สานพลังประชารัฐเดินหน้า “แม่แจ่มโมเดลพลัส” พลิกฟื้นดอยหัวโล้น สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนด้วยไม้ไผ่


เพิ่มเพื่อน    

เชียงใหม่ /  สานพลังประชารัฐ  ภาคเอกชน  ราชการ  หน่วยงานท้องถิ่น  และเครือข่ายประชาชน  ร่วมกันเดินหน้า “โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส” พลิกฟื้นดอยหัวโล้นที่เกิดจากการทำไร่ข้าวโพด  สู่ “แม่แจ่มเมืองป่าไม้” โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแทนข้าวโพด  มีโรงงานแปรรูปรองรับ  ผลิตตั้งแต่ตะเกียบ  ถ่านอัดแท่ง  โดยเฉพาะถ่านกัมมันต์  ใช้ในอุตสากรรมต่างๆ ตลาดต้องการไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน  ขณะที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ลงพื้นที่ร่วมปลูกไผ่และนำข้อเสนอ-ปัญหาของชาวแม่แจ่มไปเสนอรัฐบาลหาทางแก้ไข

 

อำเภอแม่แจ่ม  ตั้งอยู่บนเทือกเขาธงชัย  ด้านหลังดอยอินทนนท์  อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ  123  กิโลเมตร  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  1,700,000 ไร่  ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง  มีที่ราบตามเชิงเขา   ประชากรมีทั้งคนเมือง  ม้ง  ลั๊วะ  ปกาญอ  ประมาณ  59,000 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพดขายเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์  ซึ่งต้องใช้สารเคมี  ทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำ  การเผาเศษวัสดุพืชไร่  นำไปสู่ปัญหาหมอกควันพิษ  เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน   ปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตร  รวมทั้งปัญหาที่ดินทำกิน 

 

จากปัญหาดังกล่าว  ชาวแม่แจ่มจึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วน  ผู้นำชุมชน  ท้องถิ่น  อำเภอ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภาคเอกชน   ธุรกิจ  นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  หน่วยงานรัฐ  จัดทำโครงการ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” (Mae Chaem Model Plus) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  ด้วยการยั้บยังการบุกรุกป่า  หยุดปัญหาไฟป่า  หมอกควัน  การปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ลดการใช้สารเคมี  ฯลฯ  ส่งเสริมการปลูกไผ่  กาแฟ  เป็นพืชเศรษฐกิจ  สร้างพื้นที่สีเขียว  สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น “เมืองป่าไม้”

 

ล่าสุดเมื่อวันที่  18-19 พฤษภาคมที่ผ่านมา  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่ (กขร.) ซึ่งมี นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ  เป็นประธาน  ได้เดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาและเรียนรู้โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส  โดยคณะอนุ กขร.ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อปรึกษาหารือการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม  ภาครัฐ  เอกชน  และประชาสังคม  เพื่อให้เกิดการบูรณาการการขับเคลื่อนงานตามโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส  หลังจากนั้นคณะได้เดินทางไปที่บ้านแม่ยางส้าน   ต.ท่าผา  อ.แม่แจ่ม  เพื่อร่วมกิจกรรมปลูกไผ่  ปลูกป่า  สร้างรายได้  โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และเยาวชนร่วมปลูกไผ่ประมาณ 200 คน  ปลูกไผ่ประมาณ 200 ต้น

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ  ร่วมปลูกไผ่  

นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ  ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่ (กขร.) กล่าวว่า  โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสเป็นการสานพลังประชารัฐ  เริ่มจากการที่ชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่า  หมอกควัน   ปัญหาด้านเศรษฐกิจ  และคุณภาพชีวิตตั้งแต่ปี 2552  ขณะเดียวกันในอำเภอแม่แจ่มก็มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2  ซึ่งสงวนเอาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ  มีเนื้อที่ป่าต้นน้ำทั้งหมดประมาณ  900,000 ไร่  แต่มีประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยทำมาหากิน   อย่างไรก็ตาม  เมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารงานก็มีแนวทางชัดเจนที่จะให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้   โดยให้ประชาชนอยู่อาศัยและทำกิน  ส่วนที่เกินให้คืนราชการและปลูกป่าเพิ่มเติม

 

“คนอยู่ได้  ป่าอยู่ดี  เป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลที่จะให้คนอยู่ร่วมกับป่า   ซึ่งโครงการแม่แจ่มฯ จะส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไผ่  รวมทั้งพืชอื่นๆ  เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา  ในอนาคตแม่แจ่มจะเป็นเมืองที่เขียวขจี  และไม่ใช่เขียวด้วยข้าวโพด  ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น  มีรายได้  เริ่มทำจากเล็กไปหาใหญ่   ตามศาสตร์ของพระราชา  ทำจากชีวิตจริงที่เป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนไปด้วยกัน  ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และประชาชนในพื้นที่”  ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว

 

