ประเดิมล่าชื่อล้มบิ๊กตู่แค่พันคน


เพิ่มเพื่อน    

  “ประชาธิปัตย์” เปิดรายละเอียดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เตรียมหารือ “ภท.-ชทพ.” เชื่อหากทุกฝ่ายจริงใจจะช่วยถอนฟืนจากไฟได้ “ธนาธร-ปิยบุตร” เลิกเหนียม นำทีมร่วมคณะราษฎร-ไอลอว์ล่าชื่อ “รื้อระบอบประยุทธ์” สุดคึกคัก หวัง 4 ข้อ “ล้ม ส.ว.-โละศาลรัฐธรรมนูญ-เลิกยุทธศาสตร์ชาติ-เช็กบิล คสช.” ปิยบุตรเผยชัดเพิ่มอำนาจฝ่ายค้าน คุมเข้มกองทัพ-ศาล ผุดผู้ตรวจการกองทัพ-ศาล

 เมื่อวันอังคารที่ 6 เมษายน ยังคงมีความต่อเนื่องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่อยากให้เร่งสรุปว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งพรรคพยายามเดินหน้าแก้ไข โดยเป้าหมายมี 2 ข้อคือ 1.เป้าหมายทางการเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย และ 2.เพื่อทำให้การเมืองนิ่ง ไม่มีข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ จะได้เข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยความราบรื่น เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ด้วยเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้ พรรคจึงพยายามผลักดันแก้รายมาตรา ซึ่งยกร่างเสร็จแล้ว 6 ฉบับ หลังจากนี้จะหารือร่วมกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งถ้ามีความเห็นสอดคล้องกัน ก็นำไปคุยกันในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.กล่าวว่า พรรคได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว โดยแก้ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำได้ง่ายขึ้น โดยให้ใช้เสียงเพียง 3 ใน 5 ซึ่งหลักการนี้ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในตอนที่ได้มีการพิจารณาหมดแล้ว 2.การแก้ไขมาตรา 272 กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 88 และมาตราเกี่ยวกับการส่งบัญชีรายชื่อ 3 นายกฯ โดยจะแก้ไขว่า หากนายกฯ ที่อยู่ในบัญชี 3 คนนั้นไม่สามารถเสนอได้ ก็ให้สภาเสนอชื่อ ส.ส.เป็นนายกฯ ได้ เพื่อยึดโยงให้นายกฯ มาจากการประชาชน
    นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า 3.การกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีการแก้ไข 7 มาตรา โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มาปรับปรุง ประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับต้องเลือกตั้งโดยตรง การบริหารทรัพยากรของท้องถิ่นต้องเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง มีการเสนอเข้าชื่อและถอดถอน เพื่อให้มีข้อจำกัดและให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายบทบัญญัติของท้องถิ่นนี้ได้โดยตรง 4.แก้ไขการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชิญบุคคลมาชี้แจง ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550
    นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า 5.การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้เสนอผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งการเสนอเช่นนี้ทำให้การตรวจสอบต้องมายึดโยงกับเสียงข้างมาก อาจไม่สุจริต จึงเห็นว่าควรต้องกลับไปใช้กลไกแบบเดิม คือเสนอผ่านองค์กรอิสระ และส่งให้ประธานศาลฎีกา และ 6.ระบบการเลือกตั้งจะแก้ไข 4 มาตรา โดยจะกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 เขต เลือกแบบ 1 บัตร 1 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรเป็นแบบใด จะใช้ระบบสัดส่วนร้อยละโดยตรงเหมือนเดิมหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงระบบการตรวจสอบคนที่เข้ามาในระบบการเมืองต้องโปร่งใส ประวัติดีงาม
