วัคซีนไทยเริ่มทดลองกับคน


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.พบป่วยรายใหม่ 73 ราย เสียชีวิต 1 ราย  ผงะ! ตรวจศูนย์กักตัว ตม.บางเขน-สวนพลูเจอเพิ่มอีก 297  ราย เร่งตั้ง รพ.สนามในสโมสร ตร. ลุยค้นหาเชิงรุกแคมป์คนงานสุขุมวิท กทม.เกาะติดคลัสเตอร์บางขุนเทียนใกล้ชิด ลุ้น 1 เม.ย.สมุทรสาครจ่อผ่อนคลายอีก ศบค.ยันกิจกรรมสงกรานต์ยังจัดได้แต่เข้มงวดขึ้น วัคซีนโควิดไทยเริ่มทดลองในคน! อภ.-มหิดลปรับสูตรคลุมสายพันธุ์แอฟริกา

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เวลา 11.30 น.  พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  73 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 66 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 44 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 27,876 ราย หายป่วยสะสม 26,663 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,122 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 60 ปี พักอาศัยอยู่ใน กทม. อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง และมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โดยวันที่ 14  มี.ค.เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก จากนั้นวันที่ 15 มี.ค.มีอาการหายใจเหนื่อย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.โดยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์วินิจฉัยเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงและพบเชื้อโควิด-19 จึงนำตัวเข้าห้องแยก กระทั่งวันที่ 18 มี.ค.มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและเสียชีวิตในที่สุด ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสม 91 ราย
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการรายงานการกระจายวัคซีนของซิโนแวค จำนวน 8 แสนโดส ที่ได้รับมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. โดยจะกระจายไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด 3 แสนโดส ปกป้องบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า 2 แสนโดส และใช้สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ท่องเที่ยว 3 แสนโดส ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21  มี.ค.มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 73,517 คน และวันที่ 22  มี.ค.จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ จ.สมุทรสาครนั้น มีการฉีดไปแล้วเกิน 35,000 ราย และหลังจากนี้จะมีการฉีดให้ผู้ขับรถขนส่งสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดด้วย ขณะที่พื้นที่ กทม.ฉีดไปแล้ว 15,737 ราย  นอกจากนี้ จ.สมุทรสาครได้รายงานว่า ตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. จังหวัดยังระดมค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และถ้าประชาชนให้ความร่วมมือดีก็มีแนวโน้มว่าวันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไปอาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมขึ้นได้  
    ส่วนกรณีพบคนงานติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงานย่านสุขุมวิท 117 ผู้ติดเชื้อคนแรกเดินทางไป จ.พระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.เพื่อต่ออายุการทำงานในประเทศ ซึ่งต้องมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 และผลออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 15 มี.ค. ทำให้มีการค้นหาเชิงรุกระหว่างวันที่  18-19 มี.ค.ที่แคมป์คนงานสุขุมวิท 117 จำนวน 625 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 16 ราย ในจำนวนนี้ 14 รายไม่มีอาการ ขณะที่วันที่ 19 มี.ค.ได้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่แคมป์คนงานสุขุมวิท 107 จำนวน 584 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อ  และวันที่ 20-21 มี.ค.ได้มีการตรวจชุมชนรอบแคมป์คนงานสุขุมวิท 117 และตลาดใกล้เคียง จำนวน 400 ราย อยู่ระหว่างการรอผล อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่าแคมป์คนงานต่างๆ เป็นสถานที่แออัด มีการใช้สุขาและห้องพักร่วมกัน ในโรงงานมีการใช้ตู้น้ำดื่มร่วมกัน อีกทั้งยังมีคนงานบางคนฝ่าฝืนกฎบริษัทไปในพื้นที่เสี่ยง ทำให้บริษัทพิจารณาให้ออกจากงานแล้ว
ศูนย์กัก ตม.พบอีก 297 ราย
    นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการสอบสวน กรณีพบผู้ติดเชื้อในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบางเขนและสวนพลู  กทม. โดยระหว่างวันที่ 11-20 มี.ค.ตรวจเชื้อไปแล้ว 1,888  ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 98 ราย และผลการตรวจเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งรายงานผลเข้ามายังพบเพิ่มอีก 297 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำแผนควบคุมโรคเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ดังกล่าวแล้ว จะมีการแยกผู้ต้องกักที่ติดเชื้อออกจากผู้สัมผัส งดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องกักระหว่างห้อง และงดรับผู้ต้องกักใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งยังประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ ขณะนี้เตรียมเตียงผู้ป่วยไว้ 120 เตียง และสามารถขยายเพิ่มได้ 250 เตียง นอกจากนี้จะเร่งฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ต้องกัก ซึ่งขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 70 ราย
