ตอกฝาโลงวาระสาม ศาลชี้ร่างแก้ไขรธน.ฉีกทั้งฉบับต้องนับหนึ่งใหม่


เพิ่มเพื่อน    

  ตอกฝาโลงหมดสิทธิ์โหวตวาระ 3 แล้ว “ศาลรัฐธรรมนูญ” ออกคำวินิจฉัยกลางชี้ชัด ร่างแก้ไขมาตรา  256/1 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญ  2560 ถือเป็นสาระสำคัญทำไม่ได้ เพราะประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนาได้ทำประชามติไปแล้ว หากจะแก้ไขต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ นักการเมืองยังเสียงแตกเดินทางไหน  “ปารีณา” ชงผ่าทางตันถอนวาระในการประชุม 17 มี.ค.

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม นายวรวิทย์ กังศศิเทียม  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เรียกประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหารือเป็นกรณีพิเศษจัดทำคำวินิจฉัยกลางที่  4/2564 ในคำร้องคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 260  วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ไปเมื่อวันที่ 11  มี.ค. และได้เผยแพร่คำวินิจฉัยสรุปย่อผ่านข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2564 เพียง 4 บรรทัด ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว  ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง”
คำวินิจฉัยย่อดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตีความอย่างมาก โดยเฉพาะในการพิจารณาลงมติในวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา  256 และเพิ่มหมวด 15/1) ที่บรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันพุธที่  17 มี.ค.นี้จะดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร
ล่าสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการออกคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 12 หน้า โดยสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่หน้า 5 ที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบของประเทศ องคาพยพในการบริหารกิจการบ้านเมือง และความสัมพันธ์ขององคาพยพดังกล่าว ที่สำคัญเป็นเสมือนสัญญาประชาคมที่จะยอมให้รัฐมีบทบาทในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากน้อยเพียงใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใด แต่โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างและกลไกทางการเมืองอันถือเป็นกติกาของสังคมหรือกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมของประเทศนั้น ๆ และถือเป็นกฎหมายที่ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้คนในสังคมรุ่นใหม่สามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญย่อมเล็งเห็นถึงความเป็นพลวัตของรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเอง โดยการกำหนดให้มีองค์กรผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่มีลักษณะอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มีหลักการสำคัญ กระบวนการจัดทำ และการประกาศใช้บังคับปรากฏในคำปรารภ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 ในมาตรา 255 และ 256 ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้นเป็นการกำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็น 2 ระดับ 3 ลักษณะ คือ ระดับที่ 1 สำคัญมากจะกำหนดให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก และระดับที่ 2 ไม่มีผลกระทบต่อรูปแบบของรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองมากนัก จะกำหนดให้แก้ไขได้ในระดับที่ยากกว่าปกติ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเป็นสำคัญ
แจงยิบหลักแก้ไข รธน.
ส่วน 3 ลักษณะนั้น ลักษณะที่ 1 ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ลักษณะที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้ 1)  หมวด 1 บททั่วไป 2) หมวด 2 พระมหากษัตริย์ 3) หมวด  15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4) เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ  ตามรัฐธรรมนูญ และ 5) เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจได้ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน เป็นผู้เสนอ แล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วย และลักษณะที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นใดต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ดังนั้น หลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 มิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเด็ดขาด ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามมาตรา 256 (1)  ถึง (9) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 156 (15) โดยกำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยเคร่งครัดว่ากรณีใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยเด็ดขาด ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 หรือกรณีใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 256 (8)
การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)  พุทธศักราช...ทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาตามมาตรา 256 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น  โดยมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา  256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้นั้น เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 156 (15) บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาในกรณีดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการทำหน้าที่ในกระบวนนิติบัญญัติทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ กล่าวได้ว่าแม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
ฉีกรัฐธรรมนูญ 2560
“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
คำวินิจฉัยกลางสรุปว่า อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
    ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันก็มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยนายวิษณุ? เครืองาม? รองนายกรัฐมนตรี? ให้สัมภาษณ์ว่า "ขอให้รอคำวินิจฉัยกลางจะดีที่สุด ขอให้เชื่อเถอะ ว่าขอให้อดใจ อย่ามัวมาเถียงกัน? ทะเลาะกัน ขอให้รอฟังคำวินิจฉัยกลางเสียก่อน ซึ่งจะมีความชัดเจน ซึ่งเขาก็นั่งฟังกันอยู่ว่าที่ออกมา 4 บรรทัด แล้วทุกคนเถียงกันทั้งบ้านทั้งเมือง เขาก็ต้องตอบออกมาให้ได้ว่าความชัดเจนนั้นคืออะไร ต้องรอฟังอย่าไปเถียงกันอยู่เลย"
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรค  พปชร.ในการประชุมวาระ 3 ว่า "ไม่รู้จะแสดงจุดยืนอย่างไร จะไปรู้ได้อย่างไร เป็นเรื่องของสภา ต้องไปถามสมาชิกพรรค พปชร.ทุกคน ซึ่งส่วนตัวไม่มีความคิดเรื่องนี้ ให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการ คือถ้าสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้มีการทำประชามติก่อน แต่ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่เป็นไร"
    ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวยืนยันว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มี.ค. ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม จึงยังเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3  
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชวนนัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ วุฒิสภา ฝ่ายค้าน และฝ่ายร่วมรัฐบาลในวันที่ 16 มีนาคม เวลา 10.00 น. เนื่องจากกระแสความเห็นที่แตกต่างในคำวินิจฉัยของศาล โดยเชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งทำคำวินิจฉัยกลางออกมาให้ได้ก่อนวันที่ 17 มี.ค.
'เอ๋' ชงถอนวาระ
ขณะที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร.ยื่นหนังสือถึงนายชวนผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ถอนวาระการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกจากการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. โดย น.ส.ปารีณาระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อน ดังนั้นที่ประชุมรัฐสภาควรปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาล ถ้าเดินหน้าพิจารณาต่อจะมีปัญหาแน่ โดยจะไปร้องต่อ ป.ป.ช.เอาผิดกับสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติวาระ 3 ทำผิดกฎหมายและจริยธรรม
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า ในวันที่ 17 มี.ค.จะเกิดการถกเถียงในที่ประชุมรัฐสภาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงประเด็นว่าจะลงมติวาระ 3 หรือไม่ด้วย เพราะได้รับข้อมูลมาทั้ง 2 ฝ่าย และมีความเป็นไปได้ที่อาจเลื่อนการพิจารณาออกไป เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้
    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้  ส.ว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภาได้ติดตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา เพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจต่อไป ส่วนการลงมติอย่างไรเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและใช้วิจารณญาณด้วยตัวของตัวเอง โดยปราศจากการครอบงำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
    ต่อมาภายหลังมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง นายคำนูณให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า คำวินิจฉัยกลางมีความชัดเจนมาก โดยเฉพาะ 3 ย่อหน้าสุดท้าย ศาล รธน.บอกว่าหมวด 15 ของ รธน. 2560 ให้อำนาจแค่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่การที่รัฐสภามีการแก้ไขมาตรา 256 และนำมาสู่การงอกหมวด 15/1 ใหม่ ในวาระ  1-2 เป็นการนำไปสู่จัดทำ รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ย่อมเป็นการยกเลิก รธน.ฉบับ 2560 ซึ่งหากรัฐสภาต้องทำเช่นนี้ จำเป็นต้องถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รธน.ก่อน ในขั้นตอนประชามติว่าเห็นควรให้จัดทำ รธน.ใหม่หรือไม่ ส่วนตัวจึงเห็นว่าการลงมติในวาระ 3 จึงไม่สามารถกระทำได้
    ส่วนนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า วันที่ 16 มี.ค.พรรคนัดประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อหารือถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ  3 ที่รัฐสภานัดลงมติวันที่ 17 มี.ค.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรทำความชัดเจนก่อนสภาลงมติในวาระ 3 น่าจะเป็นทางเดินที่ดีที่สุดเพื่อลดปัญหา ขณะที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องยึดมั่นในสิ่งที่แถลงนโยบายกับสภาเหมือนผู้นำในต่างประเทศเขาทำกัน โดยอยากเห็นไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล  แสดงท่าทีที่จริงจัง เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่การจัดทำรัฐธรรมนูญมีเหตุต้องสะดุดหยุดลง ล้วนมาจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  (พท.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันจะเดินหน้าโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้ทั้งฉบับ จึงไม่ต้องทำประชามติก่อนแก้ไข หากผ่านวาระ 3 ค่อยไปทำประชามติ
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อยากเห็นทุกพรรคการเมืองไม่ว่าเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ได้รับปากกับประชาชน โดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องวาระ 3 นั้นต้องโหวตอยู่แล้ว เป็นเรื่องของสภา ยืนยันว่าต้องโหวตวาระ 3 แต่มีความกังวลใจอย่างยิ่งถ้าการโหวตรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เราไม่เห็นว่าจะมีกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อจะหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ทุกคนได้อย่างไร และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกผลักออกไป ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเดือดดาล ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสันติในสภาเป็นไปไม่ได้ เราจะติดตามดูท่าทีของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลในสภาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"