เอื้อมไม่ถึงทำเนียบ อยากเลือกตั้งพ่ายยับ'ศรีวราห์'รวบ14แกนนำแจ้ง3ข้อหา


เพิ่มเพื่อน    

    "คนอยากเลือกตั้ง" ไปไม่ถึงทำเนียบฯ "ศรีวราห์" นำตำรวจกว่า 3 กองร้อยตรึงแน่น ก้าวไม่พ้นหน้า มธ. กลุ่มย่อยก็จอดแยกมัฆวานฯ "รังสิมันต์" ประกาศยอมยุติชุมนุม อ้างแค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว  ขอมอบตัวลดความสูญเสีย "ตร." จับ 14 แกนนำ แจ้ง 3 ข้อหา "บิ๊กตู่" ย้ำชัดเลือกตั้งต้นปี 62 ไม่เร็วกว่านี้ ลั่นม็อบต้องดู กม. อย่าอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว จับตา "ศาล รธน." ตีความ 2 กฎหมายลูก 23 พ.ค.นี้
    เมื่อวันที่ 22 พ.ค.61 เวลา 01.00 น. ก่อนจะถึงเวลานัดชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายปีนี้ ในเวลา 09.00 น. ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และนายอานนท์ นำภา สมาชิกเครือข่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมกันยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ ผกก.สน.ชนะสงคราม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2
    โดยคดีนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิด จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ค. และวันที่ 19-20 พ.ค. มีหนังสือตอบกลับแจ้งผู้ฟ้องให้ทราบเรื่องผลการพิจารณาขอจัดการชุมนุม โดยให้ชุมนุมที่บริเวณทางเท้าหน้า ม.ธรรมศาสตร์ และจะประสานหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์มารับเรื่องของผู้ฟ้อง ซึ่งการเคลื่อนขบวนย้ายผู้ชุมนุมทำไม่ได้ จะขัด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาต หลังจากผู้ฟ้องยื่นกำหนดและแผนชุมนุมให้ทราบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ระบุจะจัดชุมนุมในวันที่ 21 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และวันที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ในวาระครบรอบการรัฐประหารโดย คสช. 4 ปี และเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะขอใช้ช่องทางจราจร ถ.ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก 1 ช่อง โดยคาดว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุมราว 2,000 คน ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้อง จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม จึงขอให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องทั้งสองยกเลิกเงื่อนไขการชุมนุมจนกว่าการชุมนุมสาธารณะของผู้ฟ้องจะสิ้นสุด พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องด้วยเป็นเงิน 50,000 บาท จากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และผู้ฟ้องยังขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องทั้งสองที่กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมจำกัดเสรีภาพการชุมนุมดังกล่าวของกลุ่มผู้ฟ้อง จนกว่าจะชุมนุมเสร็จสิ้นในวันที่ 22  พ.ค. เวลา 18.00 น.
    ทั้งนี้ องค์คณะนำคำฟ้องและคำขอมาพิจารณาแล้ว ก็ได้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินทันทีในเย็นวันที่ 21 พ.ค. และศาลปกครองกลาง โดยนายฉัตรชัย นิติภักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน และองค์คณะรวม 3 คน ก็ได้มีคำสั่งออกมาช่วงเวลา 01.00 น. ในวันที่ 22 พ.ค.