    ขณะเดียวกัน มีการรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. พื้นที่พระรามที่ 2 บางขุนเทียน ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวไปตรวจเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเพื่อขอวีซ่า และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงทำการสอบสวนโรค มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 37  ราย สัมผัสเสี่ยงต่ำ 178 ราย โดยระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค. ตรวจเชื้อไปแล้วทั้งสิ้น 71 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน  30 ราย กลุ่มก้อนนี้ กทม.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม กทม.รายงานว่าขณะนี้ใน กทม.มีการตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่า 83,000 ราย โดยเฉพาะ 6 เขตที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร ตรวจไปแล้ว 21,458 ราย หลักๆ แล้วเป็นโรงงาน 128 แห่ง สำหรับตลาดได้มีการค้นหาเชิงรุกหมดแล้ว โดยเน้นไปที่ชุมชนเป็นหลัก  
    เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการเดินทางแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีกลุ่มก้อนการติดเชื้อโควิด-19 จึงเกิดความกังวลว่า ศบค.จะต้องปรับเปลี่ยนมาตรการใดหรือไม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขอย้ำว่า ศบค.มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าในเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ มีหลายฝ่ายเกิดความเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นหรือไม่อย่างไร และมีประชาชนจำนวนมากที่มีอาการแพนเดมิกฟาทีก (Pandemic Fatigue) คืออาการเหนื่อยล้าจากการที่เราต้องอยู่กับโรคระบาดมานาน ถูกจำกัดต่างๆ จึงอยากจะออกไปผ่อนคลาย โดยเฉพาะการข้ามพื้นที่ ซึ่ง ศบค.ได้เน้นย้ำว่าสงกรานต์ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ปลอดภัยอยู่ในมาตรการที่ทางพื้นที่หรือจังหวัดดูแลได้ และที่สำคัญในส่วนของสาธารณสุขนั้นยังมีระบบที่เพียงพอดูแลได้ ดังนั้นโดยรวมแล้วกิจกรรมทางศาสนาจัดได้แน่นอน รวมถึงงานบุญ งานแห่ การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้าน การแสดงออกทางวัฒนธรรม คือเน้นให้ไปดูไปชมและให้มีความสุขได้ ซึ่งให้บริหารความเสี่ยงและความสุขควบคู่กันไปได้
    ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการพบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัดว่า  ยังเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ส่วนมาตรการผ่อนคลายเทศกาลสงกรานต์ที่ ศบค.ผ่อนคลายไปก่อนหน้านี้ อยู่บนพื้นฐานมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และได้ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดติดตามสถานการณ์ เช่น? มีการพบคลัสเตอร์ใหม่ 10-20 ราย ที่จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังให้เข้มงวดมากขึ้น ขอย้ำว่าการจัดกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ แต่อาจจะเพิ่มระยะห่าง จำกัดจำนวนคน กิจกรรมและกิจการที่ผ่อนคลายไปแล้วยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพียงแต่ให้เฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม? ก่อนที่เราจะมีมติผ่อนคลายได้มีการหารือกันแล้วว่า อาจจะมีคลัสเตอร์หรือการระบาดใหม่ระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นในวงแคบหรือวงกว้าง? พื้นที่เฝ้าระวังหลักๆ คือในพื้นที่ชุมชน ตลาดสด  ตลาดนัด ซึ่งมาตรการได้มีการดำเนินการที่เข้มข้นอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่ากังวลอะไร? ในภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งมีการประเมินแล้วว่าในช่วงวันหยุดยาวเรายังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ? ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
วัคซีนไทยเริ่มทดลองในคน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการกระจายวัคซีน 8 แสนโดสที่เพิ่งเข้ามาว่า จะกระจายลงไปในพื้นที่ โดยรอบนี้จะลงไปที่ จ.ภูเก็ต  1 แสนโดส เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส และ จ.สมุทรสาคร เพื่อให้เห็นว่าจัดสรรไปแล้วมีผลตอบสนองกลับมาอย่างไร เอาให้เห็นดำเห็นแดงไปเลย โดยการกระจายเป็นไปตามหลักระบาดวิทยา หากต้องการเปิดให้เคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ต้องลงไปในเมืองที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ส่วนจังหวัดที่มีการระบาด เช่น สมุทรสาคร  กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ต้องจัดสรรไปด้วยให้ไปถึงประชาชน ตลาด ไม่เฉพาะแค่กลุ่มแพทย์
    ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะสรุปออกมาให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะกระจายไปในที่ใดบ้าง ไม่ต้องกังวลเพราะในเดือน เม.ย.จะเข้ามาอีก 1 ล้านโดส และหากเจรจาจัดหาเพิ่มได้จากจีน ถ้าเขาสามารถจัดส่งได้จะมีเพิ่มเข้ามาต่อเนื่องไปถึงเดือน มิ.ย.  จนถึงวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยได้มาต้นเดือน มิ.ย.
