‘เสธ.ไก่อู’ นำทัพทีม ปชส.ดึงประชาชนร่วมพัฒนาคลองลาดพร้าว จัดกิจกรรม On Ground ‘คืนความสุขให้คนคลอง’ 2 มิ.ย.นี้


เพิ่มเพื่อน    

กรมประชาสัมพันธ์ / ‘เสธ.ไก่อู’ นำทัพทีมประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลองเพื่อให้เข้าร่วมโครงการ  โดยรื้อย้ายบ้านเรือนเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ  ขณะที่ พอช.สนับสนุนงบช่วยเหลือและสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างบ้านใหม่  และจะจัดกิจกรรม On Ground  ‘คืนความสุขให้คนคลอง’ เสาร์ที่ 2 มิ.ย.นี้   ยืนยันหากยังไม่เข้าร่วมจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเพราะปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลอง

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมคลองลาดพร้าว  โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าวระยะทาง (ทั้งสองฝั่ง) 45.3 กิโลเมตร  และให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ  ‘พอช.’ จัดทำแผนงานรองรับชาวชุมชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ รวม 50 ชุมชน  จำนวน  7,069   ครัวเรือน  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559   โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน  5,101 ครัวเรือน   ยังไม่เข้าร่วม  1,740  ครัวเรือน   ทำให้โครงการดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามแผนงาน  เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล   ทำให้การก่อสร้างเขื่อนและบ้านมีความล่าช้า   ดังนั้นพลโทสรรเสริญ   แก้วกำเนิด  ‘เสธ.ไก่อู’ ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จึงเตรียมแผนงานเพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนริมคลอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา  กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดเวทีทำความเข้าใจเพื่อสร้างการรับรู้การแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบชุมชนที่รุกล้ำริมคลองลาดพร้าวที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์  เขตพญาไท  กรุงเทพฯ  โดยมีพลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด  อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  และนายธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ร่วมชี้แจงแนวทางการประชาสัมพันธ์  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน  ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต    สำนักการระบายน้ำ  กทม.  ตำรวจ  ทหาร  นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)  เจ้าหน้าที่ พอช.  และผู้นำชุมชนริมคลอง  

พลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด  อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  กล่าวว่า  ที่ผ่านมามีนักการเมืองบางคนไปบอกกับชาวบ้านชุมชนริมคลองลาดพร้าวว่า  คนที่สร้างบ้านเรือนบุกรุกแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับเงินชดเชยจาก กทม.รายละ 1   แสนกว่าบาท  แต่คนที่อยู่ริมคลองไม่ได้รับเงินชดเชย  ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ  แต่ข้อเท็จจริงคนที่บุกรุกแม่น้ำเจ้าพระยามีประมาณร้อยกว่าราย   ส่วนชุมชนริมคลองมีการบุกรุกกว่า 1,600  คลอง  มีผู้บุกรุกกว่า  30,000 ครอบครัว  หากจะจ่ายชดเชยต้องใช้เงินกว่า 6,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล  

“เดิมพื้นที่ริมคลองเป็นที่ดินราชพัสดุ  ไม่อนุญาตให้ใครอยู่อาศัย   แต่ตอนนี้รัฐบาลจะให้ประชาชนอยู่อย่างถูกกฎหมาย  เสียค่าเช่าประมาณปีละ  100 บาท  และมีเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 147,000 บาท  เพื่อใช้ในการรื้อย้าย  สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว  เป็นค่าเดินทางไปทำงาน  และสร้างบ้านใหม่  โดยมีสินเชื่อให้กู้รายละ 330,000-360,000 บาท  และผ่อนเดือนละ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน  เพื่อให้ประชาชนมีบ้านใหม่ที่สวยงาม  เป็นการสร้างอนาคตให้ลูกหลาน  แต่ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือก็จะต้องเข้าร่วมโครงการ   หากไม่เข้าร่วมก็จะอยู่ไม่ได้  เพราะผิดกฎหมาย  และจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย”  พลโทสรรเสริญกล่าว

นายธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า  การพัฒนาพื้นที่ริมคลองลาดพร้าว  เป็นการดำเนินงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน  2555   เรื่องการบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554  เนื่องจากมีประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองในกรุงเทพฯ จำนวนมาก   ทำให้การระบายน้ำในคลองไม่มีประสิทธิภาพ  แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ   เมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศจึงนำแผนงานการจัดระเบียบชุมชนริมคลองมาดำเนินการต่อ   โดยให้ฝ่ายความมั่นคงแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับประชาชน   ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย พอช.จัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน

ตามแผนงานรองรับชาวชุมชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  จำนวน  7,069   ครัวเรือน  ดำเนินการใน 8 เขต   คือ  วังทองหลาง  ห้วยขวาง  ลาดพร้าว  จตุจักร  บางเขน  หลักสี่  ดอนเมือง  และสายไหม  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559    โดยมี  42 ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้หลังจากที่รื้อย้ายบ้านออกจากแนวเขื่อน  ส่วนอีก 8 ชุมชนมีพื้นที่ไม่พอเพียงจึงต้องจัดซื้อที่ดินใหม่   ขณะนี้ก่อสร้างบ้านแล้ว 29  ชุมชน  รวม 2,635  ครัวเรือน  คิดเป็น  37.28 %  และมีเป้าหมายจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561  จำนวน  27 โครงการ   รวม 1,660  ครัวเรือน  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป

