อัดวัคซีนใจ..เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เด็กไทยไม่ตกเป็น"เหยื่อ"ดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

 พ่อแม่ปลูกกิจกรรมกับลูก สร้างความรับรู้รับผิดชอบ

ปัญหาเด็กไทยยุคใหม่ตกเป็นเหยื่อของดิจิทัลหลากหลายรูปแบบทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาเด็กติดเกม ถูกล่อลวงในโลกออนไลน์ กระทั่งการถูกบูลลี่ ถูกล้อเลียนเรื่องหน้าตา หรือแม้การที่เด็กถูกกระทำทารุณทางโซเชียล และกลายเป็นผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วนจะต้องเร่งเข้ามาสร้างวัคซีน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในการลดปัญหาดังกล่าวในเด็กและเยาวชน หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายไปยังผู้ประกอบการในการบังคับใช้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเกม ที่สามารถตรวจสอบอายุของเด็กที่จะเข้าไปเล่นได้ เพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกม

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรให้ความใส่ใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้สื่อในเด็ก และผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานการใช้สื่อปลอดภัยในเด็กและเยาวชน มาให้มุมมองเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจและไม่ควรที่จะมองข้าม

พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบันปัญหาเด็กที่เกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลและใช้เวลาอยู่กับสื่อดังกล่าวมากเกินไป ไม่เพียงส่งผลเสียต่อการพัฒนาตัวเอง เช่น การไม่ออกกำลังกาย แต่จะนำมาซึ่งการเสพติดเกม และตามมาด้วยภัยจากโซเชียลอย่างการถูกล่อลวง และลำดับสุดท้ายคือ การที่เด็กซึ่งได้รับผลกระทบจากโลกโซเชียลเป็นผู้กระทำความรุนแรงด้านออนไลน์กับผู้อื่น

“ทั้งนี้ แนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว เริ่มจากอันแรกคือ “การจำกัดเวลา” โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กเล็ก เพราะอันที่จริงพ่อแม่ไม่สามารถห้ามได้ ดังนั้นการจำกัดเวลาเล่นและพ่อแม่ควรเฝ้าดูห่างๆ เช่น ให้เด็กเล่นโซเชียลไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อไรที่เด็กเล่นเกินกว่านั้นก็ให้เด็กไปทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือถ้าหากลูกอยู่ในกลุ่มของเด็กเล็ก ก่อนที่จะเล่นมือถือก็จะต้องทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือให้เรียบร้อยก่อน เพราะการที่พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกรู้ว่าเขายังมีหน้าที่อื่น ที่ไม่ใช่แค่การเล่นเกมหรือเล่นมือถือย่อมเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งการที่เด็กมีวินัย เขาก็จะรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร และลดความต้องการเล่นมือถือลง อีกทั้งเด็กจะต้องออกไปอยู่ในสังคมและพบเจอกับสิ่งต่างๆ สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่จะต้องทันกับสถานการณ์ต่างๆ และคอยพูดคุยกับลูก เช่น เวลาที่เด็กเกม ผู้ปกครองก็ควรที่จะดูให้รู้ว่าลูกกำลังเล่นอะไร หรือกำลังคุยกับใครอยู่

ส่วนพ่อแม่คนไหนที่มีลูกเล็ก และเป็นกังวลว่าเด็กจะเผลอไปซื้อเกมในมือถือ ทางที่ดีก็ไม่ควรทิ้งให้ลูกเล่นมือถือเพียงลำพัง หรือตั้งค่ามือถือในการจำกัดค่าใช้จ่าย หรือเก็บบัตรเครดิตให้ห่างจากมือเด็ก หรือใช้ระบบการใส่รหัส OTP เมื่อลูกใส่รหัสดังกล่าวก็จะแจ้งไปยังพ่อกับแม่ หรือแม้แต่การที่ผู้ปกครองมีความรู้เกี่ยวกับโซเชียล ติดตั้งแอปพลิเคชัน “พาเรนทัล คอนโทรล” ที่สามารถตั้งรหัสผ่านการเข้าใช้งาน และบอกให้ผู้ปกครองรู้ว่าเด็กกำลังเล่นเกมอะไร และเกมไหนที่ลูกเล่นบ่อยที่สุด, จำกัดเรตอายุของเด็กที่จะเล่นเกมนั้นๆ, จำกัดเวลาเล่นเกมของเด็กในแต่ละวัน ฯลฯ และแม้ว่าจะมีแอปพลิเคชันดังกล่าว แต่สิ่งสำคัญคือ การที่มีกฎหมายบังคับใช้ไปยังผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจเกม ในการห้ามนำเกมที่รุนแรงเข้ามาให้เด็กๆ เล่น แม้แต่ในประเทศจีนที่รัฐบาลมีกฎหมายให้บริษัทที่ผลิตเกมมีระบบเตือนเพื่อให้เด็กไม่อยู่กับการเล่นเกมเกิน 2 ชั่วโมงติดกัน เพื่อให้เด็กหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับหลายๆ โรงเรียนได้ค้นพบว่า การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกในลักษณะของการเป็นเพื่อน และคอยดูแลลูกอยู่ห่างๆ โดยไม่แสดงตน แม้ว่าบางครั้งพ่อแม่จะอดใจไม่ได้เมื่อลูกอยู่กับโซเชียลเป็นเวลานานๆ ตรงนี้สามารถใช้การกดไลค์ เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่กำลังเฝ้าดูเขาใช้งานในโซเชียลมีเดียต่างๆ มากเกินไปได้เช่นกัน”

ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) บอกว่า “สำหรับวัคซีนที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการให้ความรักและความอบอุ่นย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่เพียงทำให้ลูกเป็นคนดีในสังคม แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพ่อแม่จะต้องให้เวลากับลูกมากเป็นพิเศษ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ การที่เราสร้างความภูมิใจให้กับเด็กๆ หรือทำให้ลูกหลานเกิดความภูมิใจในตัวเองจากการใช้ชีวิตจริง ตรงนี้ก็จะทำให้เด็กอยู่กับหน้าจอมือถือน้อยลง เพราะเมื่อไรที่เด็กจัดการเวลาในการทำกิจกรรมของตัวเองได้ เขาก็จะรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องสนุก

ถามว่าแนวโน้มของเด็กที่จะได้รับผลกระทบจากโลกโซเชียลมีอัตราเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ถ้าผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องสามารถฝึกฝนให้เด็กรู้จักการจัดการเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ และไม่ละเลยพฤติกรรมที่ปล่อยให้เด็กใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย หรือการเล่นเกมมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่าเด็กที่ติดเกมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันเดียว แต่เกิดจากการใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานาน ตรงนี้ผู้ปกครองต้องให้ความใส่ใจ ที่สำคัญผู้ปกครองจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การที่เด็กติดเกมนั้นเป็นโรค ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปัจจุบันมีเด็กที่ติดเกมเยอะ แต่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน และสิ่งสำคัญคือ การที่เราสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ นอกจากการเล่นมือถือหรือเล่นเกม เช่น สนามในเมือง ที่ทำให้เด็กได้มีพื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งถ้าทำได้อย่างที่เรียนไปตอนต้น ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์ของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

            ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต บอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การสร้าง “วัคซีนใจ” เพื่อดูแลและเยียวยาทุกสิ่ง เพราะหลังจากที่โควิดระบาดซ้ำรอบที่ 2 ทุกอย่างล้วนอยู่ในระบบออนไลน์แทบทั้งสิ้น เห็นได้จากหลายโรงเรียน เมื่อมีเหตุการณ์ของโควิด-19 ระบาดซ้ำในพื้นที่ต่างๆ ก็จะมีการหยุดเพื่อเรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งทั้งเด็กและผู้ปกครองจำเป็นต้องปรับตัว ที่สำคัญพ่อแม่ก็ต้องดูแลลูกและยังต้องปรับตัวตามลูกๆ อีกด้วย

            “สิ่งสำคัญคือ การดึงเอาพลังบวก อย่างการที่ผู้ปกครองต้องทำงานอยู่บ้านในช่วงโควิด-19 ระบาดซ้ำรอบที่ 2 และพ่อแม่บางคนก็ต้องทำงานน้อยลง หมออยากแนะนำว่าให้ใช้ช่วงเวลานี้เพื่อดูแลลูกหลานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และนั่นยังทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่มีเวลามากขึ้นในการดูแลเด็กๆ โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีลูกเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งก่อนหน้านี้พ่อแม่มักจะส่งเด็กๆ มาเข้าเรียนเพื่อเริ่มกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกน้อย แต่ช่วงเวลาที่ต้องหยุดทำงานที่บ้าน พ่อแม่สามารถเป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ให้กับลูกได้เช่นเดียวกัน เรื่องที่น่าดีใจนั้น หมอพบว่าสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างพัฒนาการลูกที่ทางกรมสุขภาพจิตได้จัดทำขึ้น ในช่วงนี้ได้รับการดาวน์โหลดไปใช้งานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พ่อแม่จะใช้ช่วงเวิร์กฟรอมโฮมเพื่อดูแลลูกเล็กผ่านการใช้สื่อออนไลน์

