ม็อบปลดแอก ต้องถอดบทเรียน เพื่อคัมแบ็ก


เพิ่มเพื่อน    

 อดีตการ์ดม็อบสามนิ้ว ผ่าแผน 'สายที่ถูกใช้เป็นสายโดยไม่รู้ตัว'

            การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภา ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือ ม็อบ ยังเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยกลุ่มหลักยังคงเป็นความเคลื่อนไหวของม็อบปลดแอก, คณะราษฎร 63 หรือม็อบสามนิ้ว ที่ยังมีแนวร่วมเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น แม้แกนนำหลายคนจะถูกคุมขังไม่ได้ประกันตัว ขณะที่ จตุพร  พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.-แกนนำเสื้อแดง ได้นัดหมายเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง " สามัคคีประชาชน ไทยไม่ทน" วันอาทิตย์ที่ 4 เม.ย.นี้เช่นกัน ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม

            สมบัติ ทองย้อย อดีตแกนนำการ์ดม็อบปลดแอก-อดีตแกนนำการ์ด นปช. เสื้อแดงช่วงปี 2552-2553 ที่อยู่ในแวดวงม็อบการเมืองมากว่าสิบปี ตั้งแต่ยุคเสื้อแดง นปช. และก่อนหน้านี้ก็ไปเป็นทีมการ์ดอาสาในการชุมนุมของม็อบปลดแอกได้สักระยะก่อนที่จะแยกตัวออกมา ภายหลังมีข่าวความขัดแย้งระหว่างทีมการ์ดม็อบปลดแอกออกมาต่อเนื่อง และต่อมาเมื่อสมบัติออกมาวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของม็อบปลดแอกผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมาอย่างมากมาย โดยเขา มองสถานการณ์ม็อบการเมืองต่อจากนี้โดยเฉพาะม็อบปลดแอก ว่าการที่มีคนไปร่วมชุมนุมม็อบที่แยกราชประสงค์จำนวนมากเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผลทำให้แนวร่วมและกองเชียร์ม็อบปลดแอกมีกำลังใจมากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ม็อบแผ่วไปเยอะ อย่างไรก็ตามการกลับมาของม็อบปลดแอกหลังจากนี้ สิ่งที่แกนนำหรือผู้ประสานงานต้องทำ คือ การถอดบทเรียนการทำม็อบในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้องไม่ให้เกิดภาพความรุนแรงขึ้นในม็อบอีก ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม อีกทั้งต้องระวังแผนจัดการม็อบของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้วิธีทำให้เกิด สายที่ไม่ใช่สาย ขึ้นในม็อบโดยที่คนในม็อบไม่รู้ตัว

            สมบัติ-อดีตการ์ดการชุมนุมทางการเมือง บอกว่า ตั้งแต่เข้าสู่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคเสื้อแดงจนถึงยุคม็อบปลดแอก ตอนนี้โดนคดีถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้วรวม  4 คดี โดยทั้งหมดเกิดในยุคม็อบปลดแอกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่โดนไปสองคดี คือตอนชุมนุมใหญ่เมื่อ 16 ตุลาคม 2563 ที่สี่แยกปทุมวัน  กับตอนชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ส่วนคดีที่สามคือคดีหมิ่นประมาทพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว และคดีที่สี่โดนคดีมาตรา 112 ที่ไปเขียนคำว่า "กล้ามาก เก่งมาก" ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตอนนั้นเขาฮิตๆ กัน ผมก็โพสต์ของผมทั่วไป แต่ฝ่ายตรงข้ามนำไปแจ้งความดำเนินคดี ส่วนสมัยเป็นการ์ด นปช.ไม่เคยโดนคดีความ มีแค่ถูก คสช.ออกคำสั่ง คสช.เรียกไปรายงานตัวหลังรัฐประหารปี 2557 เพราะถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพล เลยถูกเรียกไปรายงานตัวพร้อมกับคนอื่นๆ เช่นนักการเมือง