    โดยความยาวคำสั่งศาลมีทั้งสิ้น 10 หน้า สรุปว่า ในข้อกฎหมาย คดีนี้ถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) (3) แต่ในส่วนที่ ผกก.สน.ชนะสงคราม ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ออกคำสั่งกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดชุมนุมนั้น ก็เป็นการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาตรา 19 วรรคสี่ (5) ที่กรณีไม่ใช่การแจ้งให้แก้ไขการชุมนุมที่เห็นว่าจะขัด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และไม่ใช่การห้ามชุมนุมตามมาตรา 11 วรรคสามด้วย ผู้ฟ้องจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 11 วรรคสี่ได้ ซึ่งการที่ผู้ถูกฟ้องได้มีเงื่อนไขหรือห้ามการชุมนุมเว้นแต่จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.นั้น มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 และเมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการอุทธรณ์คำสั่งนั้นไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องให้มีการอุทธรณ์คำสั่งตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 44 และหากไม่มีการพิจารณาให้เสร็จในเวลาอันสมควร ซึ่งอาจเทียบเคียงกรณีการอุทธรณ์คำสั่งตาม ม.11 วรรคสี่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือผู้มีอำนาจต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง
ศาลไม่คุ้มครองม็อบ
    ดังนั้นเมื่อศาลไต่สวนแล้ว ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งตามขั้นตอน จึงไม่ได้เป็นการดำเนินวิธีการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามขั้นตอนมาก่อน ผู้ฟ้องจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
    ส่วนนายอานนท์นั้น ไม่ได้เป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 16 พ.ค.2561 จึงไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในคดีนี้
    องค์คณะศาลปกครองกลางดังกล่าวจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และไม่จำต้องมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
    ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบางส่วนพักค้างคืนอยู่ภายในหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ต่างทยอยทำธุระส่วนตัวและออกมาชุมนุมเพื่อรอการเคลื่อนขบวน โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีตำรวจพลร่มหญิงจากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี เป็นแนวปะทะด้านหน้าสุด ตั้งแถวอยู่บริเวณด้านหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถติดเครื่องขยายเสียงมาประกาศชี้แจงแก่ผู้ชุมนุมขอให้ยุติกิจกรรม ภายหลังศาลปกครองยกคำร้องไม่คุ้มครองการชุมนุมครั้งนี้
    กระทั่งเวลา 09.00 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มีนายรังสิมันต์ โรม และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เป็นแกนนำ ขึ้นรถขยายเสียงประกาศปลุกใจผู้ร่วมชุมนุมซึ่งมีประมาณ 500 คน และเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านประตู 3 ก่อนจะมาหยุดชะงักชั่วคราวตรงหน้าประตู เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแนวกั้นบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย ฝั่งถนนหน้าพระธาตุทั้ง 2 ฝั่ง 
    นายรังสิมันต์ได้เป็นตัวแทนเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอเคลื่อนขบวนผ่านไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวผิดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ก่อนที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนรถขยายเสียงไปประชิดกับแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้  
    จนเวลา 10.00 น. สถานการณ์การเผชิญหน้าเริ่มตึงเครียด มีการยื้อยุดกันไปมาหลายครั้ง ทำให้มีผู้หญิงที่เข้าร่วมชุมนุมมีอาการเป็นลม ทางนายรังสิมันต์จึงประกาศขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทางเพื่อนำผู้ป่วยออกไปส่งโรงพยาบาลด้วยตนเอง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธ ทำให้เกิดปะทะคารมกันขึ้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะส่งรถพยาบาลเข้ามาทางด้านหลังกลุ่มผู้ชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปจากบริเวณ 
    จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็พยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านเครื่องขยายเสียงอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้เคลื่อนขบวนผ่าน ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะขยายเวลาการชุมนุมต่อไป จนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอนุญาต  
    ต่อมาเวลา 10.45 น. ได้มีกลุ่มคนที่สวมใส่เสื้อแดง ซึ่งอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พยายามจะเข้ามาสบทบกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้ามาสบทบและตั้งแนวกั้นเอาไว้ ได้กรูฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสมทบกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่อยู่ด้านในการล้อมกรอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้บางคนล้มได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ทันที ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวออกไป โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที 
    แกนนำกลุ่มอยากเลือกตั้งที่อยู่บนรถปราศรัยได้ประกาศผ่านเครื่องเสียงว่า "ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกเราไม่สามารถควบคุมสั่งการได้"
