ศาลรธน.นัดถกด่วน เคาะคำวินิจฉัยกลางก่อน17มี.ค./พปชร.-ปชป.หารือท่าที


เพิ่มเพื่อน    

  จับตา! ตุลาการศาล รธน.นัดประชุมด่วนจันทร์นี้   เขียนคำวินิจฉัยกลางหวังให้ทันก่อนรัฐสภาโหวตวาระสาม 17 มี.ค. แต่จะไม่เขียนว่าทำประชามติหลังโหวตวาระสามได้หรือไม่   "กุนซือชวน" ยืนยันเดินหน้าโหวตแก้ไข รธน.วาระ 3 "พปชร.-ปชป." รอประชุมพรรค 16 มี.ค.นี้ก่อนแสดงจุดยืน แต่ ภท.ย้ำเดินหน้าโหวตวาระ 3 โฆษกเพื่อไทยจวก ส.ว.- ส.ส.รัฐบาลสมคบคิดไม่แก้รธน. ขู่ปลุก ปชช.ให้ตื่นรู้ คนเดือนพฤษภา 35 อัดรัฐบาลหมดความชอบธรรม เตือน "3 ป." อย่าประมาท ปชช. จะซ้ำรอยเมียนมา

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม แหล่งข่าวจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่งในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน เปิดเผยว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมด่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค.นี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อร่วมหารือเป็นกรณีพิเศษ ในการจัดทำคำวินิจฉัยกลางในคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทางศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. แหล่งข่าวจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า เบื้องต้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคุยกันนอกรอบหลายคน ยอมรับว่าแปลกใจและคาดไม่ถึง ที่หลังมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วมีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งส.ส., ส.ว., นักวิชาการ, นักกฎหมาย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มติศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยความเห็นที่แตกต่างกันมาก ทำให้ เบื้องต้นตุลาการคุยกันว่าจะทำคำวินิจฉัยกลางออกมาให้เร็วที่สุด ภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อนำไปเผยแพร่โดยเร่งด่วน โดยหากเป็นไปได้ ก็จะพยายามเร่งทำออกมาให้ทันก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 17 มี.ค.นี้ ที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม เพื่อจะได้พอเป็นแนวทางให้สมาชิกรัฐสภาได้ศึกษาก่อนการพิจารณาดำเนินการใดๆ
    "มติดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนเพียงพอแล้ว แต่เมื่อยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่ของบุคคลหลายฝ่าย การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันจันทร์นี้ ที่ประชุมก็จะนำคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน โดยเฉพาะเสียงข้างมาก 8 เสียงมาวางแนวเขียนคำวินิจฉัยกลางออกมา ซึ่งยอมรับว่าใน 8 เสียงเอง ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดกันอยู่ แต่วงประชุมเราจะคุยกันให้สะเด็ดน้ำ แล้วเร่งเขียนคำวินิจฉัยกลางออกมาโดยเร็ว" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งระบุ
    แหล่งข่าวผู้นี้กล่าวอีกว่า คำวินิจฉัยกลางที่จะออกมา เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการระบุว่าการทำประชามติต้องทำในช่วงก่อนรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก หรือให้ทำหลังรัฐสภาผ่านวาระสามไปแล้วถึงค่อยไปทำประชามติ เพราะการวินิจฉัยคำร้องคดีดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นญัตติตามที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันมาเท่านั้น ศาลจึงวินิจฉัยตอบไปว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ไม่มีปัญหาข้อถกเถียงกัน ก็มีความเป็นไปได้ ที่ตุลาการศาล รธน.อาจจะพยายามเขียนคำวินิจฉัยกลางออกมาเพื่อให้รู้เป็นแนวว่าการทำประชามติ ควรทำช่วงไหน
