บีบพรรคร่วมห้ามรื้อส.ว.! เพื่อไทยซัดเกมยื้ออำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

  “ประวิตร” แจงยังไม่มีร่างแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องหารือในพรรคร่วมอีกที “พปชร.” ชงใช้ระบบเลือกตั้งปี 40 บัตร 2 ใบ รื้อไพรมารีโหวต-เลิก ส.ส.ปัดเศษ ตอนพรรคเล็กให้เหลือเพียง 10 พรรค “ไพบูลย์” บีบพรรคอื่นให้เห็นชอบตามหากแก้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ พปชร.จะไม่เอาด้วย "นิกร" ยัน 3 พรรคร่วมยืนกรานแก้ ม.256 พท.ซัด พปชร.เล่นละครตบตาแบบศรีธนญชัยหวังยื้อเวลาสืบทอดอำนาจ "ระบอบประยุทธ์" กมธ.กฎหมายประชามติเคาะใหม่ใช้ 5 หมื่นชื่อเสนอทำประชามติ ย้ำให้อำนาจ ครม.ตัดสินเหมือนเดิม

    เมื่อวันศุกร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางภายหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงเกี่ยวกับการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า โฆษกพรรคพลังประชารัฐได้มีการชี้แจงไปหมดแล้วว่าจะมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา
    เมื่อถามว่า จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลฉบับเดียว ซึ่งไม่ใช่ของพรรคใครพรรคมันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่มี แล้วแต่พรรคร่วมจะเสนออย่างไร แต่ร่างที่เสนอเป็นของพรรค พปชร. ส่วนจะมีร่างของพรรคร่วมหรือไม่ ยังไม่รู้เลย เพราะต้องมีการพูดคุยและหารือกันในพรรคร่วมอีกที
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรค พปชร.แถลงเกี่ยวกับร่างแก้ไข รธน.รายมาตราว่า ตนเห็นร่างแก้ไขดังกล่าวแล้ว ดูสวยดี ไม่ได้มีข้อห่วงใย เพราะเป็นประเด็นที่พูดคุยกันมานานแล้ว เข้าใจว่าประเด็นต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันแล้วตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร.ระบุได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านและ ส.ว.ด้วย เพียงแต่ห่วงอยู่นิดหนึ่งเกี่ยวกับการแก้วิธีการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าหารือกันแล้วเห็นพ้องต้องกันแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็ไม่มีปัญหาอะไร
    เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการยื่นแก้ไขดังกล่าวเพียงเพื่อลดกระแสสังคม แต่ข้อเท็จจริงยังคงสืบทอดอำนาจอยู่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถึงเวลาโหวตเขาก็นับคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ ส.ว.ก็ต้องให้ความเห็นชอบหนึ่งในสามก็ยังมีอยู่ ถ้าแก้ระบบเลือกตั้งจำเป็นต้องกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังนั้นจะรีบยุบสภาไม่ได้ ส่วนการเสนอร่างของรัฐบาล ยังไม่เคยเห็นพูดกันในส่วนนี้
    ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า ขณะนี้ ส.ส.พรรค พปชร.ร่วมกันลงชื่อ เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ โดยได้ลงนามรายชื่อทั้งหมดครบแล้ว และจะยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เป็นการแก้ไข 5 ประเด็น 13 มาตรา ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพแก้ไขมาตรา 29, 41 และ 45 เป็นการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และในมาตรา 29 ได้เพิ่มขึ้นอีก 8 อนุมาตรา รวมถึงเพิ่มให้ชุมชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ

