ลุ้นฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์2.4หมื่นล.


เพิ่มเพื่อน    

 คมนาคม-รฟท.ลุ้นฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์! หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้มติที่ประชุมใหญ่ศาล ปค.สูงสุดปมนับอายุความขัดรธน. โฆษกศาลปกครองขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็ม แจงมติเป็นร้อยไม่เคยประกาศราชกิจจาฯ-ส่งสภา ผูู้ตรวจฯ เชื่อรัฐมีลุ้นไม่ต้องจ่าย 2.4 หมื่นล้าน นายกฯ ยันใช้ กม.เร่งสางปัญหา

    เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย.45 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนด ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค.2544  มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
    ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว  
    ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จะยื่นรื้อคดีใหม่ เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้มอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์ฯ เป็นบริษัทต่างด้าว จดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม รฟท. ยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
    อย่างไรก็ตาม การพิจารณาลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีนี้มีทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากศาลได้อนุญาตให้นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้นตามพระราชบัญญัติ?ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)? ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรคสี่
    สำหรับมหากาพย์คดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยาวนานมาถึง 13 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่  8 พ.ย.51 อนุญาโตตุลาการให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท จากนั้น 13 มี.ค.57 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 22 เม.ย.62 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 180 วัน และต่อมาวันที่ 22 พ.ย.62 รฟท.ยื่น 4 หน่วยงาน เสนอคณะรัฐมนตรีงดจ่ายค่าโง่และสู้คดีต่อ จากนั้น 22 ก.ค.63 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ และ 17 พ.ย.63 ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมติศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
    ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องติดตามในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีคณะทำงานตรงนี้อยู่แล้ว จะนำคำพิพากษาออกมาพิจารณาดูจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลตน แต่ต้องเอามาแก้ไขในรัฐบาลนี้ ถ้าสามารถแก้ไขได้ก็เป็นการดี เป็นการสงวนเงินงบประมาณแผ่นดิน ทำอะไรก็ตามตนระวังที่สุด ที่ต้องเริ่มต้นทุกอย่างด้วยความถูกต้อง ขอให้เข้าใจว่างานเหล่านี้เป็นงานที่ค้างคามาถึงรัฐบาลตน และตนก็แก้ไขไปในทางที่ถูกที่ควรตามช่องทางของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้ดีที่สุด
    ขณะที่นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อนว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน แต่โดยหลักแล้วคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้น มีแนวใหม่ หรือมีคำวินิจฉัยใหม่ จะไม่กระทบกับคดีที่พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปก่อน ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองจะนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร
    "คดีโฮปเวลล์เคยมีการขอพิจารณาคดีใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเห็นตรงกันว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่การขอพิจารณาคดีใหม่อาจจะขอได้อีก โดยอ้างเหตุใหม่ ฉะนั้นถ้าคู่กรณียกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลก็จะพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ใช้เหตุผลเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่และเป็นข้อเท็จจริงใหม่ ก็จะพิจารณาต่อไปว่าแล้วเข้าเกณฑ์ที่จะรับพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องขอดูคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร แล้วจึงมาพิจารณาต่อไปว่าเข้าเกณฑ์อนุมาตราใดของมาตรา 75 แล้วใช้ดุลยพินิจตามหลักฐานนั้น แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าเกณฑ์ ถึงจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้น ก็ต้องยกไม่รับคำขอเหมือนกับคดีที่แล้ว” นายประวิตรระบุ
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลปกครองไม่เคยมองว่ามติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเป็นระเบียบที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 5 มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ แต่มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเป็นไปตามมาตรา 68 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่กำหนดว่า กรณีประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดคดีใด ให้เสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาหากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนั้นมีปัญหา หรือเป็นคดีสำคัญ หรือเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูง ก็จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้นๆ ซึ่งทำกันเกือบทุกเดือน โดยคดีโฮปเวลล์เป็นการพิจารณาปัญหาว่าจะนับอายุความอย่างไร ก็เลยเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเมื่อเป็นมติที่ประชุมใหญ่แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ ก็นำไปใช้บังคับเลย โดยศาลปกครองก็ถือปฏิบัติตามนี้มาจนเวลานี้ มติที่ประชุมใหญ่มีเป็นร้อยเรื่อง และไม่เคยส่งไปประกาศราชกิจจาฯ หรือส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จึงต้องดูว่ามตินี้เป็นระเบียบเพราะอะไร
     พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญคงส่งคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์มาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งจะแจ้งกลับไปยังกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ทั้งสองหน่วยงานคงนำคำวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานข้อมูลใหม่ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรื้อฟื้นคดีจ่ายค่าเสียหายโฮปเวลล์ได้ แต่ที่สุดแล้วจะมีผลให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาลปกครอง  
    “ผมคิดว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่อาจทำให้ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้ รฟท.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เพราะทุกคดีมีอายุความ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ก็อาจทำให้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดที่เป็นประเด็นพิพาทไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ ซึ่งก็จะมีผลให้การฟ้องคดีของบริษัท โฮปเวลล์ฯ น่าจะเป็นฟ้องเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ศาลปกครองจะพิจารณาวินิจฉัย แต่ก็ถือว่ารัฐบาลมีลุ้นที่อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนให้กับบริษัทเอกชน” พล.อ.วิทวัสกล่าว และเชื่อว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย   
    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้ว่ากระทรวงคมนาคมต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งมาอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งคณะทำงานติดตามคดีโฮปเวลล์ที่กระทรวงตั้งขึ้น จะมีการพิจารณาการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
    นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยว่า จะมีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบภาครัฐอันเนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีโฮปเวลล์ ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการในคดีโฮปเวลล์ต่อไปอย่างไร.


   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"