    “ทุกฝ่ายที่ร่วมกันยกร่างมีความมั่นใจว่าร่างแก้ไขจะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะไม่ได้เสนอแก้ทั้งฉบับ ทำให้ตัดปัญหาเรื่องการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรายมาตราสามารถแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันมากกว่าการเสนอแก้ไขทั้งฉบับ รวมทั้งถ้าเสนอแก้ไขทั้งฉบับต้องไปทำประชามติ 2-3 ครั้ง แต่เมื่อเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา จะทำประชามติเพียง 1 ครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเราควรจะถอนฟืนออกจากไฟ ที่สำคัญหากได้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บ้านเมืองก็ไม่กลับไปสู่จุดเดิม ดังนั้นมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือและมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ขอร้องทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ” นายชินวรณ์กล่าว
    ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยมีการประชุม ส.ส.พรรค โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งได้มีการหารือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยพรรคได้มอบหมายให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ไปประสานพรรค ปชป. และ ชทพ.เพื่อหารือแนวทาง ซึ่งพรรคจะเน้นแก้ไขเพื่อปากท้องของประชาชน ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ ส่วนการลงมติร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... นั้น พรรคมีมติเห็นชอบหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ได้ชี้แจงว่ามีการปรับแก้ไขมาตรา 10 และ 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 เรียบร้อยแล้ว  
ล่าชื่อรื้อระบอบประยุทธ์คึก
    วันเดียวกัน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ “เครือข่าย Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, คณะก้าวหน้า, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดกิจกรรม "ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์" ล่ารายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ล้มวุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว 2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มาอำนาจการตรวจสอบ 3.เลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ และ 4.ล้างมรดกรัฐประหาร หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย
    โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุว่า งานนี้มุ่งหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา  ซึ่งเป็นที่พูดกันในสภาขณะนี้ แต่การแก้ในสภาเป็นประเด็นเล็กน้อย เรื่องระบบเลือกตั้ง และมาตรา 144 เกี่ยวกับงบประมาณเป็นประโยชน์ของนักการเมือง ไม่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จึงตัดสินใจรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา รื้อระบอบประยุทธ์ เพราะครั้งที่แล้วไอลอว์ล่าได้กว่าแสนรายชื่อ แต่ ส.ว.ไม่แยแส ครั้งนี้แตกต่างมากกว่าที่พุ่งใจกลางปัญหา หากได้ชื่อจำนวนมาก ส.ว.ต้องถูกกดดันเปลี่ยนความคิด ถ้าไม่แยแสอีกผลจะเปลี่ยนไป การเลือกจัดงานวันที่ 6 เม.ย. เพราะเป็นวันครบรอบประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เราเห็นอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญนี้มามากแล้ว เบื้องต้นการล่าชื่อ 6 เดือน จะดูว่าได้เพียงพอหรือไม่เป็นนัยสำคัญ
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่แตะหมวด 1-2 จะถือเป็นการลดเพดานในการเคลื่อนไหวหรือไม่ นายปิยบุตรระบุว่า ส่วนตัวยืนยันรัฐธรรมนูญต้องทำใหม่ทั้งฉบับ แต่ครั้งนี้มุ่งแก้ที่กลไกสืบทอดอำนาจ พุ่งเป้า  4 ประเด็นใหญ่ที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจก่อน การไม่แตะไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจ การแก้ไขหมวด 1-2  จะรณรงค์ทางวิชาการต่อไป
    ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ย้ำว่า 4 ประเด็นหลักในการแก้ไขคือ 1.ล้ม ส.ว. ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ จึงจำเป็นต้องปรับให้เป็นสภาเดี่ยว 2.ปฏิรูปอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อให้ยึดโยงประชาชน วางขอบเขตอำนาจให้ชัดเจน 3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ ที่อาจจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม 4.ล้างมรดกรัฐประหาร ยกเลิก มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่ง คสช.
