงข้างมากในรัฐสภาคือ พวก ส.ว. 250 คน กับพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นผู้กำหนดเกมแก้ รธน.ได้ทั้งหมด เมื่อพิจารณาไปยังที่มาของ ตุลาการศาล รธน. ยิ่งน่าวิตก เพราะแม่น้ำ 8 สายล้วนไหลมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน 3 คน มาจาก สนช.?ที่แต่งตั้งโดย คสช.? อีก 5 คนมาจาก ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่แต่งตั้งโดย คสช.อีกเช่นเดียวกัน
    "ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ร่วมกันจับตากระบวนการแก้ไข รธน.?อย่างใกล้ชิด และส่งเสียงเมื่อเห็นความบิดพลิ้ว อย่าปล่อยให้การเขียน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการสืบทอดอำนาจที่สมคบคิดกันโดยแต่เพียงพรรคพลังประชารัฐ พวก ส.ว. และองค์กรอิสระ โดยที่ “ประชาชน” ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"