ถนนเอเชียเริ่มซิ่ง 120กม.ต่อชม.


เพิ่มเพื่อน    

  เริ่มซิ่ง 120 กม./ชม. ถนนสายเอเชีย ช่วงบางปะอิน-อ่างทอง 45.9 กม. แบ่งความเร็ว 3 ระดับ คมนาคมเตรียมขยายเฟส 2 เหยียบมิด 14 สายทาง รวม  261 กม. ครอบคลุมเหนือ กลาง อีสาน ใต้ หาเงินกู้ติดตั้งกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพาราธรรมชาติลดอุบัติเหตุรุนแรง ส่วน ทช.เล็งปรับปรุง 6 สายให้ใช้ความเร็วได้ 120 กม.

    วันที่ 1 เม.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย (ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง) บริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน ว่า ตนได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนดมีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง รวมถึงเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง
    ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2564 โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้กำหนดเส้นทางแรกหรือจุดเริ่มต้น (ต้นแบบ) ของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท ในการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. คือทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทาง 45.9 กม. ทั้งในส่วนของ ทล. และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รับผิดชอบระยะทางประมาณ 14,000 กม.ทั่วประเทศ พร้อมทั้งสอดรับกับโครงการติดตั้งแบริเออร์ด้วย ซึ่งเตรียมหารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอวงเงินกู้มาดำเนินการโครงการติดตั้งกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพาราธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP)
    รมว.คมนาคมกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้สั่งการและเน้นย้ำให้ ทล.ปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้ (VMS) เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว
    “เรื่องที่ดำเนินการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก โดยการกำหนดอัตราความเร็วรถเป็น 120 กม./ชม. บนถนนสายเอเชียนั้น จะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการชนท้ายหรือการเปลี่ยนช่องจราจร อันเนื่องมาจากรถวิ่งด้วยความเร็วที่แตกต่างปะปนกันไป ไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังทำให้ถนนสายเอเชียในอนาคตจะไม่มีจุดกลับรถระดับราบ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและปลอดภัยตลอดเส้นทาง และขอให้ประชาชนศึกษาข้อมูลเส้นทาง และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” นายศักดิ์สยามกล่าว
    นายศักดิ์สยามกล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้ ทล.และ ทช.ไปสำรวจและนำเสนอของบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อนำมาดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงการสร้างสะพานลอยให้ประชาชนเดินข้าม รวมถึงรถจักรยานยนต์และรถจักรยาน ในส่วนของรถยนต์ให้ใช้สะพานกลับรถเกือกม้า ซึ่งจะมีกำหนดไว้ทุกๆ 10 กม. อย่างไรก็ตาม ยังได้มอบหมายให้ ทล.และ ทช.ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษา เพื่อประเมินผลการดำเนินการดังกล่าวทุกเดือน และรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในทุก 3 เดือน
    นอกจากนี้ ทล.มีแผนจะประกาศสายทางอื่นในการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ระยะที่ 2 ภายใน ส.ค.2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคใต้ จำนวน 14 สายทาง ระยะทางประมาณ 261.94 กม. ประกอบด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม-บ้านหว้า-วังไผ่ 2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงบ่อทาง-มอจะบก 3.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง-ไชโย-สิงห์ใต้-สิงห์เหนือ-โพนางดำออก 4.ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย 5.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค
    6.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค 7.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ 8.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงสนามกีฬาธูปะเตมีย์-ต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ 9.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงคลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา 10.ทางหลวงหมายเลข 34 ช่วงบางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 11.ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ ระยะ 12.ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง 13.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ และ 14.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ
    ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า ทล.ได้คัดเลือกเส้นทางนำร่องคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100-กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กม. ซึ่งถือเป็นเส้นทางแรก และมีผลบังคับใช้วันนี้ (1 เม.ย.2564) เป็นต้นไป แบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับคือ ช่องซ้ายสุดไม่เกิน 80 กม./ชม. ช่องกลางไม่เกิน 100 กม./ชม. โดยในช่องขวาขับขี่ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. แต่ไม่เกิน 120 กม./ชม. เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันในเส้นทาง ใช้ทางสาธารณะร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
    ขณะที่นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. กล่าวว่า สายทางที่ ทช.คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามนโยบาย 120 กม./ชม. ในปี 2564 มี 6 สายทาง ประกอบด้วย 1.ถนนราชพฤกษ์? 2.ถนนนครอินทร์ 3.ถนนชัยพฤกษ์? 4.แยกทางหลวงหมายเลข 7 (กม.ที่ 80+600)-บ้านหนองกระเสริม 5.แยกทางหลวงหมายเลข 3 (กม.ที่ 192+772)-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และ 6.ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี? โดยจะปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เปิดให้วิ่งได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"