เพราะอย่าลืมว่ายุคนี้ทุกอย่างอยู่กับมือถือ หรืออยู่กับโซเชียลเป็นหลัก ดังนั้นการที่จะห้ามเด็กใช้สื่อดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้เปลี่ยนไป พูดง่ายๆ คือการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้มีความเกี่ยวข้องกับสื่อดิจิทัล เพราะเขาเกิดในยุคนี้จริงๆ แต่ประการสำคัญนั้นคือ ครู พ่อแม่จะต้องสอนให้เด็กรู้ว่า “เมื่อไร???” ที่เด็กสามารถเล่นโซเชียลได้ และพ่อแม่จำเป็นจะต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ลูกมีความรับผิดชอบ!!! ทั้งก่อนและหลังใช้โซเชียลเป็นเรื่องที่สำคัญ พูดง่ายๆ ว่าเด็กสามารถสนุกกับมือถือได้ แต่จะต้องมีความรับผิดชอบ และการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกจากการเล่นมือถือควบคู่กันไป

            แม้ว่าเด็กจะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ แล้ว แต่ในช่วงเวลาที่ผู้ปกครองต้องทำงานอยู่บ้านเพื่อสร้างวัคซีนทางใจให้กับลูกหลานก็เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นช่วงที่ครอบครัวได้แสดงความรักต่อกันระหว่างโซ่ทองคล้องใจของตัวเอง เพื่อให้เกิดการคอนเน็กชั่น และเกิดเป็นวัคซีนใจขึ้นมา ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่เรามักจะบอกว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีนั้นไม่ควรให้เล่นมือถือ แต่ยุคนี้สื่อการเรียนรู้มักจะอยู่ในมือถือ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน และเลี้ยงดูลูกเล็กหรือเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ต่างๆ พ่อแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย เช่น เวลาที่เด็กหยิบมือถือมาดูมาเล่น พ่อแม่สามารถชวนลูกพูดคุยและสอนเขาผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ ซึ่งบางเกมสำหรับเด็กหรือบางแอปพลิเคชันของลูกน้อย เมื่อผู้ปกครองเสริมด้วยการเข้าไปชวนดู ชวนคุย ชวนคิด นั่นจะทำให้มีไอคิวที่สูงขึ้นได้ แต่ไม่ใช่การปล่อยให้เด็กเล่นมือถือโดยลำพังเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ”

            ปัจจุบันการใช้โซเชียลหรือสื่อดิจิทัลของเด็กยุคใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เมื่อก่อนเด็กเล็กและเด็กโตไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเกินวัน 2-4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาดนั้น เด็กใช้เวลาอยู่กับมือถือและโลกโซเชียลเกินวันละ 4 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเด็กๆ จะต้องเรียนออนไลน์เป็นประจำทุกวัน งานนี้ ผอ.สถาบันราชานุกูล ให้มุมมองว่า การที่เราจะพิจารณาการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กๆ จากเรื่องของเวลาการใช้งานอาจจะต้องปรับใหม่ เพราะอันที่จริงแล้วเราต้องเน้นเนื้อหาที่เป็นสื่อดิจิทัลมากกว่า โดยมีผู้ปกครองเข้าไปช่วยดูแลเด็กๆ ในการหากิจกรรมเสริมอื่นๆ ให้ลูกหลานทำนอกเหนือจากการอยู่กับโซเชียลมีเดีย

            “ปัจจุบันเนื้อหาที่อยู่ในสื่อดิจิทัลนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วิธีการที่จะดึงเนื้อหาในสื่อออนไลน์มาใช้นั้นจะต้องให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย หมายความว่า เวลาที่ลูกใช้งานผ่านสื่อออนไลน์ พ่อแม่จะต้องเข้ามาคอยดูแล ก็จะทำให้เข้าใจลูกหลานว่าอันที่จริงแล้ววิธีการเรียนการสอนของเด็กยุคใหม่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่จะต้องแทรกเข้ามาคือการสร้างกิจกรรม เช่น ทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เป็นต้นว่า การทำรายงานร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อทดแทนการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนทุกวันช่วงโควิด-19 กำลังระบาด ดังนั้นพ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ โดยเฉพาะบ้านไหนที่ลูกอายุต่ำกว่า 13 ปี และไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโตจนอายุ 13 ปี ในการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกวิธี ยกตัวอย่าง เด็กอายุดังกล่าวส่วนใหญ่จะชอบเล่นไอจีและเฟซบุ๊ก ตรงนี้ถ้าผู้ปกครองเข้าใจเด็ก และสอนให้เขารู้ว่าเวลาที่ลูกโพสต์สิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์อาจจะทำให้เกิดโทษและประโยชน์กับเขาอย่างไร และไม่ว่าจะทำอะไร พ่อแม่ก็สามารถดูหรือเช็กสิ่งต่างๆ ที่ลูกโพสต์ได้ โดยการเป็นเพื่อนกับลูกในโซเชียล ซึ่งอันที่จริงแล้วหมอไม่ห้ามที่เด็กจะเล่นสนุกในแอปพลิเคชันสำหรับเด็กต่างๆ แต่สิ่งสำคัญต้องย้อนกลับไปที่ผู้ปกครองจะต้องสอนให้เขารู้ว่า เมื่อไรที่เด็กควรเล่นโซเชียล หรือแม้แต่เล่นเกม เพราะเด็กควรมีกิจกรรมหรือหน้าที่รับผิดชอบประจำอื่นๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้เขาเป็นคนที่มีวินัย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ตกเทรนด์การเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์”

