อ้างกลไกทหาร ปัดหนุนเมียนมา ตายแล้ว460ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

นายกฯ แจงไทย-เมียนมายังค้าขายตามปกติควบคู่มาตรการอาเซียน ปัดหนุนใช้ความรุนแรง การส่งตัวแทนร่วมวันกองทัพเป็นไปตามกลไกทางทหาร "บิ๊กป้อม" แจงเข้าร่วมสวนสนามเหตุเป็นเพื่อนบ้าน ปัดไม่ยุ่งใช้ความรุนแรง โฆษก พท.จี้รัฐบาลลดการแสดงออกหนุนรัฐบาลเมียนมาใช้ความรุนแรง ผงะ! เสียชีวิตแล้ว 460 ราย

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เมียนมาในส่วนของไทยมีนโยบายการดูแลผู้อพยพอย่างไรว่า วันนี้เราทราบถึงปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งได้มีการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้อยู่  อย่างไรก็ตามขอให้เป็นเรื่องภายในของเราไปก่อน ซึ่งเราไม่อยากให้มีการอพยพเข้ามาในพื้นที่ของเรา ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ต่างๆ เหล่านี้ด้วย อันนี้ขอให้ระมัดระวังนิดนึง
    เมื่อถามถึงการส่งตัวแทนไทยไปร่วมงานวันกองทัพเมียนมา ขณะที่กองทัพนานาชาติ 12 ชาติมหาอำนาจ ประณามกองทัพเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มันเป็นช่องทางทางการทหารที่เราจำเป็นต้องติดตาม เราต้องหากลไกต่างๆ ที่จะสามารถติดตามในเรื่องพัฒนาการทางการเมืองในเมียนมาและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เราเป็นประเทศที่มีดินแดนติดกันย่อมมีผลกระทบด้วยกันทั้งหมด เมื่อมีการสู้รบก็ต้องมีการอพยพ เราก็ต้องเตรียมแก้ปัญหาตรงนี้ แต่จะตรงไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่เราจะพิจารณาในชั้นต้นของเราก่อน
    เมื่อถามว่า รัฐบาลคาดการณ์ตัวเลขของผู้อพยพไว้ที่เท่าไหร่ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ และต้องเตรียมการรองรับจัดพื้นที่พักพิงสำหรับผู้อพยพอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราเตรียมพื้นที่ไว้ สำหรับการที่จะเข้ามา จะอยู่ตรงไหน จะมากน้อยค่อยว่ากันอีกที อย่าเพิ่งพูดไปถึงการจัดสถานที่พักพิงหรือศูนย์อพยพ
    เมื่อถามว่า ทางการไทยจะกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างไร ในการทำงานตามแนวชายแดนให้รอบคอบ เพราะหลายกรณีถูกเชื่อมโยงว่าไทยสนับสนุนทหารเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลทราบดีและติดตามอยู่ทุกวัน กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานมาโดยตลอด  ฝ่ายความมั่นคงก็รายงานขึ้นมา
    "ไทยสนับสนุนทหารเมียนมาตรงไหน ผมไม่เข้าใจ คงไม่มีใครที่จะไปสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่า ในฐานะที่ไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดเมียนมา นายกฯ ยังย้ำในจุดยืนเดิมหรือไม่ คือวิน-วินทั้งเศรษฐกิจและประชาชน และในทางปฏิบัติมีทางออกอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ยังมีการค้าขายกันอยู่ตามปกติ ซึ่งเราต้องดูคนที่อยู่ในวงจรเหล่านี้ด้วย และคนที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนคนไทยและเมียนมา ซึ่งต้องอยู่ต้องกิน สินค้าเขาก็ยังมีความต้องการอยู่ ฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการอาเซียน หรือประชาคมอื่นๆ ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมาว่า เราไม่ไปแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน เพราะเป็นนโยบายของอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ทำตามนั้น    
    เมื่อถามว่า กรณีมีเสียงวิจารณ์ว่าไทยส่งตัวแทนไปร่วมงานสวนสนามวันกองทัพเมียนมา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เกี่ยวกัน" ถามอีกว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องของอาเซียน เราไม่ได้ไปล่วงเกินหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจการของเขา เขาไม่ยุ่งกับเรา เราก็ไม่ยุ่งกับเขา" เมื่อถามว่ามองเรื่องการใช้ความรุนแรงกับชาวเมียนมาอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่ยุ่ง ผมไม่มอง"  