...ตอนม็อบปลดแอกช่วงแรกผมเข้าไปเป็นมวลชนธรรมดา แต่ด้วยโลโก้ผมที่เป็นการ์ดตั้งแต่สมัย นปช. เป็นหัวหน้าการ์ด คนก็เลยให้ผมมาเป็นหัวหน้าการ์ดม็อบปลดแอก ทั้งที่ผมอยากเป็นแค่ผู้ร่วมชุมนุม เพราะผมมองว่า เป็นงานของเด็ก กลุ่มนักศึกษา จนพวกน้องๆ นักศึกษาก็มาขอให้ไปช่วยงาน ตอนแรกผมก็บอกไปแล้วว่า หน้าที่ของการ์ดคือดูแลและปกป้องมวลชนไม่ให้บุคคลภายนอกแฝงเข้ามาแล้วก่อความวุ่นวายในม็อบ การ์ดไม่ได้มีหน้าที่คอยวิ่งไปปะทะหรือชนกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วงหลังๆ ที่เห็นมาพบว่ามันมีลักษณะแบบนั้น แต่ผมก็รู้สึกว่ามันเหมือนกับมีคนเข้ามาสร้างสถานการณ์เพื่อดิสเครดิตม็อบ ให้ถูกมองว่าเป็นม็อบที่มีความรุนแรง แต่ก็อยู่ที่การตรวจสอบจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ผ่านมา ผมก็พยายามบอกเด็กๆ ตลอดว่าทำอะไรต้องระวัง เพราะเราไม่ได้สู้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว แต่เราสู้กับเทคโนโลยีของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่นกล้องวงจรปิด

-ช่วงก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงก่อนชุมนุมที่แยกราชประสงค์ 24 มี.ค. คิดว่าม็อบแผ่วลงไปหรือไม่?

            ก็ยอมรับว่าแผ่วเพราะคนมาน้อยมาก คนมาร่วมชุมนุมแทบจะเรียกได้ว่าหลักร้อย ไม่ใช่แค่หลักพัน ในช่วงปลายปีที่แล้วธันวาคม จนถึงช่วงก่อนมีนาคมปีนี้ ที่อาจเกิดจากเพราะเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะคนออกมาร่วมกับม็อบแล้วเขาต้องรู้สึกว่าเขาปลอดภัย ก็เหมือนอย่างสมมุติการไปเดินห้าง หากมีคนบอกว่าห้างที่เราอยากจะไปเดินมีการวางระเบิดบ่อยมาก แต่อีกห้างไม่มี  เราก็อยากไปเดินห้างที่ปลอดภัยมากกว่า ก็เช่นเดียวกัน คนก็อยากไปร่วมชุมนุมแล้วไปฟังการปราศรัย แล้วได้ความรู้ แล้วเขาก็จะกลับไปชวนคนรอบข้างให้ออกมาไปร่วมด้วย แต่หากเขาไปร่วมชุมนุมแล้วตูมตูม เขาก็ไม่อยากไป แต่ผมอยากบอกว่าเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดจากฝีมือใคร แต่ภาพรวมมันคือม็อบมันเกิดเหตุรุนแรง แต่เวลาคนมองเขาก็มองว่ามันคือม็อบ ไม่ได้สนใจว่าความรุนแรงมันเกิดขึ้นจากฝั่งไหน ซึ่งมันจะเกิดจากฝั่งไหนเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐจะไปสอบสวนตรวจสอบจากหลักฐานที่มี ก็ว่าไปตามกฎหมาย

-ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในม็อบ คิดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์หรือไม่?

            ผมไม่รู้ว่ามันเป็นการสร้างสถานการณ์หรือไม่ แต่ภาพรวมมันก็คือความรุนแรง แต่มันเกิดจากความจงใจ หรือสร้างสถานการณ์หรือมีมือที่สามเข้ามาก่อเหตุ เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่ามันเกิดขึ้นจากฝั่งไหน เกิดจากใคร อยู่ที่การสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะบางทีอาจมีใครก็ไม่รู้แฝงตัวอยู่ในฝ่ายต่างๆ คนที่ก่อเหตุเราก็ไม่รู้ว่าเกิดจากฝั่งไหน เพราะอย่างบางทีภาพที่คนเห็นอาจเกิดจากฝั่งเรา แต่คนที่อยู่ในฝั่งเรา แล้วความจริงเขาคือใคร เพราะอาจเป็นคนที่แฝงตัวมาจากกลุ่มอื่นที่ไม่ชอบเราแล้วมาสร้างสถานการณ์

-เชื่อว่ามีการแฝงตัวในม็อบปลดแอกช่วงที่ผ่านมาตลอด?

