ส่อเลื่อนถกพรบ.ประชามติ


เพิ่มเพื่อน    

  ร่างกฎหมายประชามติส่อเค้ายื้อไปอีก กฤษฎีกาหนักใจแก้ไขเนื้อหาผูกโยงมาตรา 9 ไม่ทัน ส่อเลื่อนเปิดประชุมไปหลังสงกรานต์ ซ้ำร้ายอาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก แนะจับตาโหวต ม.10-14 ระอุแน่ ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคว่า จุดยืนไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการแก้ไขอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ก็ไปว่ากัน ส่วนจะตัดหรือไม่ตัดอำนาจเป็นเรื่องของสภาเป็นคนตัดสิน
    ถามถึงว่าที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาจาก ส.ส.อย่างเดียวหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ไม่จำเป็น และหากจะแก้ไขต้องดูบริบทตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภาพรวมที่ต้องไปคุยกันในพรรคว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ต้องไปว่าการถึงรายละเอียดในแต่ละครั้ง ไม่ใช่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค พปชร.มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาตรงไหนบ้าง นายอนุชากล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากจะมองว่าในอนาคตมีปัญหาหรือไม่อย่างไร อยู่ที่สังคมและรัฐสภาเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่เราตัดสิน เพราะเราเป็นคนอาสาเข้ามาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
    เมื่อถามว่า ดูเหมือนพรรค พปชร.จะถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุชากล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกต่างอยู่แล้วในทางการเมือง หากคิดเห็นเช่นเดียวกันคงไม่ปกติ เพราะการเมืองต้องมีความเห็นที่หลากหลาย สุดท้ายต้องมาจบว่ารัฐสภาจะไปทางไหน ต้องใช้เสียงส่วนรวมตามระบอบประชาธิปไตย
    เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ต้องพูดคุยกันอยู่แล้ว    
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคว่า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำไปพิจารณาร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าประเด็นใดที่เห็นตรงกันหรือไม่ตรงกันบ้าง โดยเบื้องต้นพรรคจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. สิทธิชุมชน และการกระจายอำนาจ  
นายวราวุธ? ศิลปอาชา? รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา? (ชทพ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า คาดว่าพรรคจะประชุมก่อนประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เม.ย. ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้นคงต้องหารือกันก่อน แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วที่แตะพระราชอำนาจ หรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท  พรรคไม่ขอเกี่ยวข้อง
    เมื่อถามว่าประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคติดใจหรือไม่ นายวราวุธ?กล่าวว่า ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คนคนหนึ่งตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใดคงต้องเป็นเรื่องที่? ส.ว.รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย? ส.ว.ชุดนี้ก็แต่งตั้งมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ ?ส.ว.ทิ้งเขาคงไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
    วันเดียวกันนี้ ยังคงมีประเด็นเรื่องการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาท้วงติงที่ระบุการเปิดประชุมเร็วเกินไป ว่าได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายชวนเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นเรื่องการให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติของรัฐสภา เพื่อดูว่าทาง กมธ.จะทำเสร็จหรือไม่ และต้องคิดเผื่อเวลานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งการออกวาระล่วงหน้า ซึ่งนายชวนและตนเองรับทราบเรื่องเหล่านี้
    เมื่อถามย้ำว่า นายชวนยืนยันหรือไม่ว่าเปิดวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ นายวิษณุกล่าวว่า นายชวนไม่ได้ยืนยัน ให้แล้วแต่รัฐบาล แต่ท่านได้เสนอแนะว่าให้บอกเวลาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆ ยังไม่ขอพูดถึง เอาเป็นว่าได้พูดคุยกับนายชวนชัดเจนแล้ว เนื่องจากยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จะมาพูดระบุถึงเรื่องวันที่ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมที่จะมาพูดก่อน
    นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ส่งเนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขมาให้ กมธ. โดยกฤษฎีกาแจ้งว่าหนักใจ อาจไม่สามารถพิจารณาแก้ไขเนื้อหาเสร็จได้ทัน เพราะต้องแก้ไขเนื้อหาที่ผูกโยงกับมาตรา 9 อีกหลายมาตรา ดังนั้นแนวโน้มการเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 7-8 เม.ย. ตามที่นายชวนระบุนั้น คงไม่สามารถเปิดประชุมได้แล้ว คาดว่าน่าจะเป็นหลังสงกรานต์ และในประชุม กมธ.ในวันที่ 1-2 เม.ย. ก็คงหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมายเสร็จไม่ทัน คงทำได้แค่ประเมินสถานการณ์กัน
    เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ปัญหาร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะออกมาทางใด เพราะสมาชิกรัฐสภาหลายคนเกรงว่าเนื้อหามาตรา 9 ที่แก้ไขอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ นพ.พลเดชกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่พิจารณากันอยู่ ส่วนจะโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติในวาระ 3 เพื่อตัดปัญหาเลยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุมรัฐสภา ไม่ใช่ ส.ว. เพราะเสียงข้างมาก แต่ขอให้จับตาตอนโหวตวาระ 2 ในมาตรา 10 ถึงมาตรา 14 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับมาตรา 9 ให้ดี อย่ากะพริบตา มีโอกาสจะไม่ราบรื่น ตีรวนกันสูง เป็นไปได้มาตราเหล่านี้อาจไม่ผ่าน
     ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวถึงจุดยืนพรรคเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ว่าพรรคสนับสนุน และจะให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว ส่วนความกังวลรัฐสภาอาจลงมติไม่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและนำสู่อุบัติเหตุทางการเมืองนั้น ขออนุญาตไม่ให้ความเห็นไกลไปถึงขนาดนั้น เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่สอง ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาฯ ขอกลับไปปรับปรุง ต้องให้เวลาเขาก่อน
         นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลระบุถ้ากฎหมายประชามติบังคับใช้แล้วมีปัญหาสามารถยื่นแก้ไขได้ว่า  จริงๆ แล้วเมื่อรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายที่มีสำคัญ ต้องให้เวลาในการใช้ดูก่อนว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ไม่ใช่จะมาแก้ไขหลังประกาศใช้เลย ไม่สมควร ซึ่งในมาตรา 9 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ได้ขัดหลักการต่อกฎหมายอย่างไร
       เมื่อถามถึงกรณี ส.ว.ออกมาท้วงติงว่ามาตรา 9 อาจขัดรัฐธรรมนูญ นายประเสริฐตอบว่า ไม่จริง ประชามติส่วนหนึ่งเป็นความคิดเห็นของประชาชน เหมือนการเสนอกฎหมาย ประชาชน 5 หมื่นรายชื่อสามารถเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ 1 หมื่นชื่อเสนอกฎหมายธรรมดาได้ ประชามติเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งต้องสอบถามประชาชน ทำไมกลัวอำนาจประชาชนหรืออย่างไร.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"