นพ.อำพลกล่าวด้วยว่า  ปัญหาต่างๆ ที่ชาวแม่แจ่มเสนอมา  ทั้งปัญหาเรื่องที่ดินทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนฯ  ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ  ระบบสาธารณูปโภค  ถนน   ฯลฯ  รวมทั้งเรื่องงบประมาณในการดำเนินโครงการแม่แจ่มโมเดลทั่วทั้ง 104 หมู่บ้าน  ซึ่งชาวแม่แจ่มเสนอมานั้น  คณะอนุกรรมการฯ  จะนำกลับไปพิจารณาและนำไปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ข้อมูลจาก “โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส  ปฏิบัติการเชิงพื้นที่กับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระบุว่า  อำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญสำคัญด้านทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำของประเทศ  เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปิง  น้ำจากแม่แจ่มไหลลงสู่แม่น้ำปิงร้อยละ 40  และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาร้อยละ 17 

 

ส่วนพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่มมีทั้งหมดประมาณ  1,696,093 ไร่  เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่ม  ขณะที่ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนและอยู่อาศัยมาก่อนปี พ.ศ.2504  เมื่อมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ศ.2507  จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุก  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

ตั้งแต่ปี 2549  เป็นต้นมา  อัตราขยายตัวของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559   พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว  จาก  86,104  ไร่ในปี 2552  ในปี 2554 เพิ่มเป็น  105,465 ไร่  และปี 2559  เพิ่มเป็น 123,229 ไร่ 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา  คือ  เกิดปัญหาภัยแล้ง  ดินถล่ม  เกิดไฟไหม้  การเผาไร่ซากข้าวโพดที่มีปริมาณประมาณปีละ  95,000 ตัน   ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน  ปัญหาระบบทางเดินหายใจ  เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมหมอกควันประมาณปีละ 5,000 ราย 

 

แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด  ซึ่งจากตัวเลขในปี 2560  เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ  1,400 ล้านบาท  และหนี้กองทุนหมู่บ้านประมาณ 300 ล้านบาท  (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)

 

“ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน  การสร้างระบบการเกษตรที่จะตอบโจทย์เรื่องอาชีพ  รายได้  แก้ปัญหาระบบนิเวศน์  สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน  เช่น  การพักชำระหนี้เกษตรกร  การเชื่อมโยงระบบการผลิต  ตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ  (การแปรรูป)  และปลายน้ำ  (การตลาด) เพื่อให้เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากเขาวงกตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป”  ข้อมูลจากโครงการแม่แจ่มฯ ระบุถึงแนวทางแก้ปัญหา

นายพิพัฒน์  ธนรวิทยา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านห้วยยางส้าน  ต.ท่าผา  อ.แม่แจ่ม  ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง   เล่าว่า  ชาวกะเหรี่ยงในอำเภอแม่แจ่มอยู่อาศัยในพื้นที่มานานกว่า 100 ปี  ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่  ปัจจุบันส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก  ปลูกหอมแดง  กระเทียม  ฟักทอง  และปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน  ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาข้าวโพดตกต่ำ  โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศไม่ให้พ่อค้ารับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูงหรือป่าสงวนฯ  ราคาข้าวโพดลดเหลือกิโลกรัมละ 3 บาท 

 

ส่วนต้นทุนการปลูก 1 กก.ไม่ต่ำกว่า 5 บาท  เฉพาะปุ๋ยเคมีต้องใช้ไร่ละ 2 กระสอบ  ราคากระสอบละ 800 บาท  หรือไร่ละ 1,600 บาท  มีพื้นที่ปลูก 8 ไร่  มีต้นทุนค่าปุ๋ยรวม 12,800 บาท  ซึ่งฤดูการปลูกที่แล้ว  ผู้ใหญ่พิพัฒน์ได้ผลผลิตประมาณ  500 กก.ต่อไร่  หรือประมาณ  4,000  กก.  พ่อค้ารับซื้อ กก.ละ 5 บาท   ขายได้เงินประมาณ  20,000 บาท  เมื่อหักค่าเมล็ดพันธุ์   ยาฆ่ายา  และค่าแรงงานแล้ว  แทบจะไม่มีกำไร  แถมจะขาดทุนอีกด้วย    

 

“เมื่อก่อนข้าวโพดราคาดี  ใครๆ ก็ปลูกแต่ข้าวโพด  เพราะไม่ต้องดูแลมาก  มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่  พอปลูกเยอะๆ  ราคาก็ต่ำ  เมื่อปลูกนานหลายปีก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน  เมล็ดพันธุ์ก็ต้องซื้อทุกปี  เพราะข้าวโพดพวกนี้เก็บเอาไว้ทำพันธุ์ไม่ได้  พอจะปลูกใหม่ก็ต้องเผาหญ้า  เผาตอข้าวโพด  ทำให้เกิดควันไฟ  ชาวบ้านเป็นโรคหอบหืดกันมาก  ชาวบ้านก็อยากจะปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่า  ปลอดภัยกว่า  ถ้ามีพืชชนิดไหนที่ดีก็จะปลูก  ตอนนี้ในหมู่บ้านผมเริ่มปลูกไผ่กันแล้ว  คนละ 1-2 ไร่  มีสมาชิก 13 คน  ถ้าปลูกไผ่แล้วได้ผลดีกว่า  คนอื่นๆ ก็จะปลูกกันอีกเยอะ”  ผู้ใหญ่พิพัฒน์พูดถึงอนาคตใหม่ของคนแม่แจ่ม