            ผมมั่นใจว่ามี เพราะม็อบทุกม็อบไม่มีใครอยากจัดการชุมนุมแล้วเกิดความรุนแรงจนไม่มีใครไปร่วมชุมนุมด้วย ทุกคนอยากทำม็อบแล้วมีคนไปร่วมชุมนุมเยอะๆ เพราะการทำม็อบหัวใจสำคัญที่สุดของม็อบคือ "มวลชน" หากมวลชนมาร่วมน้อยก็แสดงว่าม็อบคุณไม่มีคุณภาพ คนไม่เอาด้วย ดังนั้นคนทำม็อบก็ต้องทำอย่างไรให้ม็อบจัดแล้วมีคนมาร่วมด้วยและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีใครอยากทำม็อบแล้วคนมาร่วมน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยบอกพวกม็อบพวกการ์ดว่า ขอให้ช่วยกันสกรีนคนมาร่วมชุมนุมด้วยให้ช่วยกันดู

อดีตการ์ดม็อบสามนิ้วผ่าแผน

'สายที่ถูกใช้เป็นสายโดยไม่รู้ตัว'

-อาจเพราะช่วงหลังมีคนในเครือข่ายม็อบแฉกันเองไหม เช่นในกลุ่มการ์ดหรือคนภายนอกที่เข้ามาแทรกซึมในม็อบ เลยสนับสนุนความคิดที่ว่าอาจมีการสร้างสถานการณ์ให้ม็อบดูรุนแรง?

            ก็ใช่ เพราะก็มี สายในสาย คือบางคนไปมัวจับจ้องมองพวกเดียวกันเอง แล้วก็ใส่ร้ายเขาว่าคนนี้คือสาย คนนั้นคือสาย ทั้งที่คนนั้นเขาอาจไม่ใช่สายของทางเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็เป็นมวลชนทั่วไป แต่เจ้าหน้าที่เขาก็อาจมองเห็นว่าบางคนมันชอบฮาร์ดคอร์ คนนี้ชอบรุนแรง พอมีการชุมนุมก็ใช้วิธีไม่ไปจับพวกนี้ ปล่อยไป อาจจะจับเป็นพิธี แล้วก็ปล่อยไป ที่ปล่อยไม่ใช่เพื่อให้ม็อบระแวงกันเอง แต่ปล่อยเพื่อให้คนนี้ไปสร้างสถานการณ์แล้วก็จะได้ดิสเครดิตม็อบ

สมมุติอย่างหากว่าตัวผมเป็นพวกชอบแนวฮาร์ดคอร์  แล้วคุณเป็นตำรวจ แล้วเจอคนที่ก่อเหตุซึ่งหน้า มีหลักฐานครบ แต่คุณไม่จับคนนั้นแบบเป็นเรื่องเป็นราว จับแล้วปล่อย เพราะรู้ว่าผมชอบแนวนี้ฮาร์ดคอร์ โดยไปคุยกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชา ว่าผมเป็นพวกแนวฮาร์ดคอร์ ควรปล่อยไปเพื่อให้ไปสร้างความรุนแรงในม็อบเพื่อดิสเครดิตม็อบในตัว ก็เลยเป็น สายที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นสาย  แล้วพอหากปล่อยพวกแบบนี้ไป ก็ไปสร้างความรุนแรง  แล้วพอก่อเหตุก็ไปจับ แล้วก็ปล่อย ซึ่งจริงๆ คนแบบนี้ไม่ใช่สาย แต่ถูกใช้เป็นสายโดยไม่รู้ตัว ลักษณะแบบนี้คือ สายที่ถูกใช้เป็นสายโดยไม่รู้ตัว คือคนที่ไม่ได้เป็นสาย  แต่ถูกพวกเดียวกันมองว่าเป็นสาย โดยเขาเป็นสายให้ตำรวจโดยไม่รู้ตัว โดยถูกใช้แบบไม่รู้ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเขาก็มีข้อมูลคนพวกนี้อยู่แล้ว เช่นตำรวจรู้ว่าคนนี้ขอบเขวี้ยงของเขวี้ยงวัตถุใส่ตำรวจ ซึ่งตำรวจจะจับเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปล่อยไป ไม่ยอมจับเพื่อให้ก่อเหตุ จะได้ดิสเครดิตในม็อบอยู่เรื่อยๆ หรืออาจจับพอเป็นพิธีแต่ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ จนคนนั้นได้ใจ เพราะเห็นว่าจับกี่ครั้งตำรวจก็ปล่อย แล้วคนนั้นที่มีมวลชนบางส่วนชอบตามเขา มวลชนทำตามสิ่งที่เขาสั่ง คนนี้สั่งให้ปาของก็ปา คนนี้สั่งให้เขวี้ยงของก็เขวี้ยง  ซึ่งหากจับคนนั้นแล้วพอมีการชุมนุม ก็ไม่มีใครสั่งมวลชนให้เขวี้ยงให้ทำอะไร แต่หากปล่อยคนนั้นออกไป เขาก็ไปบอกเพื่อนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตำรวจไม่มีลิสต์ข้อมูลของคนอื่น เพื่อนๆ ก็ไปร่วมก่อเหตุด้วย สุดท้ายเพื่อนจากเดิมที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ ก็เลยเข้ามาอยู่ในลิสต์สารบบข้อมูลของตำรวจที่จะได้ชื่อแนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตำรวจจะได้ชื่อคนที่ต้องจับตามองเพิ่มมากขึ้น