                         ประเด็นที่สอง พรรคการเมืองในขณะนี้ทุกพรรคมีปัญหาการทำไพรมารีโหวต ดังนั้นเพื่อแก้อุปสรรคการทำงานของพรรคการเมือง จึงแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบบัตรสองใบ ซึ่งจะเหมือน รธน.ปี 40 และ 50 ให้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงมีสิทธิที่จะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อแก้ประเด็นนี้จะทำให้เหลือเพียงหลาย 10 พรรคที่เข้าหลักเกณฑ์ พรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง ไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคะแนนเพื่อหาสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไม่ให้มี ส.ส.ปัดเศษ ดังนั้นพรรคการเมืองต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 1% ถึงจะได้ ส.ส.หนึ่งคน เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ภายใน 1 ปี จะไม่มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่
     ประเด็นที่สาม เสนอแก้ไขมาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ จึงได้เอาข้อความตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 168 มาใช้แทน, ประเด็นที่สี่ แก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และประเด็นที่ 5 แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภา ให้ ส.ส.และ ส.ว.มีอำนาจติดตามและเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และการจัดทำตามยุทธศาสตร์ชาติ  
บีบพรรคอื่นเอาตาม พปชร.
     “เป็นการแก้ไข รธน.ให้เสร็จโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะให้เสียในการทำประชามติ ในการยื่นวันที่ 7 เม.ย.นี้ จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญวันที่ 22 พ.ค. ผมจะกราบเรียนประธานรัฐสภาขอให้มีการจัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 พ.ค. กรรมาธิการคงจะพิจารณาใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน แล้วเสร็จปลายเดือนมิถุนายน และเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง ต้นเดือน ก.ค. และวาระที่ 3 น่าจะกลางเดือน หรืออย่างช้าก็ปลายเดือน ก.ค. คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพราะจากการพูดคุยทาง ส.ว.ก็เห็นชอบด้วย”
    นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านหรือ ส.ส.ที่ต้องการยื่นญัตติแก้ไข รธน.พิจารณาเนื้อหาตามที่พรรค พปชร.เสนอ เชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะเสนอญัตติคล้ายๆ กัน เพื่อให้ได้รับการยอมรับร่วมกัน เพราะ ส.ส.พปชร.จะไม่ยอมรับในเนื้อหาที่เกินไปกว่า 5 ประเด็นที่นำเสนอ โดยเฉพาะให้ตัดอำนาจของวุฒิสภา เกี่ยวกับการร่วมลงมติเลือกนายกฯ ส่วนที่ไม่ร่วมเสนอญัตติร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรคเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน ส่วนที่มองว่าการแก้ไขระบบเลือกตั้งจะทำให้พปชร.ได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่า พปชร.ได้รับความนิยมจากประชาชน และความนิยมดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น การแก้ไข รธน.ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการยุบสภา เพราะรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมถึงปี 2565
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาเสนอร่างแก้ไข รธน.ของ 3? พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเบื้องต้นมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะเสนอร่างแก้ไข รธน. 4 ฉบับ แบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1.มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขหลักเกณฑ์ออกเสียงวาระแรกและวาระสาม ที่ใช้เสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 ตามที่รัฐสภาเคยเห็นชอบ แทนการใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง 2.กระบวนการเลือกตั้ง ระะบบเลือกตั้ง  ยังไม่ตกผลึกว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ 3.กระบวนการทำงานในรัฐสภา  เช่น หมวดว่าด้วยการปฏิรูปที่เห็นว่าควรให้รัฐสภาพิจารณาแทน ส.ว. และควรพิจารณาความคืบหน้าทุกๆ 1 ปี และ 4.สิทธิเสรีภาพประชาชน
    ส่วนกรณีที่ พปชร.เตรียมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 13 มาตรา และระบุว่าหากญัตติอื่นเสนอแก้เกินกรอบจะไม่ลงมติให้ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับ ส.ว. นายนิกรกล่าวว่า เป็นความคิดเห็น ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่พิจารณาภายหลังได้ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ ส.ว. จะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.พปชร.จะเห็นด้วยหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งในประเด็นขอแก้ไขมาตรา 256 นั้น ที่ผ่านมาวุฒิสภา เห็นด้วยกับการแก้ไขใช้เสียง 3 ใน 5 มาแล้ว      
     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ชัดเจนว่าพรรค พปชร.ไม่ต้องการที่จะแตะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับส.ว. และเกี่ยวกับอำนาจของ คสช. เป็นข้อจำกัดที่ พปชร.จะต้องเลี่ยง และต้องปกป้องเต็มที่ หากไปแตะก็จะทำให้โอกาสที่จะแก้ไขรธน.ปิดทันที การแก้ไข รธน.ครั้งนี้ของรัฐบาลภายใต้ข้อจำกัด เพราะ พปชร.ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจ คงต้องถามกลับไปว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร เพราะเป็นการเสนอเพื่อหาทางออกในการรักษาอำนาจของระบอบประยุทธ์ไว้ พปชร.หวังลดความกดดันของประชาชน ที่ต้องการแก้ไข รธน.ให้เป็นประชาธิปไตย แต่หวังรักษาอำนาจระบอบประยุทธ์ไว้เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป
จวกยื้อเวลาระบอบประยุทธ์
    น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ รธน.รายมาตราดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว และการคิดคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่แก่นของปัญหากลับไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไข คือเรื่องหลักการประชาธิปไตยในเนื้อหาของ รธน. โดยเฉพาะที่มา ส.ว. ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและมีอำนาจในการเลือกนายกฯ เป็นเครื่องมือในการค้ำยันอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์มาจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นเพียงการพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยื้อเวลาตบตาประชาชนแบบศรีธนญชัยที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจเท่านั้น ในสัปดาห์หน้าแกนนำพรรค พท.และ ส.ส.จะมีการหารือกันเพื่อสรุปแนวทางในการผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.และสร้างประชาธิปไตย รวมทั้งแนวทางในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต
    นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุมของ กมธ.ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนจำนวนประชาชนเข้าชื่อขอทำประชามติ จากเดิมเมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีมติให้ใช้ 10,000 รายชื่อ วันนี้ที่ประชุมลงมติอีกครั้งให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ กรณีรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ หรือภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ ก็ยังให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำประชามติ เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นให้แก้ไขปรับปรุงมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับ และการแก้ไขเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย การพิจารณามาทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่น่าจะมีปัญหา จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย. และคิดว่าการพิจารณาในที่ประชุมจะผ่านไปได้  
    เมื่อถามว่า ในมาตรา 9 มีการระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เมื่อที่ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯ ทราบแล้วให้ประกาศในราชกิจจาฯ เลย ตรงนี้จะไปย้อนแย้งกับการพิจารณาของ กมธ. ที่ให้นำเข้า ครม. เพื่อตัดสินใจอีกครั้งหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า กมธ. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกันแล้ว โดยปรับมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับ และดำเนินการตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากทำตามที่มาตรา 9 ระบุไว้เป๊ะๆ เลยจะทำไม่ได้ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเขียนมาตรา 11 มาให้สอดรับกัน  
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในระหว่างที่ผลักดันให้มีการทำประชามติดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการแก้ไข รธน.รายมาตราควบคู่กันได้ ซึ่งต้องมุ่งเน้นไปที่การถอดรื้อระบอบประยุทธ์ออกจากระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะการปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 เพื่อยกเลิก ส.ว. จากการแต่งตั้งของ คสช., ยุติอำนาจพิเศษของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเห็นด้วยที่จะต้องมีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้ประชาชนสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกได้ทั้ง ส.ส. ในเขตของตน และเลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ โดยควรจะปรับระบบบัตรเลือกตั้งแบบสองใบ.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"