    และในเวลา 16.00 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เดินทางมาร่วมลงชื่อในกิจกรรม "ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์" เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราด้วย โดยภายหลังลงชื่อแล้ว นายธนาธรได้ทยอยถ่ายรูปร่วมกับประชาชนที่มาร่วมงานและ ส.ส.พรรคก้าวไกล
    ทั้งนี้ การล่าชื่อดังกล่าว พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนคณะก้าวหน้าและกลุ่มราษฎร แต่งกายในชุดสีดำตามแคมเปญรณรงค์ "6 เม.ย.2564 ดำทั้งแผ่นดิน" ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาร่วมลงชื่อ รวมทั้งนายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่ได้แต่งดำและชูสามนิ้วด้วย ขณะที่นายธนาธรใส่เสื้อรณรงค์  “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” มาลงชื่อ
ชงคุม'กองทัพ-ศาล'
    นายปิยบุตรกล่าวบรรยายถึงรายละเอียดในร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกิจกรรม "ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์" ว่า มุ่งขจัดระบอบประยุทธ์และสิ่งกีดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอ อาทิ กำหนดให้รองประธานสภาฯ 1 คน มาจากฝ่ายค้าน, ประธานคณะ กมธ.ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรัฐบาลต้องเป็นฝ่ายค้าน, ตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพจาก ส.ส. เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบกองทัพ รายได้กองทัพไปอยู่ที่ไหน และเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของทหารชั้นผู้น้อย เมื่อประสบความไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิร้ายแรง และคัดเลือกผู้ตรวจการกองทัพเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง
นายปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเสนอโละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ว่าเหตุผลไม่อิสระ และเป็นจุดเดิมพันทางการเมืองของทุกฝ่าย ฝ่ายยึดได้รอดทุกคดี เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม จึงกำหนดให้ ส.ส.มีส่วนเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส. นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในการตั้งคณะผู้ตรวจการศาล ซึ่งไม่ใช่แทรกแซงศาล แต่มีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบจากคำพิพากษา เป็นแนวทางในการวิจารณ์ตรวจสอบคำพิพากษา และหากมีข่าวลือสามารถเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงได้ ส่วนเรื่องมาตรฐานจริยธรรมนั้นไม่ใช่เกณฑ์กฎหมาย มาตรฐานจริยธรรมควรให้แต่ละองค์กรว่ากันเอง ตรวจสอบกันเอง สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยุบรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเมื่อร่างแก้ไขฉบับนี้ประกาศใช้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการอิสระชุดปัจจุบันให้พ้นจากตำแหน่งกลับไปเริ่มใหม่
นายปิยบุตรกล่าวถึงข้อเสนอล้างมรดกรัฐประหาร ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่รับรองประกาศและคำสั่ง คสช., การนิรโทษกรรมตัวเองหลังการรัฐประหารให้เป็นโมฆะ เพื่อดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหาร, กำหนดให้การต่อต้านรัฐประหารเป็นหน้าที่ และห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร
เลขาธิการคณะก้าวหน้ายังกล่าวถึงกรณีบางคนบอกว่าการล่ารายชื่อครั้งนี้เสียเวลา เพราะเดี๋ยว ส.ว.ก็คว่ำ  โดยระบุว่า เราจำเป็นต้องทำ ไม่ทำจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้เขากินรวบประเทศ และถ้าได้ถึง 1 ล้านชื่ออาจเปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้า ส.ว.ยังไม่แยแสอีก 1 ล้านคนจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 คนมาขี่คอทั้งชีวิต การรณรงค์เราเดินทุกนาที เรารู้รณรงค์ยาก แต่การนั่งเฉยโอกาสไม่มีทางมาถึง ต้องสร้างโอกาสทุกวันเท่าที่ทำได้ การลงชื่อ 1 สิทธิ์ 1 เสียง เป็นประชาธิปไตยทางตรง ท้ายสุดเสียงประชาชนจะชี้ขาดปรากฏให้เห็นผ่านชื่อ
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แนวร่วมกลุ่มราษฎร ขึ้นปราศรัยในกิจกรรมนี้ว่า เราต้องมาล่ารายชื่อเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์วันนี้ เพราะเราไม่อยากจะอยู่ในระบอบประยุทธ์อีกต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำเนิดเกิดมาด้วยความไม่ชอบมาพากล เมื่อครั้งที่ทำประชามติ เพื่อนเราหลายคนก็ถูกจับไป ประชาชน 203 คนถูกดำเนินคดีเนื่องจากแสดงเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 การแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยควรต้องทำได้ใช่หรือไม่ เราในฐานะประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เวลานั้นรัฐบาล คสช.ใช้อำนาจบาตรใหญ่ดำเนินคดี
