เดือด!หักคว่ำรธน. ภท.อัดยับสภาศรีธนญชัยปลิ้นปล้อนปล่อยพล่ามกว่า10ชม.


เพิ่มเพื่อน    

  “รัฐสภา” ถกร่างแก้ไข รธน.วาระ 3 ดุช่วงค่ำ หลังอภิปรายยื้อยาวนานเกิน 10 ชั่วโมง “พลังประชารัฐ” แทงข้างหลัง ชงญัตติเอาเรื่องด่วนขึ้นมาพิจารณาก่อน หลังปล่อยให้พ่นน้ำลายตลอดวันตามธงตัวเองพร้อมชงญัตติพรึ่บ ร่อนตะแกรงสุดท้ายเหลือแค่ “ไม่โหวต-เลื่อน-โหวต” แต่ก็สะดุดหัวทิ่มไปตามกัน “ภูมิใจไทย” เดือดไม่ร่วมสังฆกรรมวอล์กเอาต์ ซัดพวกฉ้อฉลศรีธนญชัยปลิ้นปล้อนยิ่งกว่าสภาโจ๊ก

เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคม มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยในระเบียบวาระจะมีการพิจารณารณาเรื่องด่วนในการลงมติวาระที่สาม ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1  
    โดยก่อนการประชุม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคว่า ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เพราะเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของปัจเจกพรรค
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ปชป.จะเข้าร่วมการประชุมวิปรัฐบาล และจะนำเสนอความคิดเห็นเพื่อขอเสียงสนับสนุน โดยจะเสนอญัตติขอมติที่ประชุมรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ 1.ขอบเขตของอำนาจรัฐสภาในการโหวตวาระ 3 ว่าทำได้หรือไม่ และ 2.รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีหมวด 15/1 ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
    ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้า ปชป. กล่าวเสริมว่า นอกจาก 2 ประเด็นแล้ว จะขอให้วินิจฉัยว่าการจัดทำประชามติต้องจัดทำในช่วงใดกันแน่ ระหว่างทำประชามติก่อนโหวตวาระที่ 1 หรือทำประชามติหลังจากโหวตวาระที่ 3 ไปแล้ว
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ฝ่ายค้านยังยืนหยัดท่าทีเดิม และน้อมรับคำวินิจฉัยของศาล ที่ให้เคร่งครัดและระมัดระวังตามมาตรา 256 แต่ยืนยันโหวตวาระ 3
ทั้งนี้ ก่อนประชุมรัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ประชุมร่วมกับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนออกคำแถลงว่า 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันเดินหน้าลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ในวาระที่ 3 2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีข้อความใดเลยที่ห้ามการลงมติในวาระที่ 3 เพียงแต่บอกว่าหากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ลงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนเท่านั้น 3.ในกรณีที่รัฐสภามีมติเป็นอย่างอื่นโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (6) อาทิ ถอน เลื่อน หรือทำให้ญัตติต้องตกไปโดยประการใด พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้หารือถึงมาตรการที่ต้องดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป และ 4.ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนติดตามการประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเคยสัญญาต่อพี่น้องประชาชนว่าจะดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย
ชงญัตติหลังเปิดประชุม
    และในเวลา 09.55 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เปิดประชุม โดยเริ่มต้นด้วยการให้นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2564 ก่อนเข้าสู่วาระเร่งด่วน โดยนายชวนให้สมาชิกอภิปรายเพื่อหารือหาทางออกเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 15 มี.ค.
       โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอว่า การโหวตวาระที่สามไม่สามารถทำได้ และจะเก็บต่อไม่ได้ กระบวนการจัดทำต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภา ยื่นญัตติของจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ แล้วส่ง ครม.เพื่อนำไปจัดทำประชามติ และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกระทำโดยรัฐสภาตั้งกรรมาธิการเท่านั้น ไม่ใช่ทำโดย ส.ส.ร.  
    นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของ ส.ว.และฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาก็มีความเห็นว่าไม่อาจลงมติวาระที่สามได้ จึงขอเสนอญัตติขอให้รัฐสภา ลงมติไม่สามารถดำเนินการลงมติในวาระที่สามได้ เพราะต้องทำไปตามคำวินิจฉัย  
    ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวว่า ฝ่ายค้านตั้งใจแรงกล้าจะเดินหน้าลงมติวาระที่สาม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เป็นฝ่ายเสนอ แต่วันดีคืนดีก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อเราอ่านคำวินิจฉัยของศาลและมองในอีกมุมหนึ่ง อยากถามว่าตรงไหนที่ศาลบอกว่าไม่ให้ลงมติวาระที่สาม สมาชิกรัฐสภาบางคนอาจอ้างฝ่ายกฎหมาย แต่นั่นก็เป็นเพียงฝ่ายกฎหมาย ถ้ารัฐสภาไม่ผ่านกฎหมาย อยากถามว่าใครจะทำ ถ้าไม่อยากแก้ไขก็บอกว่าไม่อยากแก้ไข  
    นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารไม่มีใครคัดค้าน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ 3 ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย
     ส่วนนายจุรินทร์หารือว่า เพื่อเป็นทางออกและทำให้รัฐสภาสามารถแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้ ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 31 ให้ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่รัฐสภาอีกครั้ง ใน 4 ประเด็น คือ 1.ร่างที่พิจารณากันอยู่ เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพราะศาลยังไม่ได้ชี้ชัดสถานภาพว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างจัดทำใหม่กันแน่ 2.คำวินิจฉัยศาลให้ทำประชามติเสียก่อนนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจัดทำตอนไหน ระหว่างก่อนโหวตวาระที่หนึ่ง หรือหลังโหวตวาระที่สาม 3.การทำประชามติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 2 มาตรา คือมาตรา 166 ให้ ครม.จัดทำประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และมาตรา 256 (8) ในการแก้ไขเพิ่มเติมหลังผ่านวาระที่สามแล้วให้ทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในการจัดทำประชามติ นอกเหนือจากนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตราใด และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจะตกทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งจะนำสู่การตัดสินใจว่าจะลงมติในวาระที่สามได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เรากำลังวินิจฉัยยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว
“ขอได้โปรดที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 4 ประเด็น โดยอาจให้วิป 3 ฝ่ายยกร่างญัตติขึ้นมาโดยอาศัยประเด็นข้างต้น จากนั้นขอมติที่ประชุมเพื่อยื่นญัตติดังกล่าวร่วมกันต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น” นายจุรินทร์กล่าว
ในเวลา 11.30 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนญัตติของนายสมชาย พร้อมแก้ไขคำเสนอของญัตติดังกล่าวที่ถูกทักท้วงว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจ เป็นว่า "ให้ที่ประชุมไม่ให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระสาม?โดยเหตุผลขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564”  โดยมี ส.ว.รับรองครบตามจำนวน ทำให้ญัตติของนายเสรีเป็นญัตติลำดับที่ 3
ดันญัตติโหวตวาระ 3
     ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. เสนอญัตติว่าให้รัฐสภาทำหน้าที่ลงมติวาระ 3 ต่อไป ตามมาตรา 256 เพราะเห็นว่าทำต่อได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นทำได้ อย่าปิดกั้นอำนาจประชาชน ถ้าไปปิดกั้นอาจเกิดวิกฤตินองเลือดเหมือนปี 2535 อย่าให้บ้านเมืองมีอันเป็นไปเพราะการตัดสินใจของรัฐสภา
“ทางออกดีที่สุดแนวทางเดียวคือ โหวตวาระ 3 และต้องลงมติให้ผ่าน อย่าให้รัฐธรรมนูญแท้งก่อนคลอด วันนี้ใส่สูทดำขอไว้ทุกข์ให้กับการทำแท้งรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 18 มี.ค. เรียกร้องให้แต่งชุดดำเต็มสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐธรรมนูญ” นพ.ชลน่านกล่าว    
ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ภท. กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เลวร้าย สิ่งที่มีตำหนิอย่างเดียวคือที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าวันนี้เราทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ก็จะได้ภาคภูมิใจและใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่าสภาแห่งนี้มีเป้าหมายตรงกันคือ อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ แต่เมื่อบรรยากาศมาติดกับดักตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดการล่มสลาย ซึ่งเราควรหาทางเลือกไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดข้อบังคับ สามารถเดินหน้า บอกประชาชนได้ว่าสภาแห่งนี้ไม่ได้เล่นปาหี่กัน ไม่ให้สิ่งที่เราทำมาต้องสูญเปล่า ซึ่งพรรคภูมิใจไทยขอสนับสนุนญัตติของนายจุรินทร์ เพื่อขอมติรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง วันนี้จึงไม่ควรลงมติวาระ 3