            ...นี่คือการขุดบ่อล่อปลา คือความน่ากลัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เขาไม่โง่ แล้วใช้พวกสายที่ไม่ใช่สายมาทำงาน เพื่อต้องการให้ม็อบเกิดความรุนแรง ให้คนไม่ชอบม็อบ ดังนั้นคนในม็อบเองก็ต้องช่วยกันสกรีนกันเองด้วย ว่าจะทำยังไงไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เช่นม็อบรู้ว่าคนไหนชอบความรุนแรง ก็ต้องไปบอกคนนั้นว่าอย่ามาอยู่แนวหน้า ให้ไปอยู่เป็นมวลชน อย่ามาสั่งมวลชนให้ทำอะไร เพราะทุกคนฟังคุณ หากคุณไปสั่งทุกคนจะทำตามทันที ขออย่ามีบทบาทอะไร คือคนทำม็อบเองก็ต้องตามเกมให้ทัน ทั้งหมดผมพูดจากประสบการณ์ของผมเองโดยตรง

            -การจับแกนนำแล้วส่งศาล จนศาลสั่งขังแกนนำ แต่ม็อบก็ยังชุมนุมกันได้ คิดว่าเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่?

            เป็นวิธีที่มาตรฐานทั่วไปที่รัฐบาลอาจประเมินว่า หากมีการจับกุมควบคุมตัวแกนนำแล้วจะทำให้ม็อบแผ่ว แต่บางทีมันก็ไม่ได้ถูกเสมอไป เห็นได้จากการชุมนุมเมื่อ 24 มีนาคม ที่หลายคนก็เห็นกันแล้ว จากเดิมที่อาจคิดกันไปว่ามีการจับแกนนำแล้วม็อบจะแผ่ว คนจะน้อย แต่ที่แยกราชประสงค์คนมาร่วมชุมนุมเยอะมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมาในช่วงหลัง ที่หมายถึงว่ารัฐบาลก็ไม่ได้ประเมินถูกเสมอไป เพราะบางทีอารมณ์ร่วมของคนที่อยากมาร่วมชุมนุมมีลักษณะสวิง เดาใจไม่ถูก เพราะม็อบตอนนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า มันไม่ใช่ม็อบจัดตั้งแบบสมัย กปปส.-พันธมิตรฯ หรือ นปช. ที่จะมีคนอย่างนักการเมือง หัวคะแนน ไประดมคนมาจากพื้นที่ต่างๆ แต่ตอนนี้เป็นม็อบที่มีการนัดหมายล่วงหน้าไม่นาน ทำให้คาดเดาได้ยากว่าจะมีคนมาร่วมมากหรือน้อยแค่ไหน อันนี้คือความน่ากลัวของม็อบที่ไม่มีการจัดตั้งไม่ว่าจะจากฝั่งไหนก็ตามแต่ เพราะมันสวิง เอาแน่อะไรไม่ได้

