ลุ้นโหวตแก้รธน. หวั่นศาลฯตีตก ขู่ปลุกปชช.สู้ต่อ


เพิ่มเพื่อน    

  ส่อแววเลื่อนโหวตแก้ รธน. 24-25 มี.ค. "ชลน่าน" รับถ้าร่างแก้ไขถูกตีตกต้องรอสมัยประชุมใหม่ถึงจะยื่นร่างใหม่ได้  ฝ่ายค้านลั่นผลการวินิจฉัยศาล รธน.จะเป็นอย่างไรก็จะเดินหน้าแก้ไข รธน.ให้เป็น ปชต. "ก้าวไกล" ขู่ถ้าถูกคว่ำจะถามความเห็นประชาชนขอเสียงจัดการแน่ "เพื่อไทย" อัด ส.ส.-ส.ว.ขวางแก้ รธน.ด้อยค่าตัวแทนประชาชนเรียกร้อง ปชป.กลับใจทิ้งเผด็จการหยุดพายเรือให้โจรนั่ง   

     ที่รัฐสภา วันที่ 8 มีนาคม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เป็นประธานประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อกำหนดวันเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3
โดยนายชวนกล่าวภายหลังการประชุมว่า เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มี.ค. แต่คงต้องรอดูว่าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญจะลงมาทันในวันที่ 12 มี.ค.หรือไม่ เพราะรัฐบาลคงรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. จึงกราบบังคมทูลพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาทันในวันที่ 12 มี.ค. ก็สามารถเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มี.ค.ได้ แต่ถ้าลงมาไม่ทันในวันที่ 12 มี.ค. คงต้องเลื่อนประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญไป 1 สัปดาห์ อาจเปิดประชุมได้ในวันที่ 24-25 มี.ค. ส่วนกระแสข่าว ส.ว.จะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นั้น ขอให้รอดูความจริงก่อน อย่าเพิ่งไปกังวล เชื่อว่าทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง หวังว่าทุกฝ่ายจะใช้เหตุผลตัดสินใจ
     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญประกาศได้ทันวันที่ 12 มี.ค. จะเปิดประชุมวิสามัญได้ในวันที่ 17-18 มี.ค. แต่ถ้าประกาศไม่ทันวันที่ 12 มี.ค. คงต้องเลื่อนไปเปิดประชุมวิสามัญเป็นสัปดาห์ต่อไป เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. อาจทำให้รัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปิดประชุมรัฐสภาวิสามัญ ก็อาจไม่ส่งเรื่องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญขึ้นไป ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยังไม่ได้เตรียมอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขอรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค.ก่อน  
    นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลังจากนี้ฝ่ายค้านคงต้องหารือทางออกกันอีกครั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขเป็นรายมาตรา เป็นแนวทางที่พิจารณาอยู่ เพราะครั้งที่แล้วฝ่ายค้านก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 5 ฉบับ แต่ถูกตีตกไป 4 ร่าง เช่น การแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง การแก้ไขมาตรา 270 ซึ่งร่างที่ถูกตีตกไปเหล่านี้คงต้องรอสมัยประชุมใหม่ จึงจะยื่นร่างใหม่ได้
ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการประชุมหัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านขอสงวนท่าทีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พรรคฝ่ายค้านยืนหยัดที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นคุณแก่ผู้เสนอญัตติให้เป็นทางออกของประเทศ ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน รัฐบาล ต่างเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา จึงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทำนองเดียวกัน ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดช่องให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราไม่ได้เดินทางผิดกรอบ หรือนอกแนวทาง ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 จะต้องเดินหน้าต่อ  
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านได้คุยกันถึงแนวทางหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมา หรือ ส.ว.คว่ำรัฐธรรมนูญไว้บ้างหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันที่ 11 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย คงต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน ส่วนที่กังวลว่า ส.ว.จะล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อมั่นว่า ส.ว.ยังเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ ไม่มีเหตุที่จะขวาง เพราะต้องฟังเสียงประชาชนด้วย ขนาดพรรคฟากรัฐบาลยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรต้องแก้ไข
เมื่อถามว่า หากศาลมีคำวินิจฉันว่าไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ จะเดินหน้าแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า คงต้องรอดูรายละเอียดหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะสามารถเป็นได้หลายทาง หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ไม่ว่าจะมาจากศาลหรือ ส.ว. เราคงต้องไปถามความเห็นจากประชาชนว่าอุปสรรคการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้จะจัดการกันอย่างไร
น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สุดท้ายปลายทางถ้าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หรือการปิดทางจากท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.บางส่วนที่ไม่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการแก้ไข จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีกท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.อีกหลายคนที่แสดงออกชัดเจนในการขวางการแก้รัฐธรรมนูญ สะท้อนได้ว่าเสมือนเป็นการด้อยค่าตัวแทนประชาชน เมินเฉยต่ออำนาจนิติบัญญัติ
น.ส.อรุณีกล่าวว่า วันนี้รู้สึกเห็นใจพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะทำตัวเป็นมิตรที่ดี แต่ดูไร้ความหมายและไม่เคยได้มิตรที่แท้จริง ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อมที่ จ. นครศรีธรรมราช หากประชาธิปัตย์ยังเป็นนั่งร้านเผด็จการ ละทิ้งประชาชนที่เคยยืนอยู่เคียงข้าง อาจเสียใจ พรรค ปชป.เคยบอกเหตุผลในการเข้าร่วมรัฐบาลว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลักดันจนเป็นวาระเร่งด่วน วันนี้การแก้รัฐธรรมนูญส่อแววล่ม ถ้าพรรค ปชป.อยากเดินหน้าต่อทางการเมือง ควรหันกลับมายืนข้างประชาชน หยุดพายเรือให้โจรนั่ง
ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย พร้อมคณะ เข้ายื่นแถลงการณ์ของกลุ่มสร้างไทยต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การที่รัฐสภาลงมติในวาระที่ 1 และ 2 ไปแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐสภามั่นใจว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ระบบ ส.ส.ร. ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เมื่อผ่านวาระที่ 3 จะไปสู่การทำประชามติ และมีการเลือก ส.ส.ร. 200 คน เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ จะต้องทำประชามติอีกครั้ง ถ้าผ่านจึงทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และจะมีการเลือกตั้งกันตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะสมคบคิดกันหยุดยั้งการดำเนินการเช่นนี้ ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมกันผ่าทางตันประเทศ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง อย่าเอาแพ้ชนะกันในสิ่งที่ในที่สุดแล้วไม่มีใครชนะ แต่ทุกคนและประเทศแพ้หมด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"