ดร.สังศิต ออกบทความ 'นัยยะทางประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อต้านการคอร์รัปชัน : พธม.และ กปปส.'


เพิ่มเพื่อน    

11 มี.ค.64 - รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ประธานกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เผยแพร่บทความเรื่อง "นัยยะทางประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อต้านการคอร์รัปชัน : พธม.และ กปปส." โดยมีเนื้อหาดังนี้

ในบรรดาปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทยปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ได้สำเร็จคือปัญหาการคอร์รัปชัน

เมื่อราว 40 ปีล่วงมาแล้ว ผมมีโอกาสอ่านตำราภาษาเยอรมันชื่อ “การก่อตัวของรัฐเยอรมันสมัยใหม่” ของ Prof.Dr. Juergen Kocka นักประวัติศาสตร์สังคม(social history)ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้านประวัติศาสตร์สังคมในโลกยุคปัจจุบัน
ผมได้มุมมองใหม่ๆและแรงบันดาลใจอย่างล้นเหลือจากงานเขียนชิ้นนี้ งานชิ้นนี้วิเคราะห์และอธิบายถึงการก่อตัวของรัฐเยอรมันสมัยใหม่ในยุคที่บิสมาร์กเป็นนายกรัฐมนตรี สาระสำคัญที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือการก่อตัวของรัฐเยอรมันสมัยใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับการทำลายล้างอุดมการณ์ศักดินา(feudalism) ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ความเชื่อแบบไสยศาสตร์(ที่ถูกทดแทนด้วยความคิดแบบวิทยาศาสตร์)และที่สำคัญคือการทำลายการคอร์ปชันแบบดั้งเดิมลงอย่างสิ้นเชิง กล่าวโดยสรุปคือรากฐานของระบบราชการสมัยใหม่ของเยอรมันเกิดขึ้นพร้อมกับการรื้อถอน (deconstruction) ความคิด ความเชื่อและความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองแบบดั้งเดิมลงไปแทบทั้งหมด และแทนที่ด้วยอุดมการณ์ที่เน้นความเท่าเทียมกันของคนในสังคม โดยไม่สนใจชาติกำเนิดและฐานะทางด้านเศรษฐกิจอีกต่อไป

เมื่อย้อนคิดถึงเรื่องการปฏิรูประบบราชการในสมัย ร.5 ผมพบว่าการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ของไทยไม่ได้รื้อถอนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และและการฉ้อราษฎร์บังหลวงแบบดั้งเดิมเหมือนที่เกิดขึ้นในเยอรมนี นี่จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากกลับมาทำวิจัยเรื่องคอรัปชั่น เพราะว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงแบบดั้งเดิมยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานระบบราชการสมัยใหม่และการเมืองที่ก่อปัญหาแก่สังคมไทยอย่างมากมายติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้าด้านการศึกษา การทุจริตและฉ้อฉลอย่างรุนแรงในทุกหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย

หลังสำเร็จการศึกษาและกลับมาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมทำงานวิจัยชิ้นแรกกับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรเรื่อง “คอร์รัปชันกับประชาธิปไตยไทย” (2537) งานชิ้นนี้ผมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นมองว่าพรรคชาติไทยเป็นพรรคที่ทุจริตมากที่สุด ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองนี้ประกาศฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกับผมทั่วราชอาณาจักร งานชิ้นนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคชาติไทยกับผมโดยมีสื่อมวลชนสนับสนุนงานวิจัยของผมอย่างกว้างขวาง เพื่อลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนและสื่อมวลชน พรรคชาติไทยได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสียใหม่

งานวิจัยชิ้นถัดมาอาจารย์ผาสุก ผมและอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์เรื่อง  “เศรษฐกิจนอกกฎหมาย:หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า” (2543) ผมได้ประมาณการขนาดของเงินในบ่อนการพนันที่ผิดกฎหมายใน กทม.และชี้ให้เห็นว่าตำรวจมีส่วนพัวพันกับ”ส่วย”ที่เจ้าของบ่อนจ่ายให้ ผลที่ติดตามมาคืออธิบดีกรมตำรวจได้ประกาศให้ผู้กำกับทุกโรงพักทั่วประเทศแจ้งความเอาผิดผมในข้อหาหมิ่นศักดิ์ศรีตำรวจ ตำรวจกล่าวอ้างว่าใน กทม.ไม่มีบ่อน ความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับผมส่งผลกระทบต่อสังคมและตัวผมอย่างกว้างขวาง  มีการส่งกำลังตำรวจมาล้อมจับผมที่บ้าน ตำรวจแถลงข่าวทางวิทยุตลอดทั้งวันว่าผมบิดเบือนความจริงเรื่องบ่อนโรงเรียนสาธิตจุฬาส่งครูมาคุ้มครองลูกผมเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าลูกชายของผม(อยู่ ป.1)จะถูกตำรวจอุ้ม มีการนำประเด็นเรื่องงานวิจัยและการคุกคามผมไปอภิปรายในสภาโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ความขัดแย้งยุติลงเมื่อนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีคำสั่งย้ายอธิบดีตำรวจให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนเบอร์ 1 ของตำรวจ แต่ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตำรวจ จึงทำให้การทุจริตของตำรวจเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศตราบจนกระทั่งถึงวันนี้

งานวิจัยของผมหลังจากนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น และผมตกอยู่ในวงจรที่ถูกพรรคการเมืองนักการเมือง (คุณทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง นรม.) และ ผบ.ตร.อีกหลายคนฟ้องหมิ่นประมาทมาโดยตลอด คดีสุดท้ายที่ สตช.ยอมถอนฟ้องผมเกิดขึ้นในปี 2562 นี่เอง ตลอดเวลาราว 30 ปีที่ทำวิจัยเรื่องคอรัปชั่น ผมพบว่าความโกรธแค้นของผู้มีอำนาจในภาครัฐที่มีต่อผม เป็นเพราะพวกเขาต้องการรักษาโครงสร้างของระบบราชการและระบบการเมืองที่ทุจริตเอาไว้ ส่วนตัวผมได้ข้อสรุปอย่างมั่นใจว่าถ้าไม่มีการปฏิรูประบบตำรวจให้เป็นตำรวจของจังหวัด และไม่มีการปฏิรูประบบราชการให้เกิดธรรมาภิบาลคงยากที่ประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรืองได้

ในงานวิจัยเรื่อง”การลงโทษโดยสังคม”(social sanctions)(2559) ซึ่งผมได้สร้างทฤษฎีต่อต้านการคอรัปชั่นสำหรับสังคมไทยขึ้น ผมได้นำกรณีการเคลื่อนไหวของ พธม.และ กปปส.มาศึกษา และพบว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) ของทั้งสองขบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ทรยศต่อผลประโยชน์ของประเทศ และทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพวกเขาเข้ามา ผมเห็นว่าขบวนการ พธม.และ กปปส.เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการคอรัปชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประสบความสําเร็จมากที่สุดในแง่ของการให้ความรู้เรื่องการทุจริตที่สลับซับซ้อนของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ผลงานการต่อสู้ของพวกเขาทำให้ศาลมีหลักฐานเพียงพอที่สามารถตัดสินให้คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์มีความผิดในข้อหาทุจริตได้สำเร็จ

ผมไม่ได้มองว่า พธม.และ กปปส.เป็นขบวนการของภาคประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันมากกว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของ ”เจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชน” ที่ต้องการต่อต้านการคอรัปชั่นของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์อย่างเด็ดเดี่ยวและจริงจัง หากแกนนำไม่ทำตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน แน่นอนว่าพวกเขาพร้อมที่จะละทิ้งแกนนำไปอย่างไม่ใยดี การที่แกนนำนำพามวลชนไปปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง ปิดล้อมสนามบิน สถานีโทรทัศน์ หรือยึดทำเนียบรัฐบาล ล้วนแล้วแต่เป็นเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนทั้งสิ้น 

กรณีของ พธม. และ กปสส.แสดงให้เห็นถึงความตื่นรู้ในระดับสูงของมวลชนที่ไม่อดทนต่อการคอร์รัปชันของนักการเมืองอีกต่อไป ผมมองว่าทั้งสองกรณีนี้ไม่ใช่แกนนำที่ชี้นำการเคลื่อนไหวของมวลชนได้อย่างง่ายๆในทางตรงกันข้าม มวลมหาประชาชนต่างหากที่เป็นฝ่ายกำหนด กดดัน ชี้นำและต่อรองให้แกนนำต้องนำพาเจตนารมณ์ของพวกเขาไปขับเคี่ยวกับรัฐบาลที่ทุจริตมากกว่า