     น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้รัฐบาลลดการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนกองทัพเมียนมา ที่ได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้การต้อนรับ รมว.การต่างประเทศของเมียนมา จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องท่าทีของรัฐบาลไทย  รวมทั้งกองทัพไทยยังไปมีส่วนกับการลำเลียงข้าวสาร 700  กระสอบบริเวณชายแดนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ซึ่งจะถูกนำไปสนับสนุนกองกำลังทหารเมียนมาในการปราบปรามประชาชน ล่าสุดการที่ไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมการสวนสนามของกองทัพเมียนมาในวันสถาปนากองทัพเมียนมา ทำให้น่าเป็นห่วงว่าอาจถูกมองเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการกดปราบประชาชนชาวเมียนมาด้วย  
    "ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมา เนื่องจากขณะนี้ได้ยกระดับกลายเป็นเรื่องของการละเมิดหลักมนุษยธรรมและเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ" น.ส.อรุณีกล่าว
    ด้านสถานการณ์ภายในเมียนมา ประชาชนยังคงออกมาประท้วงในหลายเมือง ถึงแม้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมากองกำลังความมั่นคงจะใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างนองเลือดที่สุด องค์การสหประชาชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในวันเสาร์ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมาอย่างน้อย 107 ราย รวมถึงเด็ก 7 ราย และในวันอาทิตย์สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ที่ระบุยอดเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์อยู่ที่  114 ราย รายงานว่ามีคนถูกฆ่าตายอีก 13 ราย ซึ่งทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมนับแต่วันก่อรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์มีประมาณ 460 รายแล้ว
    รายงานรอยเตอร์อ้างสื่อเมียนมาและผู้เห็นเหตุการณ์ว่า ชายอายุ 20 ปีคนหนึ่งโดนยิงศีรษะเสียชีวิตที่ย่างกุ้งในวันจันทร์ และมีคนบาดเจ็บด้วยหลายคน
    เหตุการณ์นองเลือดเมื่อสุดสัปดาห์ถูกทอม แอนดรูวส์  ผู้จัดทำรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ประณามว่าเป็นการสังหารหมู่ และเรียกร้องให้ทั่วโลกโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารและปิดกั้นการเข้าถึงอาวุธ ผู้บัญชาการทหารของ 12 ประเทศยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันประณามการฆ่าพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า เป็นเรื่องที่อุกอาจอย่างยิ่ง และจากรายงานที่ตนได้รับ มีผู้คนจำนวนมากถูกฆ่าตายโดยไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง
    รอยเตอร์ระบุตามสื่อเมียนมาและโพสต์ทางโซเชียลมีเดียว่า ในวันจันทร์ชาวเมียนมายังคงประท้วงในหลายเมือง  อาทิ เมืองพะโค, มินลา, คินอู และปินเลบูในภาคกลาง,  เมืองมะละแหม่งในภาคใต้, เมืองเดโมโซในภาคตะวันออก  และเมืองสี่ป้อและมิตจีนาในภาคเหนือ
    กลุ่มประท้วงหลักในชื่อว่า คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงแห่งชาติพันธุ์ ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องทางเฟซบุ๊กให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ช่วยเหลือผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับ "การกดขี่ปราบปรามที่ไม่ยุติธรรม"  ของกองทัพ
    "จำเป็นที่องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต้องร่วมกันปกป้องประชาชน" โพสต์ในเฟซบุ๊กกล่าว
    เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยงติดชายแดนฝั่งตะวันออก เพื่อตอบโต้ที่กองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) บุกโจมตียึดที่มั่นของกองกำลังความมั่นคง ทำให้มีผู้เสียชีวิต  10 รายรวมถึงนายทหาร การโจมตีซึ่งเกิดในช่วงกลางคืน ทำให้ชาวบ้านราว 3,000 คนต้องหนีตายข้ามชายแดนไทยเข้ามาหลบภัย โดยซา มู ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า การโจมตีทางอากาศซึ่งเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 9  คน
    ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์มีรายงานว่า ในภาคเหนือการสู้รบได้ปะทุขึ้นระหว่างกองกำลังกะฉิ่นกับกองทัพเมียนมาที่เมืองผากั่น ซึ่งเป็นแหล่งเหมืองหยก รายงานของกะฉิ่นเวฟส์กล่าวว่า นักรบจากกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น (เคไอเอ) โจมตีสถานีตำรวจ และทำให้กองทัพตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ ยังไม่มีรายงานความสูญเสีย
    ทั้งเคเอ็นยูและเคไอเอต่างแสดงการสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้กองทัพยุติความรุนแรงต่อผู้ประท้วงที่เป็นพลเรือน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"