เผชิญหน้าตึงเครียด
    ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเช่นเดียวกันให้หยุดกระทำพฤติกรรมดังกล่าวเพราะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นจังหวะเดียวกับฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์ทั้งสองฝ่ายเริ่มผ่อนคลาย กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันหาที่หลบฝนบริเวณโดยรอบอย่างทุลักทุเล
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเผชิญหน้าของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน บริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งที่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กั้นรั้วเหล็กตลอดแนว ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนขบวนได้นั้น ปรากฏว่านายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้เกิดเป็นลมทรุดตัวลงกับพื้น ทำให้เพื่อนร่วมชุมนุมอยู่ด้วยตะโกนขอน้ำกับยาดมเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยอาการดังกล่าวเนื่องจากนายสิรวิชญ์ปักหลักชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งหอประชุมเล็กตลอดคืนที่ผ่านมาโดยไม่ได้หลับไม่ได้นอน
    เวลา 12.00 น. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เดินทางมาติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พร้อมสั่งแนวทางการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ใช้เจ้าหน้าที่กองกำลังควบคุมฝูงชนประมาณ 3 กองร้อยเข้าดูแลพื้นที่ส่วนผู้ชุมนุมมีประมาณ 200 คน ซึ่งจะไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้าฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการจับกุมทันที เบื้องต้นเรายังอยู่ในระหว่างการผ่อนผันขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ
    "ถ้าการชุมนุมยังอยู่อย่างนี้ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะลดเจ้าหน้าที่ลง เหตุการณ์พอรับได้ ถ้าผู้ชุมนุมไม่แตะตัวตำรวจ ตำรวจก็ไม่แตะกลุ่มผู้ชุมนุม" พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว     
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์เดินตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกหน้าหอศิลป์ได้ตะโกนขับไล่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ออกไปๆ และเมื่อ พล.ต.อ.ศรีวราห์ขึ้นรถ กลุ่มดังกล่าวพยายามจะเข้าไปล้อมรถ เจ้าหน้าที่ได้กันไว้ ต่างส่งเสียงโห่และให้ของลับ 
    ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ และพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) เข้ารายงานสถานการณ์การชุมนุม
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมรับทราบ โดยรายงานว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างดี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยึดกฎหมายเป็นหลัก ขณะที่ พล.อ.ประวิตรได้กล่าวขอบใจ พร้อมได้ตบไปยังต้นแขน 
    โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมดำเนินการเองครับ”
    พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการดูแลการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า จะดูแลอย่างที่เคยดูแลผู้ชุมนุม ยืนยันจะไม่ให้มีการเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่แล้ว ถ้ามีผู้ชุมนุมออกมาก็จับอยู่แล้ว และเชื่อว่าการดูแลมาตรการต่างๆ จะทำให้ไม่มีการกระทบกระทั่ง ไม่มีการปะทะ 
    ถามถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวกลุ่มผู้ชุมนุมหากมีการเคลื่อนขบวน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า บอกไปตั้งนาน พูดไปตั้งนานแล้ว 
    ซักว่าหากมีการส่งตัวแทนเข้ามายื่นหนังสือสามารถทำได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ส่งตัวแทนมาได้ 3 คน ใครก็ได้ ไม่ใช่มาทั้งหมด เชื่อว่าจะไม่มีการเคลื่อนขบวนออกมา เพราะจะดำเนินการจับกุมแน่นอน และไม่ห่วงกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์ อีกทั้งจะดูแลสถานการณ์ได้ และไม่กระทบกระทั่งกัน อย่างไรก็ตาม ตนสบายใจทุกวันอยู่แล้ว
จอดป้ายแยกมัฆวานฯ 
    ขณะเดียวกัน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกันแถลงถึงการดูแลสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะเคลื่อนขบวนมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เลือกตั้งพฤศจิกายน 2561
    พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ดังนั้นผู้จัดชุมนุมยื่นขอจัดกิจกรรมไว้ตั้งแต่ต้น ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย ผู้กำกับฯ แจ้งให้แกนนำรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ตำรวจเตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์ และยืนยันว่าไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แต่เราพยายามทำให้เกิดความปลอดภัยในภาพรวมมากที่สุด 
    "เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ดำเนินการจำนวน 5 คน คือ นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นางสาวณัฏฐา มหัทธนา และนายปิยะรัตน์ จงเทพ ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนเกิน 5 คน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมายแล้วด้วย” รองโฆษก สตช.กล่าว
