ทุบโต๊ะ!ล้มรื้อรธน. ‘ไพบูลย์’อ้างคำวินิจฉัยตุลาการฯตีเช็คเปล่าให้สสร.ไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

"ไพบูลย์" ชี้ร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ต้องตกไปเหตุขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ "ธนกร" เหน็บ "ปิยบุตร" นักกฎหมายขั้นเทพ นับวันตรรกะยิ่งวิบัติมาก เตือนระวังหมิ่นศาลรธน. ด้าน "อนุสรณ์" เผยถ้าได้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เราจะฉลอง 7 วัน 7 คืน เหมือนที่คณะราษฎรฉลองวันรัฐธรรมนูญ

    เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะผู้ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวว่า ตามที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ในตุลาการเสียงข้างมาก 8 ราย มีคำวินิจฉัยส่วนตนว่า พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐสภาย่อมมีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นอำนาจที่แตกต่างจากอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติตามปกติ เนื่องจากเป็นอำนาจสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย
    เขาชี้ว่าในกรณีเช่นนี้ รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด ไม่อาจใช้อำนาจนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานของประเทศ หรือดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการโอนอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไปให้องค์กรอื่นเป็นผู้กระทำการแทน (โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจเด็ดขาดอิสระจากรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ได้
        และคำวินิจฉัยส่วนตนปรากฏบทสรุปข้อ 3 “รัฐสภาเท่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการ โดยอาจแต่งตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ได้ แต่มิใช่มอบอำนาจให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำเนินการอย่างเป็นอิสระเด็ดขาดจากรัฐสภา เพราะที่มาของ ส.ส.ร.ดังกล่าวแม้จะเป็นอย่างเดียวกับการได้มาซึ่ง ส.ส. แต่ ส.ส.ร.ก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐสภา ดังนั้นเมื่อมี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงเพื่อมาทำหน้าที่เดียวกันอีก”
         นายไพบูลย์กล่าวว่า คำวินิจฉัยส่วนตนนี้ชี้ชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่สอง รอลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ได้บัญญัติให้รัฐสภามอบอำนาจให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำเนินการอย่างเป็นอิสระเด็ดขาดจากรัฐสภา จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ในตุลาการเสียงข้างมาก 8 ราย
         รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเผยว่า ได้แสดงความเห็นไว้ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ว่ารัฐสภายังไม่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะมีขึ้นต่อเมื่อประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นรัฐสภาจึงจะมีหน้าที่และอำนาจในจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่ต้องดำเนินการเอง ไม่สามารถมอบอำนาจให้ ส.ส.ร. มาดำเนินการแทนได้ตามร่างรัฐธรรมนูญที่รอพิจารณาในวาระที่ 3 ดังนั้นความเห็นส่วนตนจึงไม่สามารถโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
"ปิยบุตร"นักกฎหมายขั้นเทพ
     นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญช่วยยืนยันว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ขนาดยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ดังนั้น ประชาชนก็ย่อมยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกันว่า นับวันตรรกะนายปิยบุตรยิ่งวิบัติมาก ไม่เข้าใจว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาได้อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน
    "ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่าสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่ามีความประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คุณปิยบุตรเป็นนักกฎหมายขั้นเทพ อย่าใช้วาทกรรมทางกฎหมายดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ ระวังจะละเมิดอำนาจศาล ในอดีตมี ส.ส.ติดคุกเพราะละเมิดศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว"
    นายธนกรกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โกหกกลางสภาว่าจะสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ท่านนายกฯ ไม่เคยโกหก ท่านนายกฯ ยืนยันชัดเจนในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้นทุกอย่างควรเดินไปตามกระบวนการ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยไปก้าวล่วงอำนาจของสภา
    เขาระบุว่า ตนมองว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาตามมาอีก ซึ่งอาจจะทำให้การแก้ไขช้าไปบ้าง แต่ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ก็ควรทำ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านก็ไม่ควรมาโทษรัฐบาล หรือมาโทษ พล.อ.ประยุทธ์ไปทุกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทุกคน ขอให้เข้าใจด้วย
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก warong dechgitvigrom ระบุว่า หยุดตะแบง ทำไมภาษาไทยแค่นี้จึงตีความกันยากจัง ในเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเข้าใจไม่ยาก "รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
    แต่มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งพยายามสื่อว่า "สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา คือมาตรา 256 ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ จึงไม่ขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญ" แต่พวกท่านก็บอกประชาชนไม่หมดว่า แม้ท่านจะแก้ไขแค่มาตราเดียว แต่เจตนาการแก้มาตรานี้นั่นคือ การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันก็ขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยออกมานั่นคือ "รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" ให้ไปทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน ถ้ายังดื้อดึง คงมีบางคนต้องไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. อย่าว่ากันนะครับ
หลอกลวงประชาชน
    นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ต้องเคารพ เจตนารมณ์ประชาชน หยุดยื้อเวลา เพื่อสืบต่ออำนาจตน" ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจโหวตวาระ 3 เป็นไปตามญัตติ เพราะญัตติที่เรายื่นในรัฐสภาเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560
    เราถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการให้เสร็จสมบูรณ์ด้วยการโหวตวาระ 3 ที่ยังค้างอยู่ ในกระบวนการดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของรัฐสภา ไม่ควรมีใครขัดขวางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นตอของปัญหาประเทศต้องหยุดชะงัก หรือยื้อเวลาออกไป
    ขอเรียกร้องให้ประชาชนได้จับตาดูพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะมีท่าทีอย่างไร ในเมื่อประเด็นนี้ถูกจัดให้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการร่วมรัฐบาลของบางพรรค ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเสนอให้ การแก้ไข รัฐธรรมนูญ เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล
    ดังนั้น ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมยกมือโหวตผ่านวาระ 3 ย่อมเป็นการพิสูจน์ถึงความจริงใจของรัฐบาล ที่สะท้อนให้เห็นความไม่จริงใจ ความหลอกลวงประชาชนอย่างชัดเจนที่กระทำมาโดยต่อเนื่อง
    ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม กล่าวถึงความเห็นเกี่ยวกับการโหวตในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า ชัดเจนว่าความตั้งใจจริงของรัฐบาลไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ที่ก็ชัดเจนว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการแก้ไขกฎหมายนี้
    ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การออกมาของนายวิษณุจึงเป็นการพยายามตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นปัจจัยหลัก ไม่ได้ยึดในแนวทางกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีสมคบคิดเพื่อปกป้องอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าปกป้องประโยชน์ของประชาชน
    นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า การออกมาของนายวิษณุ จึงเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลโดยตรงไปยังเครือข่ายของคณะยึดอำนาจให้คว่ำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนที่โกหกประชาชนมาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จะพูดกลางสภาเมื่อครั้งการแถลงแนวนโยบายแห่งรัฐ ว่าจะเร่งศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการโกหกประชาชนกลางสภาเช่นกัน