ส่วนกระบวนการสร้างบ้านนั้น  พอช.ใช้หลักการทำงานของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยใช้กระบวนการ 11 ขั้นตอน  เช่น  การสร้างความเข้าใจกับชุมชน  การสำรวจข้อมูลครัวเรือน  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการ การวางแผนรื้อ-ก่อสร้างบ้าน  ออกแบบผังชุมชน-ออกแบบบ้าน   การก่อสร้าง  การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน  ฯลฯ

ทั้งนี้หลักการสำคัญในการรองรับที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนริมคลอง  คือ  1. หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้  (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนฯ แล้ว) จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี (สามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 30 ปี) อัตราค่าเช่าประมาณ 1.25 - 4  บาท/ตารางวา/เดือน) และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีจำกัด  ดังนั้นครอบครัวใดที่เคยครอบครองที่ดินมากก็จะต้องเสียสละแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวอื่นๆ ได้อยู่อาศัยร่วมกัน  โดยการแบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเท่ากัน  ขนาดบ้านประมาณ  4x6 - 4x8 ตารางเมตร  มีทั้งบ้านชั้นเดียวและ  2  ชั้น

โดย พอช.จะสนับสนุนเรื่องสินเชื่อไม่เกิน 330,000 บาท/ครัวเรือน ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 75,000 บาท เงินอุดหนุนและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท

2. หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง สถานศึกษา เช่น ที่ดินของบรรษัทสินทรัพย์ในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะให้การสนับสนุนสินเชื่อครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท และช่วยเหลือเหมือนกับข้อ 1

3.หากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม พอช.จะประสานกับการเคหะแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชน  เช่น  โครง การบ้านเอื้ออาทร แฟลตการเคหะ  ฯลฯ

สำหรับชาวชุมชนที่ไม่มีรายได้  ผู้ด้อยโอกาส  หรือผู้สูงอายุ  ที่ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่นั้น   นายธนัชกล่าวว่า  ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันครัวเรือนละ 1,000  บาท  เพื่อก่อสร้างบ้านกลางให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส  เช่น  ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  ชุมชน กสบ.หมู่ 5  เขตสายไหม  ฯลฯ

“ดังนั้นหากชุมชนใดมีผู้ด้อยโอกาสก็จะต้องปรึกษาหารือกันว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร  ส่วน พอช.ก็จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  เช่น  อาจจะประสานหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ  ที่มีกิจกรรม CSR  หรือคืนกำไรสู่สังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้   ตามหลักการของกระทรวง พม.และ พอช.  คือ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’  ยิ่งจน  ยิ่งเดือดร้อน  เราก็จะต้องช่วยเหลือ”  นายธนัชกล่าว

 บ้านริมคลองชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม เขตจตุจักร สร้างเสร็จแล้ว

 

สำหรับผู้ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือและไม่เข้าร่วมโครงการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองเพื่อเปิดพื้นที่ให้การ  ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำและก่อสร้างบ้านใหม่นั้น   มีทั้งหมด  1,740   ครัวเรือน   เจ้าหน้าที่ชุดมวลชนสัมพันธ์และผู้นำชุมชนเข้าเจรจาเป็นรายครัวเรือน   ทำให้มีผู้เปลี่ยนใจเข้าร่วมรวม 55 ราย   ส่วนผู้ที่เป็นแกนนำขัดขวางการดำเนินงาน  เนื่องจากมีผลประโยชน์   เช่น  เป็นเจ้าของบ้านเช่า   หอพัก  ร้านค้า  ร้านอาหาร  ฯลฯ   กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินราชพัสดุได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว  73  ราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9  โดยการเข้าไปยึดถือครองที่ดินของรัฐ  ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  เช่น  ที่ริมตลิ่ง  ทางน้ำ  คลอง  ฯลฯ  ซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่ดินและกฎหมายอาญา  มีอัตราโทษจำคุก  3 - 5 ปี  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นอัยการ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ระยะทาง  2  ฝั่ง รวม 45.3  กิโลเมตรนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ  35.15 %  โดยบริษัทรับเหมาตอกเสาเข็มเพื่อเป็นรากฐานเขื่อนไปแล้วเป็นระยะทาง 15.85    กิโลเมตร  จำนวนเสาเข็มที่ตอกแล้ว  21,091  ต้น   จากจำนวน  เสาเข็มทั้งหมดประมาณ 60,000 ต้น

พลโทสรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมว่า  หลังจากจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  ทหาร  ตำรวจ  เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต  กทม.  และนักศึกษาจาก มศว.ที่มีจิตอาสาแล้ว  ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้  เจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ  100   คน  จะลงพื้นที่ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา  เขตบางเขน   และชุมชนชายคลองบางบัว  เขตหลักสี่  เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ  เพื่อให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการพัฒนาคลองลาดพร้าว   นอกจากนี้ก็จะเชิญชวนให้ชาวชุมชนต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม ‘คืนความสุขให้คนคลอง  คืนสายคลองให้คนเมือง’ ที่จะจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่  2 มิถุนายนนี้ที่ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนาด้วย

โดยจะมีกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.00-18.30 น.  เช่น  ดนตรีกลางคลอง  มีศิลปินแห่งชาติ ‘แม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์’ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์แสดงบนแพลากจูง  เรือตรวจเยี่ยมโครงการจากวัดบางบัว-ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา  มีผู้ว่า กทม.  กรมประชาสัมพันธ์  ผู้บริหาร พอช.  ผู้แทน  คสช.  ตำรวจ  ฯลฯ  เข้าร่วม  มีการแสดงต่างๆ  การออกร้านจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด  เวทีเสวนา  การแข่งขันพายเรือหรรษา  ร่วมรับประทานอาหารเย็น  ฯลฯ  คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"