โฮปเวลล์ส่งสัญญาณดี เล็งตั้งกก.เอาผิดอาญา


เพิ่มเพื่อน    

  “ศักดิ์สยาม” แย้มคดีค่าโง่โฮปเวลล์ส่งสัญญาณที่ดี  แต่ต้องรอคำวินิจฉัยศาลปกครองกลางฉบับเต็มถึงจะเป็นข้อยุติ  ย้ำดำเนินการมาตั้งแต่รับตำแหน่ง สู้อย่างเต็มที่ เล็งตั้งคณะกรรมการเอาผิดทางอาญาเพิ่มเติม ด้านโฆษกศาลปกครองยันมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไม่ใช่ระเบียบ ไม่ต้องจำเป็นประกาศในราชกิจจาฯ หรือส่งสภาผู้แทนฯ ให้ความเห็นชอบ  

    เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญ  ว่าที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้พยายามดำเนินการแก้ไขเรื่องโดยยึดหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยได้มีการตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบและดูในเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
    เขากล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา กระทรวงคมนาคมคงต้องรอคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญต้องฟังคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยกลางตามกระบวนการจะต้องส่งไปผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา แล้วจึงกลับมายังกระทรวงคมนาคม
    นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เมื่อคำวินิจฉัยกลางส่งมาที่กระทรวงคมนาคม โดยคณะทำงานที่มี จึงจะได้ดูว่าคำวินิจฉัยกลางที่ออกมาว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอย่างไร กระทรวงคมนาคมจึงจะสามารถดำเนินต่อไปได้ เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีท่านบอกตลอดว่าอะไรที่ดำเนินการโดยตามหลักกฎหมายและถูกต้อง ต้องดำเนินการ อะไรที่มันไม่ถูกต้อง จะทำให้ถูกไม่ได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราจะต่อสู้อย่างเต็มที่ เพราะเราถือว่าเงินงบประมาณของรัฐบาลคือเงินของภาษีพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นการที่จะต้องดำเนินการในเรื่องที่จะจ่ายหรือชำระค่าอะไรก็ตาม ต้องถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและข้อเท็จจริง ถ้าอะไรไม่ถูกต้อง กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการตามขั้นตอนในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
    สำหรับเรื่องอายุความ ต้องรอคำวินิจฉัยกลาง เนื่องจากเมื่อมีคำตัดสินออกมา จะต้องรอว่าคำวินิจฉัยกลางคือตัวองค์คณะของศาล จะมีรายละเอียดออกมาถึงจะเป็นข้อยุติว่าการตัดสินโดยหลักกฎหมายข้อใด ข้อเท็จจริง และมีผลคำวินิจฉัยอย่างไร ต้องดูในรายละเอียด วันนี้จะพูดอะไรออกไปโดยไม่เห็น มองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี เบื้องต้นที่เห็นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนก่อน
    ส่วนกรณีที่ได้ยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 2 ประเด็นคือ 1.การดำเนินการเป็นไปตามหลักข้อกฎหมายที่มีหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด  และ 2.เรื่องอายุความ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอคำวินิจฉัยกลางตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อเราได้คำวินิจฉัยกลางที่สมบูรณ์แล้วจะดำเนินการต่อได้ โดยยึดหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และยึดผลประโยชน์ของประชาชน
    "ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางอาญาเพิ่มเติม โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวรายละเอียดเยอะ ต้องใช้เวลาพิจารณา เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 ขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนความผิดในการละเมิดอยู่ระหว่างการส่งรายชื่อคณะกรรมการฯ เพื่อแต่งตั้งสอบสวนหาความผิดดังกล่าวมาที่เราให้พิจารณา เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นเราไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นอำนาจที่เราสามารถแต่งตั้งได้ หากเราเกี่ยวข้องจะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ ต้องดูคุณสมบัติของคณะกรรมการด้วยว่ามีความรู้ความสามารถอย่างไรบ้าง" นายศักดิ์สยามกล่าว
    ด้านนายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์ ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2555 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2556 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่นั้น เป็นเพียงการชี้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ดำเนินการนำมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2556 มาออกเป็นระเบียบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ที่กำหนดว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้  
    และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 44 และมาตรา 66 ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับผลการชี้ขาดแห่งคดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย  
    ฉะนั้น ต้องดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อนว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดใช้หลักปฏิบัติเดียวกับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาของศาลยุติธรรม เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 68 ที่กำหนดว่า กรณีประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด คดีใด ให้เสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาหากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนั้นมีปัญหา หรือเป็นคดีสำคัญ หรือเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูง ก็จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้น ซึ่งทำกันเกือบทุกเดือน มีเป็นร้อยเรื่อง ไม่ได้มองว่าเป็นระเบียบที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 5 มาตรา 6 ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จึงต้องดูว่ามตินี้เป็นระเบียบเพราะอะไร   
     นายประวิตรกล่าวว่า ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแบบนี้แล้วมันจะกระทบไปยังคดีเดิม เพราะคดีนั้นศาลพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ถ้าทุกคนนิ่ง ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ศาลวินิจฉัยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่จะไม่นิ่งก็เมื่อคู่กรณีใช้ช่องทางขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางที่เป็นสิทธิของคู่กรณี เมื่อขอมาศาลก็พิจารณา หากเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่ามันเข้าเกณฑ์พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 75 ก็สามารถรับพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าเกณฑ์ ถึงจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้น ก็ต้องยกไม่รับคำขอเหมือนกับคดีที่แล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"