โฆษกศาลปกครอง มองต่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์


เพิ่มเพื่อน    

18 มี.ค.64 - นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ในตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่กำหนดให้การนับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544  มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ว่า  การที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2555 เมื่อ วันที่ 27 พ.ย.2556 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่  นั้น 

เป็นเพียงการชี้ว่า ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ดำเนินการนำมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2556  มาออกเป็นระเบียบตามบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 5  ที่กำหนดว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้  และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา44 และมาตรา66 ต้อง ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้  ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับผลการชี้ขาดแห่งคดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย  

ฉะนั้น ต้องดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อนว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน  เพราะ ที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดใช้หลักปฏิบัติเดียวกับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาของศาลยุติธรรม  เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  มาตรา 68 ที่กำหนดว่า กรณีประธานศาลปกครองสูงสุด เห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด คดีใด ให้เสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาหากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนั้นมีปัญหา หรือเป็นคดีสำคัญ หรือเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงก็จะจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่ฯพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้น ซึ่งทำกันเกือบทุกเดือน มีเป็นร้อยเรื่อง ไม่ได้มองว่า เป็นระเบียบที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 5 มาตรา 6  ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จึงต้องดูว่า มตินี้เป็นระเบียบเพราะอะไร   

นายประวิตร กล่าวย้ำว่า มันไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแบบนี้แล้วมันจะกระทบไปยังคดีเดิม เพราะคดีนั้นศาลพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว  ถ้าทุกคนนิ่งก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ศาลวินิจฉัยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่จะไม่นิ่งก็เมื่อคู่กรณีใช้ช่องทางขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางที่เป็นสิทธิของคู่กรณี เมื่อขอมาศาลก็พิจารณา หากเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า มันเข้าเกณฑ์พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 75 ก็สามารถรับพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าเกณฑ์ ถึงจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้น ก็ต้องยกไม่รับคำขอเหมือนกับคดีที่แล้ว 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"