แต่ผลลัพธ์ของการเปิดโปงการทุจริตของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์กลับทำให้แกนนำ พธม.และ กปปส.ถูกตำรวจ ดีเอสไอ ปปง.และอัยการฟ้องร้องคนละหลายสิบคดี ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งในข้อหากบฏ ผู้ก่อการร้าย ผู้บุกรุกและยึดสถานที่ราชการเป็นต้น เห็นได้ชัดเจนว่าการฟ้องร้องเป็นความต้องการทางการเมืองของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการกลั่นแกล้ง รังแก และทำลายแกนนำและขบวนการต่อต้านการคอรัปชั่นของประเทศไทย

ในระหว่างการชุมนุมอย่างสงบ การลอบทำร้าย และลอบสังหารแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยอาวุธสงครามเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกวัน ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนตาย บาดเจ็บและกลายเป็นคนพิการไป ในสถานการณ์ที่โหดร้ายและน่าขมขื่นที่สุด ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่มาจากทั่วทุกสารทิศทั่วประเทศต่างยืนหยัดเปิดโปงการทุจริตของรัฐบาลและโจมตีระบบราชการและระบบการเมืองที่ทุจริตอย่างไม่ย่อท้อ ผมคิดว่านี่เป็นนัยยะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สังคม ที่แสดงให้เห็นว่าระบบการเมืองและระบบราชการไทยที่ดำรงอยู่จำเป็นต้องถูกปฏิเสธและการปฏิรูปถึงรากฐานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าใจกลางของการปฏิรูปคือต้องขจัดการทุจริตของระบบราชการและระบบการเมืองให้สิ้นซาก

ผมคิดว่าศาลพึงเข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นว่า การที่ตำรวจ ดีเอสไอและอัยการร่วมกันทำสำนวนฟ้องแกนนำ พธม.และ กปปส.เป็นเพราะหน่วยงานเหล่านี้ตกอยู่ใต้อำนาจการบงการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ความจริงเรื่องนี้ปรากฎให้เห็นแล้วว่าในเวลาต่อมาอธิบดีดีเอสไอได้ถูกศาลตัดสินให้จำคุกในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ 

การที่ศาลรับสำนวนที่ไม่สุจริตจากตำรวจ ดีเอสไอและอัยการมานั้น ศาลพึงตระหนักด้วยว่าท่านควรทำหน้าที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง

พระพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้ว่า การพิจารณากรรม(กระทำ)ใดๆนั้นให้พึงพิจารณาเจตนาของผู้กระทำประกอบกันไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือจะพิจารณาการกระทำความผิดใดๆ พึงพิจารณาเจตนาของผู้กระทำประกอบกันไป
เมื่อเร็วๆนี้ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าปฏิบัติการต่างๆของแกนนำ กปปส.ไม่เข้าข่ายเป็นการกบฏและการก่อการร้าย และการกระทำของพวกเขาไม่ได้มุ่งล้มล้างรัฐธรรมนูญ และระบบการปกครอง นี่เป็นความจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะว่าเจตนารมณ์ของ กปปส. (และของ พธม.) คือต้องการต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เท่านั้น

ผมคิดว่าการพิจารณาคดีนี้ของศาลต่อแกนนำ พธม.และ กปปส.มิได้คำนึงถึงเจตนาของแกนนำและบริบทที่เป็นจริงในขณะนั้นประกอบกันไปด้วย แม้ว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด แต่คำพิพากษาของศาลที่ให้จำคุกแกนนำของ พธม.และ กปปส. น่าจะมีนัยยะอย่างสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อขบวนการต่อต้านการคอรัปชั่นของไทย เพราะคำพิพากษานี้อาจส่งผลกระทบต่อขบวนการและจิตสำนึกที่ต่อต้านการคอร์รัปชันของคนไทยที่เติบโตมาโดยตลอดกว่าสองทศวรรษ และอาจไปบั่นทอนจิตใจที่จะหาญกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลและนักการเมืองที่ทุจริต เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวันข้างหน้าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์แบบนี้คือนักการเมืองและรัฐบาลที่โกง เท่านั้น การกล่าวอ้างถึงนโยบายปราบปรามการคอรัปชั่นจะเป็นเพียงโวหารของรัฐบาลที่ฉ้อฉล ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แก้ปัญหาการทุจริตในเชิงระบบและในระดับโครงสร้างจะถูกยืดเวลาออกไป แน่นอนว่าประชาชนคือผู้ที่สูญเสียโอกาสที่แท้จริงที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรควรจะทำให้ประชาชนรักษาจิตวิญญาณและความกล้าหาญที่จะออกมาต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตต่อไปในอนาคต...สวัสดีครับจากผมเอง.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"