    ต่อมาเวลา 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุม นำโดยนายอานนท์ นำภา และนายเอกชัย หงส์กังวาน ได้พามวลชนคนเสื้อแดงที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้กันพื้นที่ ได้เดินทางมาตามถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลแบบดาวกระจาย เพื่ออ่านแถลงการณ์ถึงผลการทำงาน 4 ปีของรัฐบาล คสช. โดยมีผู้ร่วมขบวนมาประมาณ 100 คน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มดังกล่าวเดินทางมาถึงบริเวณแยกมัฆวานฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจของ ตชด.ประมาณ 2 กองร้อย สกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไปถึงทำเนียบฯ พร้อมกับประกาศเครื่องขยายเสียงให้สลายการชุมนุมและเดินทางกลับ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่รับฟัง ได้พยายามที่จะเดินให้ถึงทำเนียบฯ ให้ได้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่นำโดย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น.,  พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น. ได้เข้าควบคุมตัวกลุ่มแกนนำ กันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ก่อนเข้าเคลียร์พื้นที่ โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ร้อยแขนกั้นเป็นกำแพงมนุษย์ 3-4 ชั้น ก่อนจะเข้าควบคุมตัวแกนนำได้ทั้งหมด โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์พร้อมด้วย พล.ต.อ.ศรีวราห์เดินทางมาสอบปากคำด้วยตัวเอง 
    อย่างไรก็ตาม แกนนำได้ขออ่านแถลงการณ์ถึงความล้มเหลวในการดำเนินงาน 4 ปีของรัฐบาล คสช.และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด พร้อมกับชูมือ 3 นิ้วแสดงถึงสัญลักษณ์ไม่เอารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หลังแถลงการณ์เสร็จเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งหมดเพื่อไปสอบปากคำ โดยแยกกันสอบตาม สน.ต่างๆ
    เวลา 13.45 น. ในส่วนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งหลบฝนบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมารวมตัวกันบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งหลังฝนหยุดตกลง อย่างไรก็ตาม มีประชาชนที่ชุมนุมบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าว และยังไม่เห็นความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแกนนำกลุ่มปราศรัยเล่าถึงสถานการณ์ของผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่กำลังเดินไปทางไปยังทำเนียบรัฐบาล 
    นายรังสิมันต์ได้เข้าหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง โดยยื่นข้อเสนอขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมฝูงชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านแนวกั้นเพื่อไปรวมกับกลุ่มของนายอานนท์ระหว่างทาง
อ้างชนะแล้วยอมยุติ
    เวลา 14.50 น. สถานการณ์เริ่มเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งขบวนอีกครั้ง ก่อนที่แกนนำจะส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมดันแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่มีผู้ชุมนุมบางคนเริ่มปาขวดน้ำไปยังแนวกั้น เนื่องจากเข้าใจผิดว่ามีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ขณะผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้น ตามประกาศของแกนนำผ่านเครื่องขยายเสียง ส่งผลให้เต็นท์สำหรับบังแดดและฝน บริเวณหน้าแนวกั้นพังลง 3 ตัว แต่การปะทะกันครั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่สามารถฝ่าแนวกั้นไปได้ 
    เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ใช้อาวุธหรือความรุนแรงในการดำเนินการ และขอความร่วมมือไปยังแกนนำกลุ่ม อย่าสร้างความสับสนแตกแยก ที่จะทำให้มวลชนเกิดความเข้าใจผิด
    เวลา 15.20 น. นายรังสิมันต์ได้กล่าวกับมวลชนผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อข้อเสนอที่ยื่นแต่อย่างใด แต่ทว่ายังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มของเราอีกกลุ่ม ที่นำโดยนายอานนท์ นำภา ทนายความของนักเคลื่อนไหว และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำคนอยากเลือกตั้ง เดินทางใกล้ถึงทำเนียบรัฐบาลแล้ว ทำให้กลุ่มของตนไม่ได้รับความสนใจที่จะเจรจาต่อรอง
    "ผมและแกนนำที่มีชื่อตามหมายจับรวมทั้งสิ้น 3 ราย จะยอมมอบตัวเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางกลับบ้านตามปกติ อย่างไรเสียผมต้องถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว แม้จะยังไม่มีหมายเรียกก็ตาม การชุมนุมในวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จกว่าที่เราคาดหวังไว้ ทั้งนี้ 4 ปีของระบอบ คสช. ไม่มีใครที่ออกมาต่อสู้ได้เท่าพวกเรา ซึ่งลองมาแล้วทุกวิธี วันนี้แม้ไม่อาจนำประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ แต่ก็ทำให้คนรุ่นใหม่นำความตั้งใจนี้ไปต่อยอดประชาธิปไตยในอนาคตต่อไป และในวันนี้ผมและแกนนำไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงตัดสินใจมอบตัว" นายรังสิมันต์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายรังสิมันต์, นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว และนายปิยะรัตน์ จงเทพ จะเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แสดงสัญลักษณ์โดยการชู 3 นิ้วพร้อมกล่าวว่า ขอให้สัญลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการตลอดไป ขอให้กลุ่มผุ้ชุมนุมเดินกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ ซึ่งใครต้องการให้กำลังใจแกนนำที่ถูกควบคุมตัว สามารถเดินทางไปที่ สน.ชนะสงครามได้ แต่ขอให้แยกกันเดินทางไปอย่างสงบ
    จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเคลียร์พื้นที่และส่งผู้ร่วมชุมนุมเดินทางกลับ และเปิดถนนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้การจราจรใช้ได้ตามปกติ ในเวลา 16.30 น.
