ชาวกะเหรี่ยงหนีตายทหารพม่าบุกโจมตีฐานที่มั่นเคเอ็นยู ปักหลักริมแม่น้ำสาละวินรอข้ามฝั่งไทย


เพิ่มเพื่อน    

1 เม.ย.64 -  ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยจากการโจมตีของทหารพม่าที่ใช้เครื่องบินรบบุกทำลายฐานที่มั่นทางทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ยังคงทยอยเดินทางมายังริมแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นเส้นพรมแดนระหว่างไทย-พม่า เพื่อขอเข้ามาหลบพักพิงในฝั่งไทย โดยล่าสุดในช่วงบ่ายชาวกะเหรี่ยง 46 คนซึ่งมีทั้งเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ได้เดินทางจากบ้านชอโบยเดอ บ้านโตโย และบ้านโนปุ ที่อยู่ลึกเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินเท้ากว่า 5 ชั่วโมงมาถึงริมแม่น้ำสาละวินบริเวณแก่งแม่ขอเก ที่ตรงกันข้ามกับตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้งหมดเตรียมตัวข้ามมาฝั่งไทยแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทหารไทย ทำให้ต้องปักหลักหลบซ่อนอยู่ในป่าริมแม่น้ำสาละวิน

ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า หนีมาพร้อมลูกหลาน เพราะอยู่บ้านไม่ได้ จะขอข้ามไปไทยเพื่อหลบภัย เนื่องจากมีเสียงปืนใหญ่และ เครื่องบิน มายิงใกล้หมู่บ้านทำให้ไม่กล้าอยู่ และรู้สึกกลัวจึงขอมาอยู่ฝั่งไทยโดยต้องการอยู่แค่ชั่วคราว

"อยากให้ฝั่งไทยช่วยจัดที่อยู่ให้ที่ปลอดภัย  หลบจากการถูกโจมตี ไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้เลย เราไม่ได้เอาอะไรติดตัวมา กับข้าวกับปลาก็ไม่มี ถ้าจะมีคนสงสารให้ช่วยหาทาง ถ้าไม่สงสารขอให้บอกตรงๆ แต่อยากมาพักพิงเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว" หญิงชาวกะเหรี่ยง กล่าว

ขณะที่ผู้หญิงอีกคนกล่าวว่า จากหมู่บ้านกว่าจะเดินมาถึงแม่น้ำสาละวินใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างทางได้ยินเสียงปืนใหญ่ตลอด ไม่รู้ว่าเป็นระเบิดด้วยหรือไม่ ทำให้กังวลในเรื่องความปลอดภัย จึงต้องหนีออกมาจากพื้นที่

"เขายิงปืนใหญ่ และมีเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดใกล้หมู่บ้าน ทำให้พวกเรากังวลมาก ไม่กล้านอนอยู่ในบ้าน นอนไม่หลับ ต้องหนี เครียดจนจะบ้าอยู่แล้ว คิดมาก ยังไงก็ต้องหนีออกจากพื้นที่มาเพื่อความปลอดภัย" หญิงชาวกะเหรี่ยง กล่าว

ขณะที่เพจ Friends Without Borders Foundation ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนระบุว่า คำประกาศของคณะรัฐประหารเมียนมาว่าจะ "หยุดยิงฝ่ายเดียว" 1 เดือน ยกเว้นการตอบโต้กับ "การกระทำใด ๆที่ขัดขวางรัฐบาล และการปกครองของรัฐบาล" นั้นไม่มีความหมายใด ๆ ในทางปฏิบัติ เนื่องจากทุกการโจมตีของกองทัพพม่าก็จะถือว่าเป็นการตอบโต้ผู้ต่อต้านอำนาจของตนทั้งสิ้น โดยในตอนสายวันที่ 31 มีนาคม ขณะที่กองทัพไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยจากทั้ง อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนกว่า 600 คน ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้หญิงและเด็กนักเรียน แต่ยังมีการโจมตีทางอากาศที่บ้านเดปูโหน่ ใกล้กับสถานพยาบาลอยู่ในขณะนั้น หากชุมชนเหลือแต่เพียงเป็นบ้านร้าง ชาวบ้านได้ละทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนเองหมดแล้ว