    "ต้องยอมรับว่ากระบวนการที่รัฐสภาทำตอนนี้ว่าไปแล้วมันไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำสองขยัก คือแก้ 256 ด้วย และให้ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย ซึ่งหากจะนำร่างที่รัฐสภาทำอยู่ไปถามหลังผ่านวาระสาม มันคือการทำไปก่อนแล้วถึงค่อยไปถามประชาชนทีหลัง พูดกันตรงๆ เหมือนศรีธนญชัย เพราะมันไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการแก้ 256 เพื่อให้ไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มายกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ใช่การแก้เล็กน้อย แต่มันคือการร่างใหม่เลย ยกตัวอย่างไปเขียนไว้หมดแล้วว่า ส.ส.ร.ให้มาจากไหน คือไปทำเสร็จมาก่อนแล้วค่อยไปถามประชาชนทีหลัง แบบนี้มันใช่การแก้ไขรายมาตราหรือไม่ เพราะมันคือการแก้เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ" แหล่งข่าวตุลาการศาลรธน.รายหนึ่งระบุ
"ชวน"เดินหน้าโหวตวาระ 3
    มีรายงานว่า มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ในคำร้องคดีดังกล่าว พบว่า 1 เสียงที่เป็นเสียงข้างน้อยคือนายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา แม้จะเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย แต่เป็นเสียงข้างน้อยที่ลงมติว่า ไม่สามารถแก้ไขมาตรา 256 ได้ เพราะมาตรา 256 เป็นบทบัญญัติเพื่อให้แก้ไข รธน.รายมาตราเท่านั้น ไม่ใช่มาแก้ไขเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ จึงลงมติว่าไม่สามารถแก้มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การร่าง รธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับใหม่ได้ ให้ทำได้แค่แก้รายมาตราเท่านั้น  
    ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะไม่นัดประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่ายคือวุฒิสภา ตัวแทน ส.ส.ฝ่ายค้านและตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อตกลงถึงกรอบการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 17 มี.ค.นี้ เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....แล้ว เนื่องจากนายชวนเคยให้สัมภาษณ์แล้วว่าจะเดินหน้าพิจารณาไปตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ดังนั้นในวันที่ 17 มี.ค. ตามวาระคือการลงมติวาระสามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ส่วนกรณีที่จะมีผู้ที่ยกประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหารือนั้นเป็นสิทธิที่ทำได้
     "ในความเห็นของคณะทำงานพิจารณาด้านกฎหมายของประธานรัฐสภานั้น ได้ทำความเห็นและสรุปว่าการลงมติของรัฐสภาในวาระสามนั้นสามารถทำได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้คือการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องนำไปทำประชามติถามประชาชนก่อน ดังนั้นตามขั้นตอนปฏิบัติของรัฐสภาต้องยึดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากรัฐสภาไม่ลงมติตามขั้นตอนจะมีผู้ยื่นฟ้องร้องได้ ส่วนการลงมติของรัฐสภาจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแต่ละบุคคล" นพ.สุกิจกล่าว
    ส่วนกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ชะลอการลงมติวาระสามเพื่อรอคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น นพ.สุกิจ กล่าวว่า ในหลักการสามารถเสนอได้ แต่การปฏิบัตินั้นต้องยึดรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าหลังจากผ่านวาระสองแล้วต้องทิ้งไว้ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติวาระสาม และแม้จะครบ 15 วันในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่การนัดประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.นั้น เพราะเป็นความเห็นจากที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย
    ร.อ.ธรรมนัส? พรหม?เผ่า? รมช.?เกษตร?และ?สหกรณ์? ในฐานะรองหัวหน้า?พรรค?พลัง?ประชา?รัฐ ?(พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศจุดยืน?ลงมติในวาระ 3 ในร่างแก้ไข รธน.ว่า? ส่วนตัวไม่มีความคิด?เห็นในเรื่องนี้? เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลเป็นคนดูแล? เราจะไม่ก้าวก่ายการ?ทำงานซึ่งกันและกัน? ในส่วนของพรรค พปชร.? จะมีการประชุมในวันอังคารที่ 16 มี.ค.2564 ณ ที่ทำการพรรค? ที่ประชุมเห็นว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น? และอย่ามองไปไกลว่าเป็นประเด็นความขัดแย้งรอบใหม่ของพรรคร่วมรัฐบาล
ยันรัฐบาลหนุนแก้ รธน.
    นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองเพื่อการสืบทอดอำนาจว่า นายวิษณุไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณใดๆไปยังใครให้คว่ำญัตติแก้ไข รธน.วาระ 3 แต่เป็นการตอบคำถามสื่อในเรื่องที่เป็นไปได้เท่านั้น การแก้ไข รธน.เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว หมอชลน่านก็เป็น ส.ส. จึงไม่ต้องกังวล ขอย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบอกแล้วว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมจะสนับสนุนในเรื่องต่างๆ และงบประมาณการทำประชามติ นายกฯ ไม่เคยสั่งการใดๆ พรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้วในเรื่องของการแก้ไข รธน. เพราะถือเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลจะพิจารณากันเอง
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการยื้อเวลาอะไร หรือต้องการสืบทอดอำนาจอะไร เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่การแก้ไข รธน.ควรเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล
        นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุหากสมาชิกรัฐสภาใดโหวตรับแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะร้อง ป.ป.ช.เอาผิดทันที ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าเอือมระอาอย่างยิ่ง เพราะนายศรีสุวรรณทำตัวเป็นนักร้อง ร้องไปทั่วอยากเตือนว่าก่อนจะขู่ใคร ให้ระมัดระวังตัวเองดีกว่า เพราะขาข้างหนึ่งอาจไปอยู่ในคุกแล้ว เนื่องจากกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ สิ่งที่นายศรีสุวรรณกำลังทำอยู่ถือเป็นการข่มขู่คุกคามฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าลืมว่า ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนมีสิทธิ์ในการโหวตรับร่างกฎหมายหรือไม่ อย่างเป็นอิสระ การระบุว่าจะดำเนินคดีเช่นนี้เสมือนเป็นการข่มขู่ ส.ส.และส.ว. ทำให้ขาดความอิสระในการตัดสินใจลงมติหรือไม่
     นายภราดร ปริศนานันทกุล  ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยเคารพและพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีเจตนารมณ์ในการที่จะแก้ไข รธน.โดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง  ดังนั้นกระบวนการใดที่จะฉุดรั้งการแก้ รธน.ให้ยุติลง ทางพรรคภูมิใจไทยขอปฏิเสธทุกแนวทาง และพร้อมเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติ หลังการพิจารณาวาระ 3 ก่อนที่จะมี ส.ส.ร. วันนี้นายชวนได้บรรจุระเบียบวาระและนัดประชุมแล้ว จึงต้องเดินหน้าต่อไป เป็นอื่นไม่ได้
"เทพไท"ยุ ปชป.ถอนตัว
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเอกภาพในการลงมติในวาระ 3 ก็ถือว่าเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เป็นการหลอกลวงและหักหลังประชาชน รวมถึงหักหลังพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองด้วย ทั้งที่ญัตติการแก้ไข รธน. เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ถ้าญัตตินี้ถูกตีตกไป พรรคร่วมรัฐบาลก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน โดยเฉพาะ ปชป. ในฐานะที่ชูประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขหลักของการเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะต้องทบทวนเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน   
     ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สำนักโฆษกพรรค ปชป.ไม่ได้เปิดห้องแถลงข่าวให้ทำการแถลงเหมือนทุกครั้ง นายเทพไทจึงแถลงถึงจุดยืนพรรคที่ลานพระแม่ธรณีฯ กับสื่อมวลชนแทน
    ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป. กล่าวตอบโต้นายเทพไทว่า พรรค ปชป.ยังไม่มีมติใดที่ชัดเจนตามที่นายเทพไทระบุ เพราะต้องรอหารือ ส.ส.ของพรรคในวันที่ 16 มีนาคม เวลา 14.00 น.อีกครั้ง ส่วนที่นายเทพไทระบุว่าหากพรรคพปชร.ลงมติไม่เห็นชอบ ปชป.ต้องพิจารณาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลนั้น ถือเป็นคนละเรื่อง เนื่องจากการลงมติใดๆ ต่อการแก้ไขรธน.วาระ 3 นั้น ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลร่วมด้วย นายจุรินทร์ระบุว่าสนับสนุนการแก้ไข รธน. แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัย เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลแล้วจำเป็นที่ต้องนำเนื้อหาพิจารณาก่อนตัดสินในทิศทางการลงมติวาระ 3 ในส่วนของพรรค
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. เปิดเผยว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ได้นัดประชุม ส.ส. ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 13.00 น. เพื่อพิจารณาเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ในเรื่องการลงมติวาระ 3 ในญัตติแก้ไข รธน. ส่วนของพรรคมีความชัดเจนในเรื่องการแก้ไข รธน.มาตั้งแต่ต้น ไม่มีความกังวลในส่วนของการลงมติในวาระที่ 3 พรรคได้มีมติไปแล้วว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไข รธน. ส่วนในการประชุมร่วมรัฐสภา หากมีการลงมติพร้อมเดินหน้าตามหลักการที่ได้เคยประกาศไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า พบคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียดว่าด้วยการโอนอำนาจให้กับ ส.ส.ร. จัดทำ รธน.ทั้งฉบับที่ระบุว่าไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าในคำวินิจฉัยกลางของตุลาการจะมีประเด็นที่เป็นรายละเอียด ดังนั้นการลงมติวาระ 3 ควรรอไปก่อนจะมีคำวินิจฉัยกลางเผยแพร่ เพราะการลงมติในวาระ 3 จะเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนด ทั้งนี้ ส.ว.ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงมติตามเหตุและผล รวมถึงพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลที่ชัดเจนด้วย