            ส่วนการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อ 24 มี.ค. ที่มีแกนนำบางส่วนเช่น น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ปรากฏตัวและขึ้นเวทีปราศรัย ก็มองว่าเป็นเรื่องของการปรับยุทธศาสตร์เพื่อทำให้การเดินของม็อบมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คนอยากกลับมาร่วมกับม็อบแบบก่อนหน้านี้ เพราะอย่างการชุมนุมก่อนหน้านี้ที่ไม่มีแกนนำปรากฏตัวในพื้นที่การชุมนุม ทำให้การดูแลการชุมนุมก็ทำได้ยาก เพราะเมื่อปล่อยให้ชุมนุมแบบธรรมชาติ ผลก็ออกมาอย่างที่ทุกคนเห็น ที่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือมือที่สาม มันก็ดูแลกันไม่ได้ แต่ตอนนี้เด็กๆ ที่เป็นแกนนำกำลังพัฒนาขึ้น ซึ่งความเห็นผม ม็อบที่มีแกนนำในพื้นที่การชุมนุมมันน่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยคนที่มาร่วมชุมนุมก็จะได้รู้ว่าใครที่พวกเขาสามารถยึดโยงได้

-มองข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เป็นแนวร่วมกันเองในม็อบปลดแอกอย่างไร โดยเฉพาะจากปัญหาเรื่องเงินทองผลประโยชน์ในม็อบ?

            ก็ต้องไปปรับ ปัญหาทุกอย่างมันจบด้วยการเจรจา อะไรที่มันเป็นปัญหาแล้วไม่อยากให้มันมีปัญหา เมื่อรู้ว่านี้คือปัญหาก็ต้องแก้ อย่าไปสร้างปัญหาให้มันหนักขึ้น ต้องรีบแก้ ต้องจบที่การพูดคุยกัน ไม่ใช่สะสมแล้วเออออกัน แล้วกวาดขยะไว้ใต้พรม แล้วบอกว่าเอาไว้ก่อน ไว้ใต้พรมก่อน

-คนในม็อบอาจคิดว่าไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบกันเอง จะเสียแนวร่วม ม็อบจะเสียขบวน?

            ถ้าเป็นประชาธิปไตยมันต้องพูดกันได้ ต้องวิจารณ์กันได้ ตักเตือนกันได้ การตักเตือนอย่าไปมองว่าเป็นการดิสเครดิต บางทีการตักเตือนคำพูดอาจจะแรง แต่เราต้องมองภาพรวมว่าโอเค มันคือความหวังดี เพราะหากไม่มีอะไรผิดพลาด เราไม่เตือนแน่นอน ในม็อบการพูดกัน บอกกัน ไม่ได้หวังจะทำลาย แต่เราเตือนด้วยความหวังดี อย่างผมเป็นแค่ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ผมไม่สามารถทำให้ม็อบย่อยสลายได้ เพราะหากคุณดีจริง คุณเดินถูกทางก็เดินต่อไป หากคิดว่าแนวทางนั้นคุณทำถูกก็ทำไป แต่เรามองจากข้างนอก การอยู่ข้างนอกหรือเป็นคนนอกแล้วมองไปมันอาจดีกว่า โดยที่ผ่านมาหลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ม็อบในช่วงหลังก็โดนสวนกลับมาเยอะ แต่ไม่เป็นไร ผมรับได้ เพราะเฟซบุ๊กมันคือตัวตนของผม ผมโพสต์อะไรไป ผมก็รู้ว่าฟีดแบ็กที่มันจะกลับมาคืออะไร เราก็พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ เพราะขอกันกินมันยังมากกว่านี้ แต่อย่างบางคำวิจารณ์ เช่น บอกว่าผมเปลี่ยนอุดมการณ์ ผมยืนยันได้ว่าผมไม่ได้ขาย ไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ แต่ผมอยากให้ม็อบปลดแอกกลับมาเป็น nature เป็นม็อบออร์แกนิกสวยงาม เหมือนแบบตอนช่วงก่อนปลายปี 2563 ที่คนไปร่วมชุมนุมโดยแต่ละคนพร้อมสแตนด์บาย แล้วนัดหมายแต่ละครั้ง เช่น ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คนออกมาบึ้ม-ราชประสงค์ คนมาบึ้ม ผมอยากเห็นแบบนั้น ม็อบที่มีคนต่างออกมาร่วมชุมนุมจูงแขนกันออกมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทัศนคติกัน มันคือภาพที่เคยสวยงาม ผมอยากได้ภาพแบบนั้นกลับคืนมา