    ที่ สน.ชนะสงคราม พล.ต.อ.ศรีวราห์เดินทางไปสอบปากคำผู้ต้องหาและติดตามความคืบหน้าสำนวนการสอบสวนแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จำนวน 14 คน แบ่งเป็นคุมตัวอยู่ที่ สน.พญาไท 10 คน ได้แก่ 1.นายเอกชัย หงส์กังวาน 2.นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 3.นายอานนท์ นำภา 4.น.ส.ชลธิชา หรือเกด แจ้งเร็ว 5.น.ส.ณัฏฐา หรือโบว์ มหัทธนา 6.นายวิโรจน์ โตงามรักษ์ 7.นายพุทธไธสิงห์ ทิมจันทร์ 8.นายคีรี ขันทอง 9.ว่าที่ร้อยตรีภัทรพล จันทร์โคตร 10.นายประสงค์ วางวัน และ สน.ชนะสงคราม 4 คน ได้แก่ 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายปิยะรัฐ จงเทพ 3.นายสิริวิทย์ เสรีธิวัฒน์ 4.นายนิกร วิทยาพันธุ์
    พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 215 ข้อหาผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปหรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทั้งนี้ ในส่วนของนายนิกร ที่เป็นผู้ใช้คีบตัดแม่กุญแจประตู 3 ม.ธรรมศาสตร์ ต้องรอให้อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ แจ้งดำเนินคดีก่อน ถึงจะสามารถแจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการและลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 
    "การสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ หากทำการสอบสวนเสร็จสิ้น จะคุมตัวแกนนำ ทั้ง 14 ไปขออำนาจศาลเพื่อทำการฝากขัง ในส่วนของพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากก่อเหตุลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้ง" รอง ผบ.ตร.กล่าว 
    ช่วงค่ำ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยพลัน ทั้งนี้ สำนักงานได้เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบในฐานะที่เป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง
ตีความ กม.ลูก 2 ฉบับ
    ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งวันเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยใช้กำลังจากกองกำกับตำรวจสันติบาล 3 จำนวน 200 นาย และตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 4 กองร้อย ดูแลพื้นที่ภายในทำเนียบฯ ส่วนบริเวณรอบนอกมีการนำรั้วเหล็กมาวางกั้นทุกประตูทางเข้า-ออก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเรียงหน้ากระดานประจำอยู่ทุกจุด ขณะเดียวกัน ยังมีทหารคอยเดินลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาวัตถุต้องสงสัยพื้นที่โดยรอบ ในส่วนการเดินทางเข้า- ออกทำเนียบฯ มีการตรวจคนเข้า-ออกอย่างเข้มงวด อนุญาตเฉพาะให้ผู้ที่มีบัตรประจำตัวทำเนียบฯ กับรถยนต์ที่มีสติกเกอร์เข้ามาได้เท่านั้น 
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้ว่า ก็เรียกร้องไป เรียกร้องได้ ซึ่งท่านอ้างว่าเป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายมีอยู่ ฉะนั้นการให้เรียกร้องได้ ตรงไหนที่ไหน กฎหมายการชุมนุมว่าอย่างไร ก็ไปว่ากันมาให้ครบ