น.ส.ภัสราวลีกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 คสช.ก็สร้างแขนขาของพวกเขาไว้ คือ ส.ว. 250 คน ที่พวกเราไม่ได้เป็นคนเลือก และไม่ได้ทำงานอะไร แต่กินภาษีประชาชนไปเปล่าๆ เราต้องกำจัด ส.ว.ทั้ง 250 คน ซึ่งไม่ได้มีอำนาจแค่เลือกนายกฯ อย่างเดียว แต่อำนาจล้นเกินประชาชน เขาสามารถกำหนดว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ ในส่วนขององค์กรอิสระที่ ส.ว. เป็นผู้เลือก ก็ไม่ได้อิสระสมชื่อ สมควรต้องโละใหม่ เชื่อว่า  ส.ส.มีศักยภาพในการบริหารประเทศ ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.ก็ได้ งบประมาณ 1.2 พันล้านต่อปี ไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้มากกว่า ถ้าเราโละ ส.ว. และใช้ระบบสภาเดี่ยว
น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือเฌอเอม ปราศรัยว่า จะต้องเอา 250 ส.ว.ออกไปก่อน เพราะเราไม่รู้สึกปลอดภัยในการออกมาคอลเอาต์ที่ผ่านมา จึงขอให้คิดถึงลูกหลาน จึงขอให้ลงชื่อเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อสร้างความปลอดภัย เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยของทุกคน แม้ตนเองจะมีความด่างพร้อยก็ตาม
ทั้งนี้ ระหว่างกล่าวเฌอเอมได้ร้องไห้แสดงความรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงที่เคยคิดว่าเขาคือคนไม่ดีในอดีต โดยย้ำถึงความสำคัญของทุกคน เพื่อลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นอีกก้าวหนึ่งในการให้เพื่อนได้รับการปล่อยตัว และเพื่อชีวิตที่ดีของทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศกิจกรรมในช่วงเย็น เวลา 18.40 น. มีจำนวนผู้ร่วมงานประมาณ 300-400 คน และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่จัดกิจกรรมได้เผยจำนวนผู้ร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญมีประมาณ 1,300 คนแล้ว
ขณะที่นายประจักษ์? ก้องกีรติ อาจารย์?คณะรัฐศาสตร์? มธ.กล่าวในกิจกรรมดังกล่าว หัวข้อ "ระบอบประยุทธ์? ทหาร ทุน วงจรอุบาทว์การเมืองไทย" ตอนหนึ่งว่า กว่า 7  ปีผ่านไปได้เกิดระบอบประยุทธ์ขึ้นแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งมีการสร้างระบอบอนาธิปไตยโดยชนชั้นนำที่อยู่บนยอดพีระมิด?บนสังคม ซึ่งการไล่ พล.อ.ประยุทธ์?คนเดียวเรื่องก็ยังไม่จบ เพราะยังมีพลเอกคนอื่นมาใช้อำนาจโดยรักษาเครือข่ายอำนาจประยุทธ์?ต่อไป
    “การรัฐประหารที่เกิดขึ้นมักเกิดขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น เช่น บูร์กินาฟาโซ มาลี ซูดาน และอียิปต์? ในส่วนไทยเราทำรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ซึ่งจากการวิจัย ในยุคปัจจุบัน?สิ้นสุดสงครามเย็น ไม่มีประเทศไหนที่ทำรัฐประหารแล้วประเทศเจริญได้ ส่วนการรัฐประหารในประวัติศาสต?ร์ไทยนั้น เหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อให้นายพลกลุ่มหนึ่งเข้ามาจัดระเบียบอำนาจการเมืองและผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ?ใหม่ ในแบบที่ให้ประโยชน์กับตัวเองและชนชั้นนำให้มากที่สุด” นายประจักษ์กล่าว
นายประจักษ์กล่าวอีกว่า วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีกต่อไปคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญ?หรือองค์กรต่างๆ ต้องไม่รับรองให้การรัฐประหารให้มีความชอบธรรม และ 2.การรัฐประหารต้องเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ ต้องเอาผิดผู้ที่ก่อการรัฐประหาร?มาลงโทษพิพากษาได้
    นายประจักษ์ยังกล่าวถึง ส.ว.ว่าเป็นสภาของข้าราชการมากกว่ากลุ่มอาชีพทั่วไป โดยเฉพาะ ส.ว.ชุดปัจจุบันมาจากแม่น้ำ 5 สาย มาจากเครือข่ายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นสภาปรสิต นอกจากนี้ ระบอบประยุทธ์ยังได้บิดเบือนกลไกประชาธิปไตย โดยเฉพาะการทำประชามติเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง ทำลายประชาธิปไตย?ให้แคระแกร็น ออกแบบทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ รวมถึงทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เอื้อประโยชน์?ให้กลุ่มทุนให้สามารถใช้ทรัพยากร?ของประเทศได้อย่างเป็นทางการ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"