การชุมนุมเมื่อ 24 มี.ค. เป็นการคัมแบ็กที่สวยงามมาก หากเป็นแนวนี้ ผมก็พร้อมจะออกไปร่วมอีก อาจต้องยอมเสียสัจจะอะไรบ้าง แต่ที่ผมเคยบอกว่าผมจะไม่ไปม็อบอีก คือกรณีหากม็อบยังเป็นลักษณะแบบที่เป็นอยู่ มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากฝั่งใดก็ตามแต่ แบบนั้นผมคงไม่ไปร่วม ผมอยากออกไปดูแลมวลชน ถ้าไม่ได้ออกไปดูแลมวลชนในฐานะการ์ด ก็อยากออกไปดูแลมวลชนในฐานะคนทั่วๆ ไป ที่ออกไปแล้วไม่ต้องพะวงว่าจะมีแก๊สน้ำตาหรือไม่ จะมีระเบิดปิงปอง จะมีกระสุนยางหรือไม่ ผมไม่อยากไปร่วมชุมนุมแล้วต้องเจอภาพแบบนั้น แต่อยากไปแล้วไปนั่งฟังการปราศรัยแบบสบายๆ ไปร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ไม่ใช่ไปแล้วต้องมาบอกว่าไม่น่ามาเลย บึ้มกันอีกแล้ว

                -ในฐานะอดีตคนเสื้อแดง อดีตการ์ด นปช. คิดว่าโอกาสที่ นปช. เสื้อแดง จะกลับมาหลังจากนี้เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองแบบในอดีตมีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่?

            ผมยังไม่ทราบ คือผมเป็นคนไม่ค่อยชอบที่จะไปนั่งประชุมวางแผนงานอะไร ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้โทรศัพท์มาชวน บอกว่า "พี่สมบัติเข้าประชุมหน่อย" ผมก็ไม่อยากประชุม ก็ปัดไปตลอด บอกว่าไปต่างจังหวัด ก็อ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย เพราะไม่อยากไปนั่งฟังในสิ่งที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเห็นมาเยอะ มีการเรียกประชุมอะไรกัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่เห็นออกมาอย่างที่ประชุมกันเสียทีเดียว ร้อยหนึ่งทำได้ไม่ถึงสิบด้วยซ้ำ ผมเห็นแบบนี้มาเยอะ ทำให้เวลาใครโทรศัพท์มาชวนให้ไปประชุมทำอะไร ผมก็จะบอกว่าอะไรที่เป็นแนวทางเดียวกันแล้วผมพอจะช่วยได้ ก็ให้บอกมาแล้วกัน เพราะเวลาพอจับกลุ่มอะไรกัน มันก็จะมีเรื่องของเงินทอง ผลประโยชน์ พอมีเรื่องพวกนี้เข้ามา ผมเองเห็นมาเยอะ ผมก็ไม่อยากให้ตัวเองเข้าไปมีเรื่องพัวพันกับเรื่องเหล่านี้ แต่คนก็บอกอยากให้ผมเข้าไป

            อย่างบางทีทุกวันนี้ยังมีเลย บอกว่ามีชื่อผมอยู่ด้วย สมมุติ อย่างกลุ่มนี้ได้มาสิบบาท ไปประชุมกันสิบคน ผมไปประชุมต้องได้แล้วหนึ่งบาทเพราะแบ่งเท่าๆ กัน แต่กลายเป็นว่าผมโดนลิสต์ว่ามีชื่อ เอาชื่อผมไปอยู่ด้วย แต่เงินที่คนฝากมาให้ มีคนเอาไปแบ่งกันเองในเก้าคนที่เหลือ โดยผมไม่รู้เรื่อง แต่รู้เพราะมีเด็กมาบอก มาถามว่า "เห็นว่าไปประชุมด้วย ได้เงินมาเท่านี้หรือ" ผมก็อ้าว ไม่รู้เรื่องเลย มันก็มีบ่อย ผมเลยไม่อยากเข้าไปยุ่งเรื่องเงินทองอะไรทั้งสิ้นถ้าไม่จำเป็น แต่ก็มีความรู้สึกอยากให้เสื้อแดงกลับมา แต่ความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นหรือไม่ องค์ประกอบมันเยอะ เพราะหากจะกลับมาแล้วเป็นม็อบใหญ่ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ขนาดม็อบเล็กๆ จัดย่อยๆ ผมเดาเอา ก็ต้องกำเงินเป็นล้านต่อวัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ อันนี้ผมประเมิน แล้วยิ่งหากเป็นม็อบใหญ่ ค่าใช้จ่ายต่อวันก็ยิ่งมากมาย ไหนจะรถห้องน้ำ เต็นท์ อาหาร