    น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.คำนึงถึงการเดินหน้าประเทศ ซึ่งมีรธน.เป็นเหมือนกุญแจดอกสำคัญ แต่การที่มี ส.ว.และ ส.ส.บางคนออกมาข่มขู่ว่าถ้ามีการโหวตรับร่าง จะประท้วงและยื่นเรื่องตีความว่าขัดคำสั่งศาล สะท้อนว่าทั้ง ส.ว.และ ส.ส.รัฐบาลมีการสมคบคิดและพยายามไม่ให้เกิดการแก้ไข รธน.ปี 60 ทั้งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาบ้านเมืองมากมาย แต่กลับเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เมินเฉยความต้องการของประชาชนที่ต้องการหลุดพ้นออกจากกับดักประเทศนี้  
    ส่วนการลงประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก็สามารถทำได้ หลังผ่านวาระ 3 ถ้า ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังเดินเกมนิ่งเฉยต่ออำนาจประชาชน พรรคเพื่อไทยจะทำหน้าที่ให้เห็นว่าอำนาจที่แท้จริงของประชาชนเป็นอย่างไร ด้วยการร่วมสร้างกระบวนการรับรู้และตื่นรู้ในภาคประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น
เตือนขัดแย้งรอบใหม่
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดาหน้าออกมาตั้งป้อมเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ยอมให้แก้ถือเป็นตราบาปและมหาวิกฤติศรัทธา ประชาชนจึงหันไปถามพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะร่วมกันพายเรือให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งไปอีกนานแค่ไหน หาก พล.อ.ประยุทธ์ประเมินว่าการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่อ่อนกำลังลง จะยื้อการแก้ไข รธน.ออกไปนานแค่ไหนก็ได้ อาจคิดผิด สถานการณ์มีสิทธิ์พลิกผันจากปัจจัยที่รัฐบาลเบี้ยวแก้ไข รธน. กลายเป็นการเผชิญหน้าและความขัดแย้งรอบใหม่ที่ถูกยกระดับขึ้นมา
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “คนเดือนพฤษภา 2535 สภาที่ 3” ได้จัดเสวนาเรื่อง "จาก รสช. คปค.คมช.ถึง 3 ป. มรดกรัฐประหารที่ตกค้างในแผ่นดินไทย” นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองเราที่ผ่านการรัฐประหารจาก คสช. และมาสู่ความเลวร้ายและล้มเหลวในทุกด้าน รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป เกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์และพวก ถือปืนเข้ามายึดอำนาจ ประเทศยังไม่เกิดความสามัคคีปรองดอง และทำตรงข้ามโกหกหลอกลวงและสร้างความแตกแยก ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้ต่อไป แม้แต่องค์กรอิสระอยากเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าสลายความเป็นสีเสื้อแล้วมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามประชาชนคนไทย ลุกขึ้นมาร่วมกันแสดงพลังให้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะได้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วหมด
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.เชื่อว่า รัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะเป็นกลไกเดียวที่สามารถต่ออายุของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ ในการลงมติวาระ 3 เชื่อว่า ส.ว.จะลงมติเห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่ รธน.กำหนดไว้ ดังนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าอ้างว่า ส.ว.มีอิสระ ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งมา ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนต่อการเดินหน้าแก้ไข รธน. มีทางเดียวที่จะทำสำเร็จได้คือ สามัคคีประชาชน เอา พล.อ.ประยุทธ์ออกไป ถึงจะแก้รัฐธรรมนูญ และแก้ปัญหาประเทศได้
    นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2535 กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องให้ประชาชนทำประชามติ ตอนนี้ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแค่เป็นการแก้ไขมาตรา 256 คือการออกแบบกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการร่างฉบับใหม่ยังไม่เกิด และจะเกิดขึ้นได้เมื่อวาระสามผ่านและหลังจากประชามติ ดังนั้นรัฐสภาอย่าตัดสินใจแทนประชาชน อย่าอ้างเหตุผลเพราะมีธงคว่ำรัฐธรรมนูญ การลงมติในวาระ 3 เป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงในประเทศไทย ที่ลุกลามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
    นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเตือน พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือกลุ่ม 3 ป. อย่าละเลยกระแสการแก้ไข รธน.และมีศาลรัฐธรรมนูญมากำกับ รวมถึงประมาทพลังประชาชน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศเมียนมาได้ เพราะทหารประมาทประชาชน หากประชาชนที่มีข้อเรียกร้องแก้ รธน. และให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ถอนประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ออก จะเหลือความเห็นที่ตรงกัน สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ได้ ประชาชนต้องกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และ 2 เรื่องคือปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการศึกษา.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"