กำชับกระจายวัคซีนปชช. กทม.ลามมุกดาหาร1ราย


เพิ่มเพื่อน    

  นายกฯ ถก ศบค.ชุดย่อยกำชับกระจายฉีดวัคซีนปชช. "อนุทิน" ยันเพียงพอไม่มีคำว่าขาดแคลน เล็งลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวที่ฉีดครบโดส แย้มผ่อนปรนสงกรานต์ แบ่งตามโซนสีแต่ละพื้นที่ ส่วนข้ามเขตให้อำนาจ คกก.โรคติดต่อจังหวัดดูแล ไทยติดเชื้อใหม่ 92 ราย จาก กทม.ลามมุกดาหาร 1 ราย

    ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่่ 18 มีนาคม เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เรียกประชุม ศบค.ชุดย่อย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 50 นาที  
    ภายหลังการประชุม นายอนุทินเปิดเผยว่า เป็นการสรุปให้นายกฯ ฟังก่อนจะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 19 มี.ค. โดยนายกฯ ได้กำชับเกี่ยวกับเรื่องของวัคซีน ว่าให้กรมควบคุมโรคต้องดำเนินการให้พร้อมในการบริการฉีดวัคซีนกับประชาชน ต้องรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย ซึ่งยืนยันว่าวัคซีนของเราเพียงพอ ไม่มีคำว่าขาดแคลนแล้ว เพราะซื้อจากบริษัทซิโนแวค และอีก 2-3 เดือนทางบริษัทแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยจะทยอยออกมาเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งกรมควบคุมโรคจะพยายามฉีดในวงกว้างให้ได้มากที่สุด โดยใช้ความร่วมมือจากโรงพยาบาลเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ น่าจะเอาอยู่
     ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุว่าอยากให้โรงพยาบาลเอกชนรับวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนเพื่อเป็นทางเลือกนั้น นายอนุทินกล่าวว่า  กระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะให้นโยบายกับองค์การอาหารและยา (อย.) ให้อำนวยความสะดวกในเรื่องการขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วที่สุด แต่ประเด็นตรงนี้ขอพูดไว้เลยว่า ทุกบริษัทที่ผลิตวัคซีนที่ติดต่อมาพบทั้งตนและปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าอยากขายให้กับรัฐบาล ไม่ขายให้เอกชน เพราะฉะนั้นถ้าเอกชนสามารถไปเจรจาและให้เขาขายได้ เรายินดีอยู่แล้ว จำคำพูดตนไว้เลย ยิ่งเอกชน ยิ่งประชาชนผู้ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ไปรับวัคซีนด้วยค่าใช้จ่ายของตัวเอง ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระรัฐอย่างมหาศาลเลย สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นานั้น สองยี่ห้อนี้ยังไม่เข้ามา แต่เราบอกให้เขามาขึ้นทะเบียน
     เมื่อถามว่า ในการประชุม ศบค.วันที่ 19 มี.ค. จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้กักตัว 14 วันไม่มีแล้ว เหลือ 10 วัน ถ้ามีวัคซีนเบื้องต้นจะเหลือ 7 วัน และถ้าหลังจากคนรับวัคซีนไปเยอะแล้วครบโดส และทำการเจาะตรวจหาว่าภูมิคุ้มกัน หากมีภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างถ้วนหน้า จะมีการพิจารณาการกักตัวจาก 7 วัน อาจจะเหลือแค่ 5 วันหรือ 3 วัน หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเก็บข้อมูลต่างๆ ทางด้านการแพทย์ เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้กลับเข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุด
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือกักตัว 7 วัน เฉพาะคนไทยหรือต่างชาติ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าเป็นต่างชาติต้องดูเป็นประเทศ ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ได้เซ็นบับเบิลกันระหว่างประเทศต้องกักตัว 10 วัน
    นายอนุทินยังกล่าวถึงการออกมาตรการผ่อนปรนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ขอให้รอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะมีมาตรการออกมาอย่างไร ทั้งนี้ จะมีการขีดเป็นวงๆ ซึ่งตอนนี้พื้นที่สีแดงไม่มีแล้ว มีแต่พื้นที่สีส้ม ได้แก่สมุทรสาครและกรุงเทพฯ ดังนั้นจะมีมาตรการในแต่ละโซนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร โดยจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ส่วนเรื่องการข้ามเขตนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คอยช่วยดูแลอยู่ โดยจะกำหนดกฎเกณฑ์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
    เมื่อถามว่า หากจังหวัดใดเป็นพื้นที่สีเขียว จะสามารถจัดกิจกรรมได้มากถึงขั้นสามารถสาดน้ำได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องฟังผลที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เสียก่อนว่าจะมีข้อคิดเห็นอย่างไร ขณะนี้ไม่มีพื้นที่สีเขียวปี๋อย่างนี้แล้ว เนื่องจากเราไม่ได้ห้ามคนเดินทางข้ามจังหวัด ดังนั้นเราต้องยึดเรื่องความปลอดภัยของประชาชนไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้ถือว่าเข้าโค้งสุดท้าย เพราะเรามีวัคซีนโควิด-19 มา และทุกคนได้รับวัคซีนกันหมด คราวนี้ปีหน้าเราจะได้เฮฮาปาร์ตี้กันได้ ดังนั้นต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ เหมือนกับที่ให้กันมาเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีทั้งยา แพทย์ และวัคซีน ถือว่าล็อกกุญแจ 3 ถึง 4 ชั้นแล้ว น่าจะโอเค ขอให้อดทนกันนิดเดียว ตั้งเป้าไว้เลยว่าปีใหม่นี้จะต้องทำให้ดีกว่านี้ แล้วประเทศไทยจะได้ก้าวผ่านเหตุการณ์โควิด-19 ไปได้
    ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 92 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 78 ราย โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 64 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ จ.มุกดาหาร 1 ราย เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดบางแค มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 14 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 27,494 ราย หายป่วยสะสม 26,377 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,028 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 65 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วยโรคมะเร็งที่โคนลิ้นและมะเร็งปิดระยะที่ 4 พักอาศัยในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 89 ราย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่จังหวัดศรีสะเกษ 1 ราย และมุกดาหาร 1 ราย ซึ่งเป็นรายใหม่ ที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดบางแค โดยผู้ติดเชื้อใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นรายแรกของจังหวัด เพศหญิง อายุ 49 ปี อาชีพค้าผักที่ตลาดวันเดอร์ เขตบางแค กรุงเทพฯ ขายช่วง 02.00-12.00 น. อาศัยอยู่กับสามี มีเพื่อนขายของแผงข้างกัน ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยวันที่ 8 มี.ค. เดินทางออกจาก กทม. พร้อมสามีด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปยัง จ.ศรีสะเกษ จากการสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 23 ราย เสี่ยงต่ำ 5 ราย เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมดไม่พบว่าติดเชื้อ จึงให้กักตัวที่บ้าน
    สำหรับผู้ติดเชื้อ 1 ราย ที่ จ.มุกดาหาร เป็นเพศหญิงอายุ 52 ปี อยู่ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร วันที่ 4 มี.ค. เวลา 08.00 น. เดินทางจากที่พัก อ.นิคมคำสร้อย ทำธุระที่ กทม. พร้อมสามี โดยรถยนต์ส่วนตัว และพักที่บ้าน เขตบางบอน กทม. อยู่กับสามี ต่อมาวันที่ 5 มี.ค. ช่วง 12.00-17.00 น. เดินทางไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางขุนเทียน กทม. วันที่ 14 มี.ค. เวลา 07.00 น. เดินทางออกจากบ้านพักเขตบางบอนโดยรถยนต์ส่วนตัวพร้อมกับสามีระหว่างเดินทางได้แวะเติมแก๊ส NGV ที่ จ.สระบุรี ถึง จ.นครราชสีมา อ.พล จ.ขอนแก่น จ.ร้อยเอ็ด โดยแวะเข้าห้องน้ำในทุกจุดที่เติมแก๊ส เวลา 17.00 น. เดินทางถึงที่พัก อ.นิคมคำสร้อย ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย จมูกไม่ได้กลิ่น วันที่ 16 มี.ค. เวลา 08.45 น. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว สามีเป็นคนขับเพื่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.นิคมคำสร้อย และเดินทางกลับบ้าน วันที่ 17 มี.ค. เวลา 16.26 น. ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ต่อมา รพ.นิคมคำสร้อย รับผู้ป่วยส่งต่อการรักษาที่ รพ.มุกดาหาร
    นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาความเสี่ยงพบว่าผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงใน กทม. ถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเกณฑ์การสอบสวนโรค คือเจ็บคอ และจมูกไม่ได้กลิ่น ช่วงเวลาที่อยู่ กทม. และเดินทางมีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แสดงว่าในจุดที่มีการสัมผัสมีการรับเชื้ออยู่พอสมควร จึงทำให้เกิดการติดเชื้อในครั้งนี้ ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคที่ จ.มุกดาหาร พบกลุ่มเสี่ยงสูง 17 ราย มีทั้งพ่อแม่ น้องสะใภ้ หลาน 2 ราย แพทย์ที่ทำการตรวจ เภสัชกร เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์มีการสวมชุดป้องกันที่ดีจริงๆ ความเสี่ยงก็ถือว่าค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ได้เก็บสิ่งส่งตรวจแล้ว ผลออกมา 1 รายเป็นลบ ที่เหลือ 16 รายอยู่ระหว่างการรอผลทางห้องปฏิบัติการ และสั่งให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
    สำหรับความก้าวหน้าในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากเป้าหมายเข็มแรกอยู่ที่ 92,600 โดส ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 58,024 โดส ถือว่ามีความก้าวหน้าโดยลำดับ
    วันเดียวกัน นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ Mobile Unit ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากตลาดย่านบางแค ที่ตลาดสิริเศรษฐนนท์ เขตบางแค ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.64- 21 มี.ค.64 โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว 705 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"