    นายอนุทินกล่าวว่า ไทม์ไลน์ที่วางไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไปจะจัดฉีดได้ตามกำหนด แต่พอมีคลัสเตอร์ระบาดใหม่เข้ามาเรื่อยๆ จำเป็นต้องหาวัคซีนอื่นเข้ามาก่อน ยืนยันว่าเราไม่ได้ขาดแคลน และในสถานการณ์ขณะนี้ที่ถามว่าทำไมไม่เอาเข้ามาหลายยี่ห้อ เพราะทำไม่ได้ เข้ามามากก็ไม่ไหว เพราะแต่ละยี่ห้อมีคุณสมบัติต่างกัน เช่นระยะเวลาการฉีดและการตอบสนอง ทำให้บริหารจัดการลำบาก บางยี่ห้อมาขวดเดียวใช้เข็มเดียว ดังนั้นวัคซีนจากสองยี่ห้อถือว่าเพียงพอ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จ.ภูเก็ตต้องการวัคซีน 9 แสนโดส สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาภายในเดือน ก.ค.นี้ เป็นไปได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นไปได้  สมมติเดือน มิ.ย.วัคซีนแอสตราเซเนกาส่งให้ 5 ล้านโดส จากนั้นส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดส ถ้าภูเก็ตต้องการ 9 แสนโดสไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราจะกระจายให้ประชาชน จัดให้ทหาร ตำรวจ ตามแนวชายแดน ซึ่งได้แจ้งกับเสนาธิการทหารบกอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วว่า จะให้ทั้งล็อตไปบริหารจัดการ วัคซีนวันนี้มีเพียงพอ เรื่องประหยัดเงินไม่สำคัญเท่ากับสามารถกระจายได้ ครอบคลุมจำนวนคนที่จะได้รับมากขึ้น และเมื่อได้รับวัคซีนแล้วแนวโน้มก็จะดีขึ้น ป่วยน้อยลงความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก็ลดลง
    ที่มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล แถลงข่าวความคืบหน้าการทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1  และ 2 โดยนายอนุทินกล่าวว่า การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นเองภายในประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงและพึ่งพาตนเอง ซึ่ง อภ.ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ผลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีในการเดินหน้าศึกษาวิจัยฉีดวัคซีนในระยะที่ 1  และ 2 ให้แก่อาสาสมัครจำนวน 460 คน เพื่อให้มีผลครบถ้วน  ก่อนนำข้อมูลไปยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ. แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยไข่ไก่ฟัก ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที และคาดว่าภายในปี 2565 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ โดยกำลังการผลิตได้ประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี
    ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าโครงการวิจัยศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า วันนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนในอาสาสมัครจำนวน 4 คน  แบ่งเป็นช่วงเช้า 2 คนและช่วงบ่าย 2 คน โดยระยะแรกจะมีการแบ่งอาสาสมัครจำนวน 18 คน เป็น 6 กลุ่ม ทั้งนี้ อภ.ได้ปรับสูตรโครงสร้างวัคซีนซึ่งอาจมีผลกระตุ้นได้ในวงกว้าง  หมายถึงอาจมีประสิทธิภาพครอบคลุมเชื้อแอฟริกาใต้.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"