    “ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล คงต้องถามว่ายังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของพรรคก่อนเข้าร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือในการตั้งเงื่อนไขการเข้าร่วมครั้งนั้นเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ดูดี เพราะหากยังคงร่วมรัฐบาล ก็เท่ากับว่าพรรคร่วมรัฐบาลยึดติดกับตำแหน่งทางการเมือง และพร้อมหักหลังประชาชน หากยังอยู่ร่วมรัฐบาล ก็เท่ากับพร้อมร่วมโกหกประชาชน และยึดติดเก้าอี้เสนาบดีมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน” นพ.ชลน่านกล่าว
ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม
    ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรมการ PRIDI Talks9 x CONLAB โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุด แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ความสัมพันธ์องค์กรของรัฐ
         ถามว่าขณะนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ เราจะเปรียบเทียบประเทศเรากับประเทศพม่า ซึ่งดีกว่า แต่ถามว่าทำไมต้องเปรียบเช่นนั้น เหตุใดไม่เปรียบเทียบว่าประเทศไทยต้องอยู่แถวหน้าของเอเชีย ต้องมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมแบบยุโรป
         นายอนุสรณ์กล่าวว่า วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ดูเพียงแค่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย คนเพียงไม่กี่คนเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้วให้บุคคลเหล่านี้มาเลือกนายกฯ และนายกฯ ไม่ได้มาจากประชาชน คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย อาจเป็นเผด็จการ คำพูดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชัดเจน วิธีการที่จะควบคุมประชาชนอย่างดีที่สุดคือค่อยๆ กีดกั้นเสรีภาพออกไปทีละเล็กทีละน้อย ทำลายให้หมดไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ประชาชนรู้ตัว
         ฉะนั้น หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ให้รัฐธรรมนูญปี 60 ต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อย่าหวังว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ระบบการปกครองที่ดี ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์ จะอ้างประชาธิปไตย หรืออ้างการเลือกตั้ง แล้วไปโกงทุจริตคอร์รัปชันก็ย่อมไม่ได้ เราก็ไม่เอา
       นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามข้อเรียกร้องของ ส.ว.คนหนึ่ง และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐคนหนึ่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืออำนาจของประชาชน ซึ่งถูกต้องแล้ว ถ้าวินิจฉัยต่างจากนี้จะประหลาดมาก นั่นหมายความว่าวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ รัฐสภาต้องเดินหน้าโหวตวาระสาม จะแก้ได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร เราจะสู้ในระบบ หาก ส.ว.คว่ำการแก้ไขวาระสามก็คือคว่ำเลย และประชาชนจะได้รู้ว่าแต่ละคนมีจุดยืนอย่างไร จะได้ทราบว่าพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแล้วเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ จะทำตามที่ประกาศไว้หรือไม่ เราจะได้เห็นกันชัดๆ
         เขากล่าวว่า คนจำนวนมากไม่มีความมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ เรามั่นใจว่าอย่างไรเสียโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะคว่ำสูงมาก แต่ไม่เป็นไร คว่ำก็คว่ำไป แต่เราจะรณรงค์ต่อสู้โดยมุ่งไปที่รัฐบาลจะต้องทำประชามติ ในเมื่อบอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนทำประชามติว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
         "ขณะนี้มีบางฝ่ายตีความว่าห้ามโหวตวาระสาม เกมนี้พอมองออกว่า ส.ว.จะงดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐก็อาจจะงดออกเสียง จนทำให้การโหวตวาระสามล่ม แล้วก็ว่ากันใหม่" นายอนุสรณ์กล่าว
จะฉลอง 7 วัน 7 คืน
        ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ กล่าวว่า ถ้ามองโลกในแง่ดี หวังว่าจะมี ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนร่วม เห็นแก่ความก้าวหน้า เห็นแก่ความเป็นประชาธิปไตย โหวตเดินหน้าวาระสาม ตนจะขอคารวะ แต่อยากถามว่าเชื่อหรือไม่ว่าจะมี ส.ว.แบบนั้น มีหรือไม่มี ไม่ทราบ แต่หวังว่าจะมีอยู่บ้าง