            ปิดท้ายกันที่ คุณผึ้ง-ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว จาก สสส. บอกว่า “ที่มาหรือรากของปัญหาเด็กได้รับผลกระทบจากสื่อดิจิทัลนั้น เกิดจากการที่ผู้ให้การเลี้ยงดูทิ้งให้เด็กเล็กอยู่กับมือถือนานเกินไป ไม่ได้ใช้เวลากับเด็กอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่มีภารกิจหน้าที่การงานรัดตัว ทำให้ไม่มีเวลาเล่นกับลูก หรืออ่านหนังสือให้ลูกหลานฟัง หรือแม้แต่การอ่านนิทาน ในวันเสาร์และอาทิตย์ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ได้ อาทิ การทำอาหารรับประทานร่วมกัน หรือพูดคุยกัน อาจทำให้เด็กมีโลกส่วนตัวสูง

“เชื่อว่าทุกครอบครัวต้องการเลี้ยงเด็กให้ดีและมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพียงปรับมุมมองการเลี้ยงดูเด็กใหม่ โดยการแบ่งเวลา มอบความรัก ความอบอุ่นให้เด็ก หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่การสอนการบ้านลูก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงทำให้พ่อแม่เข้าใจเด็ก แต่เป็นการป้องกันเด็กถูกกระทำรุนแรงผ่านสื่อออนไลน์อีกด้วย เพราะเด็กจะมีความรู้จากการที่ผู้ปกครองคอยสอนว่า ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ เขาจะมีอันตรายหรือป้องกันตนเองอย่างไร และข้อความแบบไหนบนโลกโซเชียลที่ไม่ปลอดภัยสำหรับลูก ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจะเป็นเกราะป้องกันช่วยให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ และค่อยๆ ลดการใช้เวลาในสื่อออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัยลง ประการสำคัญคู่มือการเลี้ยงลูกยุคใหม่นั้น ผู้ปกครองสามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีผู้เขียนเขียนให้เข้าใจง่ายในการเลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี แต่สิ่งสำคัญก็ต้องย้อนกลับไปที่การให้เวลากับลูกๆ

ในส่วนของเพื่อนและคุณครูจะมีส่วนในการช่วยเฝ้าระวังภัยจากโลกโซเชียลได้อย่างไรนั้น สำหรับคุณครูในโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มี “ชั่วโมงโฮมรูม” ซึ่งครูประจำชั้นได้พูดคุยกับเด็กๆ โดยการถามสารทุกข์สุกดิบของเด็กในชั้นเรียน รวมถึงการที่ให้ครูไปเยี่ยมบ้าน ก็จะทำให้ครูรู้ภูมิหลังของนักเรียน และรู้ว่านักเรียนแต่ละคนนั้นมีปัญหาอะไร เพื่อที่จะช่วยเฝ้าระวังภัยต่างๆ ร่วมกับนักเรียน และเด็กก็จะรู้สึกไว้วางใจครู เมื่อมีปัญหาก็จะปรึกษาครู แต่เมื่อมีนโยบายแล้วก็ควรมีการปฏิบัติตามสิ่งที่วางไว้อย่างดีเช่นกัน ส่วนของเพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อได้รับผลกระทบจากโลกโซเชียลนั้น ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เสริมกัน แต่สิ่งสำคัญ เมื่อเพื่อนช่วยเพื่อนแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ด้วย เช่น กิจกรรมที่ทาง สสส.ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมในลักษณะของการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ เป็นต้น แต่ข้อจำกัดในเรื่องนี้คือการที่อาจจะไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่สนับสนุนให้มีกิจกรรมนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องขยายผล เพื่อให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีการจัดกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กในโรงเรียน เพื่อป้องกันปัญหาเด็กได้รับผลกระทบจากสื่อออนไลน์หรือสื่อดิจิทัล”.

  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"