 

การพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามโครงการ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” นั้น   นายสมเกียรติ  มีธรรม  ผู้ประสานงานโครงการ  กล่าวว่า  มีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรอง  ซึ่งจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดที่เกษตรกรกำหนดราคาขายไม่ได้  โดยเกษตรกรจะเป็นคนปลูก  แปรรูป และเป็นเจ้าของร่วมในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน   โดยใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่/ 70 ต้น  และปลูกในลักษณะผสมผสานหรือแทรกไปในแปลงข้าวโพด  ไม่ปลูกไผ่ชนิดเดียวลงในแปลงผืนใหญ่

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมปลูกไผ่

ขณะนี้มีเกษตรกรทั้ง 7 ตำบลในอำเภอแม่แจ่มเข้าร่วม  รวม 262 คน  มีพื้นที่ปลูก 466 ไร่  รวม  30,337 ต้น  และจะขยายพื้นที่เป็น 2,000 ไร่ภายในสิ้นปีนี้    มีเป้าหมายผลผลิต 10-30 ตัน/ ไร่ / ปี  ราคาไผ่ดิบประมาณตันละ 1,000 บาท   โดยมีแผนงานที่จะสร้างโรงงานแปรรูปขึ้นมา  (สภาอุตสาหกรรมสนับสนุนเครื่องจักร)  นอกจากนี้ยังส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นด้วย  เช่น  กาแฟ

 

สำหรับไผ่ที่ส่งเสริมให้ปลูกเป็นไผ่พันธุ์ ‘ซางหม่น’  และ ‘ฟ้าหม่น’  ซึ่งเป็นไผ่ตระกูลเดียวกัน  มีแหล่งกำเนิดที่อำเภอเชียงดาว  จ.เชียงใหม่  โดยมีผู้นำไปขยายพันธุ์ที่จังหวัดน่านจนได้ผลดี  ลักษณะเด่น  คือ  ลำไม้ไผ่โตเร็ว  ลำตรง  เนื้อไม้หนา  เหมาะนำไปแปรรูปเป็นตะเกียบ  เฟอร์นิเจอร์   หน่อกินได้  ฯลฯ  ใช้เวลาปลูก  2-3 ปีสามารถนำไปทำตะเกียบ  ส่วนเศษที่เหลือจะนำมาผลิตเป็นถ่านอัดก้อนให้พลังงานความร้อนสูง  ไม่มีควัน  ปลูก 4 ปีสามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านได้ 

 

ขณะที่  ธัญพิสิษฐ์  พวงจิก  ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต  ระบุถึงประโยชน์จากการนำไม้ไผ่พันธุ์ซางหม่นไปผลิตถ่านกัมมันต์ (activated charcoal หรือ activated carbon) ในบทความเรื่อง “ถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่ : ตลาดยังมีความต้องการสูง ?” (ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ปีที่ 23 ฉบับที่ 6 (ฉบับพิเศษ)  2558) โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า 

 

“ถ่านกัมมันต์เป็นวัสดุที่ประกอบด้วย คาร์บอนที่ได้จากถ่าน  คาร์บอนที่ได้จากถ่านกัมมันต์มีความแข็งแกร่ง     คงตัว  ไม่ถูกละลายด้วยสารเคมีใด หรือไม่เป็นสนิม ใช้สร้างแผ่นเซลล์เชื้อเพลิง  ใช้ผสมเพิ่มความแข็งแกร่งลงในปูนซีเมนต์  พลาสติก  หรือวัสดุต่าง ๆ อีกมากมาย  เช่น  ยางรถยนต์  ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา อาหาร  เป็นวัสดุประกอบสำคัญในการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง  ถ่านไฟฉาย  เม็ดเชื้อเพลิงทดแทนให้ความร้อน   ตลาดโลกมีความต้องการปีละ 10  ล้านตัน   ราคาตันละ 30,000-40,000  บาท  คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายถึงปีละ 400,000 ล้านบาท”

 

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการปลูกและการแปรรูปไผ่นั้น  ในปี 2561 นี้  เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  รวม 11 กลุ่ม  และทำบันทึกกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สภาอุตสาหกรรม  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่  ฯลฯ  เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา  พร้อมทั้งร่วมกันปลูกไผ่  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน  เช่น  กรมป่าไม้  สหภาพยุโรป  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งหลังจากที่ปลูกไผ่ได้ 2-3 ปีแล้ว  จะเข้าสู่กระบวนการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ขณะที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็จะคืนต้นกล้าให้แก่โครงการเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

 

วันนี้แม่แจ่มโมเดลพลัสเริ่มเดินหน้าแล้ว  จากผืนดอยหัวโล้นกำลังกลายเป็นป่าไผ่เขียวขจี  เป็นเมืองป่าไม้  โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต  ขณะที่เกษตรกรชาวแม่แจ่มก็มีความหวังที่จะปลดหนี้สิน  มีรายได้  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ  แม่แจ่มโมเดลฯ จะเป็นต้นแบบเพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างแน่นอน ..!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"