         "ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เราจะฉลอง 7 วัน 7 คืน เหมือนที่คณะราษฎรฉลองวันรัฐธรรมนูญ" ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีฯ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องเกิดจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 40 แม้ได้รับยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่การเลือก ส.ส.ร.ในครั้งนั้นก็ยังมาด้วยการเลือกตั้งทางอ้อม แต่คราวนี้ ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำงานแข่งกับเวลา เราต้องเสนอกรอบเวลา เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคนชอบซื้อเวลา โดยการส่งให้ศาลตีความ
        ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่มีบางคนระบุว่ามีปัญหา โดยเกิดการตีความคำว่า “ก่อน” ออกเป็นสองความหมาย คือ 1.ก่อนจัดทำรัฐธรรมนุญ หรือ 2.ก่อนตั้งแต่เริ่มเสนอวาระแรกในการจัดทำรัฐธรรมนนูญ ซึ่งอยากจะบอกว่าตามคำวินิจฉัยศาล หมายความว่าเมื่อผ่านวาระสามแล้วให้ไปจัดทำประชามติก่อนที่จะมีการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถูกแล้ว ไม่มีอะไรมาก แต่ก็ยังมีคนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่ากระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดไม่ได้เลย กับกลุ่มที่สอง คือไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. เพราะเป็นการตีเช็คเปล่าให้สามารถแก้หมวด 1-2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้อีก 38 มาตรา ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และอำนาจของพระมหากษัตริย์
        “ฝากถึง ส.ว.ที่กำลังจะลงมติในวันที่ 17 มีนา. ถ้ามั่นใจว่าเหตุผลดังกล่าวฟังขึ้น ก็ขอให้โหวตไปเลย แต่ต้องอธิบายต่อประชาชน ถ้าคิดว่าเหตุผลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าอ้างว่า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ใครก็ไม่รู้ได้เช็คเปล่าเปลี่ยนแปลงหมวด 1-2 และอีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ แปลว่าท่านรู้อยู่แล้วว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ท่านกำลังส่งสัญญาณแบบนั้น แต่ผมไม่รู้ว่าประชาชนคิดอะไร” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว
ออกแบบมาเพื่อเรา
        ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และเจตนาผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ต้องการให้กติกาเป็นกลาง โดยตอนแรกร่างเพราะ คสช.ต้องการเป็นกรรมการ แต่พอร่างเสร็จเรียบร้อยก็โดดลงมาเป็นผู้เล่น โดยเห็นชัดจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เคยพูดอย่างไม่เกรงกลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเรา ยิ่งกว่านั้น กระบวนการได้มาไม่เป็นกลาง หลายคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านประชามติมาแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าอ้างไม่ได้ เพราะถ้าย้อนไปดูการจัดทำประชามติ เห็นชัดว่าไม่ได้จัดทำประชามติอย่างเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งไม่ได้เปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย ดูจากมีการส่งข้อดีของรัฐธรรมนูญถึงตู้ไปรษณีย์ของแต่ละบ้าน ขณะเดียวกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกจับติดคุก
         เขากล่าวว่า การจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราควบคู่ไปด้วยนั้น ไม่ได้ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนั้นไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือรัฐประหารอะไรขึ้นระหว่างทาง ถ้าเกิดจริง เท่ากับเราจะได้กติกาเหมือนเดิม
         อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจอาจจะตั้งแง่เกี่ยวกับคำถามประชามติว่า การโหวตเห็นชอบหลังวาระที่สามคือการโหวตรับร่างแก้ไข ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการรับหลักการว่าควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเป็นการรับร่างแก้ไขที่ระบุรายละเอียดไปแล้วว่าต้องมี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ถ้าจะไม่ยอมรับว่าเป็นคำถามเดียวกัน เราสามารถตั้งเป็นคำถามพ่วงได้ กล่าวคือคำถามแรก ถามว่ารับร่างแก้ไขที่ผ่านสภามาหรือไม่ และคำถามที่สอง ถามว่าเห็นด้วยกับการรับหลักการจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
       นายพริษฐ์กล่าวด้วยว่า ขอเสนอให้มีการแก้ไขรายมาตราควบคู่ไปด้วย โดยการยุบวุฒิสภา ให้เหลือสภาเดี่ยว คือสภาผู้แทนราษฎร รีเซตที่มาศาลและองค์กรอิสระ รวมถึงตัดเรื่องยุทธศาสตร์ออก อย่าให้ คสช.นำเรื่องนี้ไปเร่งงานฝั่งตรงข้ามได้ หากมีการพลิกขั้วอำนาจ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"