  ต่อมาเวลา 12.45 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายให้เดินหน้าโหวต และตอนหนึ่งพาดพิงถึง ส.ว.ว่า เรามี ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วยที่จะมีการตีเช็คเปล่าให้ประชาชน แต่วันนี้ออกมาอ้างว่าอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชน อยากถามว่าท่านไม่ละอายต่อบาปหรือรู้สึกละอายใจบ้างหรือ ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงว่า นายรังสิมันต์แสนรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้เรื่องตัวเอง ศาลบอกให้ไปถามประชาชน ถามว่าจากความแสนรู้ทำไมนายรังสิมันต์ถึงไม่รู้ในจุดนี้
    จากนั้นนายชวนขอให้นายรังสิมันต์หลีกเลี่ยงการพูดเสียดสี ส.ว. ซึ่งนายรังสิมันต์อภิปรายต่อว่า เรามีกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน พิจารณาขังผู้มีความเห็นต่างถึง 11 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้รณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับที่ 11 คนถูกข่มขู่ในยามวิกาล โดยอ้างว่าจะนำตรวจโควิด ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นมาตรฐานใหม่ของเรือนจำหรือ โดยระหว่างนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนที่นั่งอยู่รอบตัวของนายรังสิมันต์ได้ยกภาพบรรดาแกนนำม็อบ 3 นิ้วถูกปิดปาก และมีข้อความประกอบต่างๆ เช่น #freeเพนกวิ้น #freeอานนท์ #freeหมอลำ #freeสมยศ เป็นต้น ทำให้นายกิตติศักดิ์ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง โดยขอให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธาน วินิจฉัยว่าสามารถชูภาพเหล่านี้ในที่ประชุมได้หรือไม่ โดยนายพรเพชรวินิจฉัยไม่ให้ชูภาพอีก แต่ในขณะที่นายรังสิมันต์อภิปรายต่อ ส.ส.ก้าวไกลก็ยังพยายามชูป้ายอีก ทำให้มีการประท้วงต่อเนื่อง จนทำให้นายพรเพชรถึงกับเตือนครั้งสุดท้าย ว่าหากยังมีการชูป้ายอีก จะใช้มาตรการตามลำดับ จึงทำให้เรื่องเงียบไป
    จากนั้นนายชินวรณ์อภิปรายตอบโต้นายรังสิมันต์ที่พาดพิงถึงการเสนอญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการยื้อเวลานั้น ไม่ใช่ แต่เป็นการหาทางออกให้กับรัฐสภาเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป ว่าเราจะมอบอำนาจให้ ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่  และถือว่านายรังสิมันต์กล่าวความเท็จ อีกทั้งนำเรื่องนอกสภาและเรื่องของพรรคพวกตัวเอง ซึ่งเป็นประเด็นนอกญัตติเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ อยากเห็นคนรุ่นใหม่หัวใจประชาธิปไตยเปิดใจอันเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่มองว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย แต่มองคนอื่นว่าไม่เป็นนักประชาธิปไตย
เหลือ 3 แนวทาง
     ในเวลา 13.30 น. นายสุทินอภิปรายว่า เหตุใดจึงจะไม่ดำเนินการต่อในวาระ 3 และระหว่างรัฐธรรมนูญกับคำวินิจฉัยศาลควรยึดอะไร หากรัฐสภาเดินหน้าโหวตวาระ 3 หากโหวตแล้วตกก็ให้ตกไป จะได้รู้ว่าใครมีเจตนาอะไร และจะได้รีบร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าชะลอก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรชาติไหน   
    “บอกโหวตไม่ได้ ผมขอให้ขีดเส้นใต้อีกครั้งว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบรรทัดไหนที่บอกว่าโหวตไม่ได้” นายสุทินกล่าว
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรค พปชร. อภิปรายว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มี 5 ญัตติที่ซ้อนกันไปซ้อนกันมา ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร แม้จะรักร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เฝ้าประคบประหงม ซึ่งความเห็นทางนิติศาสตร์บางครั้งก็มีช่องที่เห็นโต้แย้งกันได้ ขณะนี้มีการอภิปรายกันหลากหลาย ดังนั้น เราจะหาจุดจบอย่างไร หากเป็นไปได้จะดำเนินการตามระเบียบวาระก็ไม่ขัดข้อง หรือโหวตตามญัตติที่เพื่อนสมาชิกเสนอก็ไม่ขัดข้อง  
    นายพรเพชรชี้แจงว่า นับแต่เปิดประชุมมา ประธานสภาฯ ให้มีการหารือ ตอนนี้มีผู้เข้าชื่อหารือ 13 คน คงใช้เวลา 2 ชั่วโมง ถ้าลงชื่อเพิ่มก็คงเกินเวลาอีก แต่เมื่อดูเนื้อหาที่หารือไม่ได้เพิ่มญัตติอะไร เป็นเพียงการอภิปรายสนับสนุนญัตติหนึ่งญัตติใด ส่วนญัตติ 5 เรื่อง แต่ถ้าสรุปจริงๆ เหลือเพียง 3 เรื่องคือ 1.ลงมติตามข้อบังคับ 2.ญัตติขอไม่ให้ลงมติ และ 3.ขอให้เลื่อนการลงมติ เพื่อดำเนินการให้ดีขึ้น โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง
    ต่อมาเวลา 17.50 น. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นทำให้เราถึงทางตันจริงๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ต้องมาถกเถียงกันว่าเราทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วยังยื้อกันอีกหรือ และเราจะไม่ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะเรายังนั่งเถียงตัวกฎหมาย ขอให้ทุกคนช่วยดึงสติ ขอถามว่าพวกเรากำลังทำเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ ก็ไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปกำหนดชะตาประเทศนี้เลย เพราะตามหลักการแล้วรัฐสภาแห่งนี้ต่างหากที่จะเป็นคนบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำอะไรได้บ้าง มีอำนาจอะไรบ้าง
ทั้งนี้ นายจิรัฏฐ์ได้อภิปรายพาดพิงไปถึง ส.ว. ซึ่งก็ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงทันทีพร้อมโต้กลับมา จนทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลลุกขึ้นประท้วงกลับบ้าง ซึ่งในท้ายที่สุดนายชวนก็ได้วินิจฉัยให้นายกิตติศักดิ์ถอนคำพูด ซึ่งนายกิตติศักดิ์ก็ยอมถอนคำพูด
ต่อมาสมาชิกรัฐสภาก็ยังคงอภิปรายเสนอความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ยังมีจุดยื่นตามแนวทางของแต่ละคน โดยวนเวียนใน 3 หลักคือ ไม่โหวต, โหวตวาระ 3 และเลื่อน ก่อนที่จะถึงคิวนายชินวรณ์ ซึ่งเป็นผู้อภิปรายคนสุดท้าย ซึ่งก็ได้ตอกย้ำข้อเสนอของนายจุรินทร์ ที่ให้เลื่อนญัตติก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ที่ประชุมรัฐสภาได้ใช้เวลาหารือถึงประเด็นดังกล่าวเกือบ 9 ชั่วโมง มีผู้อภิปราย 43 คน ก่อนที่นายชวนจะวินิจฉัยแนวทางการลงมติจากญัตติต่างๆ ที่เสนอ โดยได้จัดให้อยู่ใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.การลงมติเพื่อไม่ลงมติในวาระ 3 ของนายสมชายและนายเสรี 2.การเลื่อนและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญของนายจุรินทร์,นายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรค พปชร. และ 3.ลงมติวาระ 3 ไปเลยของ นพ.ชลน่านและนายรังสิมันต์
โดยหลังการเสนอของนายชวน ทำให้สมาชิกมีการถกเถียงกันอย่างมากถึงญัตติต่างๆ ว่าถูกต้องตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในญัตติที่ 1 และ 2 ที่ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง และในเวลา 19.25 น. ระหว่างที่ นพ.ชลน่านกำลังอภิปราย ปรากฏว่าได้เกิดเสียงสัญญาณเตือนไฟไหม้ดังไปทั่วอาคารรัฐสภา จนเกิดความแตกตื่น โดย ส.ส.หลายคนต่างลุกขึ้นยืนอย่างตื่นตระหนก ซึ่งนายชวนได้พูดติดตลกว่า “สงสัยอภิปรายกันจนน้ำไหลไฟดับ” แต่หลังสัญญาณดังขึ้นประมาณ 2 นาทีก็หยุดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ และการประชุมได้ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าอาจเกิดจากมีคนสูบบุหรี่อยู่ใกล้เครื่องจับสัญญาณ จนทำให้สัญญาณเตือนไฟไหมดังขึ้น แต่ล่าสุดพบว่ามีคนกดสัญญาณ แต่ไม่สามารถหาได้เพราะไร้กล้องวงจรปิด
    ต่อมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ปชป. เสนอให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อไปหารือและแก้ไขญัตติ ซึ่งนายชวนก็ได้วินิจฉัยให้พักการประชุม 20 นาที ภายหลังหารือกว่า 40 นาทีแล้วกลับเข้ามาประชุมอีกครั้ง ซึ่งก็ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดนายไพบูลย์ได้เสนอญัตติให้เข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาเรื่องด่วน และมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้นายชวนต้องขอมติที่ประชุม เนื่องจากตลอดทั้งวันเป็นเพียงการหารือ ยังไม่เข้าวาระ เมื่อมีผู้เสนอวาระจึงจำเป็นต้องขอมติ และที่ประชุมลงมติเห็นชอบส่งผลให้ทั้ง 3 ญัตติที่เสนอมาก่อนหน้านี้ตกไปทั้งหมด  
    ภายหลังลงมติประชุมให้นำเรื่องด่วนขึ้นมา นายชวนได้ให้มีการโหวตตามวาระ ทำให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ยกมือถามว่าต้องขานชื่อใช่หรือไม่ ซึ่งนายชวนก็ตอบใช่ ทำให้นายชาดากล่าวว่า คงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก จากนั้น ส.ส.ภูมิใจไทยได้วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมทั้งหมด ต่อมาจึงเข้าสู่การเตรียมการลงมติวาระ 3 โดยใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งมีเพียง 379 คน แต่ยังครบองค์ประชุม โดยเสียงเห็นชอบส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, เพื่อไทยและก้าวไกล ในขณะที่ในส่วนของ พปชร.และ ส.ว.นั้นจะงดออกเสียง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"