    “ผมบอกแล้วว่าเป็นไปตามขั้นตอนของผม คือต้นปี 62 ไม่มีเร็วกว่านั้น ผมก็ต้องยืนยันในหลักการของผม ที่มันล่าช้าไป 3-4 เดือน เป็นเรื่องความพร้อมของกฎหมาย การประท้วงอะไรตอนนี้ก็พยายามผ่อนผันให้ ตามที่เราสามารถให้ได้ เราไม่ต้องการจะปิดกั้น วันนี้อยากจะบอกว่าผมพูดหลายครั้งแล้ว คนเหล่านี้ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นหลายครั้งแล้ว รัฐบาลก็รับมาพิจารณา และดำเนินการในสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่เขาก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่ากฎหมายมีอยู่ทุกฉบับ พ.ร.บ.ต่างๆ เยอะแยะไปหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า จะมาอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ บอกแล้วเราอย่าทะเลาะเรื่องรัฐธรรมนูญกันต่อไปอีก ทั้งวันนี้และวันหน้าเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ใครมาเดินก็ไม่ได้ ถ้าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็แล้วแต่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายทั้งหมด 
    “รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอากฎหมายไปบังคับใช้กับคนที่เห็นต่าง เห็นต่างได้แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย จำคำพูดผมไว้นะ ฉะนั้นการดำเนินคดีต่างๆ ก็จะต้องเอาจริงเอาจังให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะเสียหาย ผมให้ประเทศเสียหายไม่ได้ อะไรที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นอนาคตของประเทศในวันข้างหน้าทั้งสิ้น" นายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ว่า ทั้ง 2 ฉบับมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือบทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทางที่เป็นไปได้ก็มีเพียงขัดหรือไม่ขัด ซึ่งถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต้องดูว่าจะกระทบกับสาระสำคัญที่จะทำให้ร่างนั้นตกไปทั้งฉบับ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่บทบัญญัติเฉพาะมาตรานั้น ก็ตกไป นำมาใช้บังคับไม่ได้ แต่ตัวร่าง พ.ร.ป.นั้น สามารถนำมาบังคับใช้ได้ แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งทั้งฉบับ ร่าง พ.ร.ป.ก็จะตกไป ทาง กรธ.ก็ต้องกลับมาทำใหม่ ซึ่งคิดว่าใน กรธ. ถ้าเรื่องมาถึง ก็น่าจะแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้ง แล้วส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตรา ก็สามารถพิจารณา 3 วาระรวดได้เลย ดังนั้น จึงไม่น่ากระทบต่อโรดแมปในการเลือกตั้ง เพราะน่าจะใช้เวลารวมทั้งขั้นตอนของ สนช.แล้ว 2-3 สัปดาห์ก็น่าจะจบ
    “ร่างกฎหมาย ส.ส.ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า การให้คนพิการลงคะแนน และตัดสิทธิ์คนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งถ้าตัวนั้นใช้ไม่ได้ ก็จะหายไป 2 มาตรา แต่ถ้าเป็นร่าง ส.ว. ก็จะมีปัญหาหน่อย เพราะว่า มันกระทบทั้งบทเฉพาะกาลและเนื้อหาข้างใน ตรงนั้นอาจจะมีปัญหาได้ว่า ถ้าขัดเฉพาะตรงนั้นแล้วจะทำอย่างไร เพราะว่าบทเฉพาะกาลมันจะหายไป ช่วงแรก ส.ว.ที่มาจากการเลือก ไม่ใช่ 200 แต่เป็น 50 เพราะฉะนั้น ในเวลาเขียนบทเฉพาะกาล ก็เขียนเผื่อเอาไว้เฉพาะ 50 แล้วมาตราที่ระบุที่ว่าให้มาจาก 2 ทางนั้น พอตกไปแล้ว ตัวที่เขียนรองรับ 50 คน ก็จะตกไปด้วย ตรงนั้นก็จะเป็นปัญหา ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร” ประธาน กรธ.กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"