เพจดังกล่าวรายงานด้วยว่า แม้บ้านเดปูโหน่ ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ ศูนย์กลางของจังหวัดมือตรอ จะไม่ได้ตั้งอยู่ติดชุมชนต้นทางของผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักดันกลับ และไม่ได้ติดกับพรมแดนซึ่งผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักดันกลับไปจะหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า โขดหิน และริมห้วย มือตรอก็ไม่ใช่จังหวัดใหญ่โตเลย เครื่องบินรบลำหนึ่งก็สามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่จะพุ่งโจมตีจุดใดก็ได้  นอกจากนี้ หมู่บ้านเกือบทั้งหมดยังอยู่ในระยะของกระสุนปืนใหญ่ที่สามารถยิงมาจากฐานทัพพม่าที่กระจัดกระจายทั่วจังหวัดกว่า 70 ฐาน

"เช้าวันนี้ เวลาราวตีสองและตีสี่ การโจมตีทางอากาศก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องที่เขตดเว่โล ด้านใต้ของบ้านเดปู่โน่ และบ่ายวันนี้ ยังมีการส่งเครื่องบินและโดรนสำรวจเหนือบ้านเดปู่โน่และตำบลเดว่โลอยู่ตลอดเวลาเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา โดรนของกองทัพพม่าได้บินสำรวจอยู่เหนือชุมชนอีดูท่า ที่ซึ่งผู้ลี้ภัยถูกผลักกลับไปเมื่อวันที่ 29-30 มีนาคมที่ผ่านมา หากไม่มีใครกล้าอยู่ในชุมชน"

เพจดังกล่าวรายงานด้วยว่า ไม่มีภาพประกอบการผลักดันกลับผู้ลี้ภัยของวันที่ 31 มีนาคม โดยชาวบ้านกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และหากมีภาพหรือวิดีโอปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะถูกผลักกลับทันที  ซึ่งในที่สุดแม้จะไม่มีภาพใด ๆ ออกไป ชาวบ้านก็ถูกผลักดันกลับอยู่เช่นเดิม หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า "เรากลัวเกินกว่าจะกล้าถ่ายภาพอะไรแล้ว" หากรัฐยืนยันทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตามหลักมนุษยธรรม ภาพถ่ายก็คือการยืนยันดังภาพคนไข้จากรัฐกะเหรี่ยงที่มีรถพยาบาลไทยมารับ ดังนั้นการปราศจากภาพใด ๆ ให้คนไทยหรือทั่วโลกได้เห็น จะถือเป็นการยืนยันว่าอย่างไร ?

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ ว่าในทางนโยบายรัฐบาลประกาศไม่ผลักดันชาวบ้านกลับและยินดีให้มาพึ่งพิง แต่ประเด็นที่มีอยู่เพราะความสัมพันธ์ทางทหารของไทยและพม่าในพื้นที่ ถ้าให้เราไปถาม รัฐบาลไทยก็จะยืนยันว่าดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม จริงๆแล้วเมื่อยืนยันเช่นนั้นก็ต้องให้ชาวบ้านที่หนีภัยเข้ามาได้ หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย 

"กองทัพพม่าเพิ่งประกาศว่าจะหยุดยิง 1 เดือน แต่ในวันนี้กลับทำตรงข้ามกับการประกาศดังนั้น ข้ออ้างทหารไทยก็พูดถึงประเด็นมนุษยธรรมสำคัญ จริงๆ เรื่องการตั้งศูนย์นั้น มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไม่ต้องการเพราะรู้สึกว่ากว่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าผู้หนีภัยจะกลับไปที่เดิม หรือไม่รัฐบาลก็อาจเลือกไพ่กองทัพพม่า เพราะคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถึงรบอย่างไรก็ไม่อาจชนะ แต่เราน่าพูดกับรัฐบาลตรงๆ ในเมื่อรัฐบาลต้องยินดีช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรม ถ้าไม่ทำเองก็ควรให้องค์กรสาธารณกุศลหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เขาทำเรื่องนี้เข้าไปดำเนินการ"ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

นักวิชการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ในพื้นที่รัฐบาลได้ให้อำนาจทหารเต็มที่ ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายหรือไม่ ในเมื่อประกาศว่าเป็นรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลพลเรือน ดังนั้นต้องเคารพกติการะหว่างประเทศ ถ้าไม่อยากให้องค์กรระหว่างประเทศของตะวันตกทำก็ใช้กรอบของอาเซียนดำเนินการก็ได้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"