การจัดม็อบใหญ่แล้วจัดแบบเพียวๆ เลย ตอนนี้ดูแล้วมันยาก แต่ความเป็นเสื้อแดงก็เก็บไว้ข้างใน เวลามีงานอะไรต่างๆ นอกสถานที่ เจอหน้ากันก็ทักทายกัน ส่วนจะกลับมาแบบเดิมอีกคงยากแล้ว เพราะอย่างเรื่องของวัย ตอนนี้หลายคนก็ล้าแล้ว เพราะผ่านการต่อสู้กันมาตั้งแต่สมัยเสื้อแดงเริ่มกันมาตอนแรกๆ จนถึงตอนนี้ก็สิบกว่าปีแล้ว เพราะการต่อสู้บนท้องถนนมันไม่ได้นั่งอยู่ในห้องแอร์แบบสบายๆ คนก็ล้า แต่สิ่งที่คนเสื้อแดงต้องดีใจและภูมิใจก็คือเมล็ดพันธุ์ที่ได้หว่านเอาไว้ มีเด็กในม็อบที่มาเป็นการ์ดในทีมผม เขาบอกว่า ลุงๆ ผมเห็นลุงตั้งแต่เขายังเด็กๆ เขาบอกพ่อเขาพาไปม็อบด้วยที่เวทีผ่านฟ้าฯ เวทีราชประสงค์ตอนปี 2553 เขาเห็นผมบนเวที นปช. เห็นผมยืนเป็นการ์ด ผมฟังแล้วมันปลื้มที่เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยมันมีจริงๆ มันหว่านแล้วมันได้ผล

-ประเมินว่าสุดท้ายแล้วม็อบปลดแอกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป?

            ผมคงไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องประเมินกันแบบไฟต์ต่อไฟต์ ที่มีการจัดการชุมนุมที่จะเป็นดัชนีชี้วัดว่าม็อบจะไปต่อได้หรือไม่ได้ อย่างที่นัดชุมนุมกันเมื่อ 24 มีนาคม ที่แยกราชประสงค์ หากคนไม่ออกมามากพอสมควรอย่างวันนั้น คนที่เห็นหรือสื่อก็จะมองว่าไม่รอดแล้ว มันแผ่วสุดๆ แต่กลายเป็นว่าคนมาเยอะ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ทุกคนก็มีความหวัง มีกำลังใจกันขึ้นมาว่าม็อบไม่ได้แผ่วอย่างที่คนบอกกัน ม็อบยังเรียกคนได้ ซึ่งเมื่อมีโอกาสแล้ว ก็อยู่ที่การทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะกลับไปร่วมม็อบต่อ

            "ถ้าอยากให้ม็อบไปรอด ระดับเฮดๆ ในม็อบต้องนั่งคุยและวิเคราะห์กัน เขาต้องถอดบทเรียนโดยทุกคนต้องมีจุดร่วม คือทำยังไงก็ได้อย่าให้คนมองว่าม็อบมีความรุนแรง ต้องช่วยกันดู ช่วยกันห้าม ไม่ใช่ไปช่วยเชียร์ ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนก็อยู่ที่เนื้อหาของการชุมนุม ว่ามันมีโจทย์ให้มวลชนอยากออกไปร่วมหาคำตอบหรือไม่ โจทย์นั้นน่าสนใจหรือไม่ ซึ่งผมก็คงยังประเมินอะไรไม่ได้".

วรพล กิตติรัตวรางกูร

......................................................... 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"