เลื่อนถกประชามติไปพค. ฝ่ายค้านเสนอแก้รธน.อีก


เพิ่มเพื่อน    

 "ร่าง กม.ประชามติ” เจอพิษโควิด-19  ส.ว.หาย ต้องเลื่อนถกไป พ.ค.นี้ ด้าน ส.ส.เพื่อไทยปูด ผู้ติดเชื้อโควิดร่วมประชุมกมธ. 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายค้านฟิตจัด เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหลังสภาเปิด 22 พ.ค.

    เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 เมษายน ในการประชุมร่วมรัฐสภา   ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง แต่เมื่อเริ่มเปิดประชุม มีสมาชิกรัฐสภามาประชุมบางตาไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากมีส.ว.หลายคนไปฉีดวัคซีนโควิดตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาประสานงานให้ ส.ว.ไปฉีดวัคซีน ทำให้ต้องรอสมาชิกมาครบองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 10.30 น. มีสมาชิกครบองค์ประชุม นายพรเพชรจึงดำเนินการประชุมตามวาระ  
     นายพรเพชรแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ 5 ส.ส.กปปส.ไว้พิจารณา ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ดังนั้นจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้จึงเหลือ 731 คน มีองค์ประชุม 366 คน  
     จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วาระที่สอง มาตรา 42/3 ถึงมาตรา 42/6 เรื่องการลงคะแนนออกเสียงโดยเครื่องออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ กมธ.เพิ่มเติมให้ลงคะแนนออกเสียงประชามติด้วยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากช่องทางลงคะแนนในบัตรลงคะแนนปกติและลงคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีใครคัดค้าน  
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 42/6 กรณีให้อำนาจคณะกรรมการสามารถเห็นสมควรให้ลงคะแนนออกเสียงโดยวิธีอื่นได้นอกจากการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง การลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ และการลงคะแนนด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ปรากฏว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายทักท้วงอย่างมาก เนื่องจาก กมธ.ไม่สามารถตอบได้ว่า วิธีการอื่นคืออะไร เกรงว่าจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กกต.ไปกำหนดวิธีลงคะแนนด้วยวิธีใดๆ ก็ได้ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มาตรา 42/6 เป็นการเขียนเผื่อไว้ในอนาคต กมธ.ไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีการอื่นที่นอกเหนือจากการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง การลงคะแนนทางไปรษณีย์ และการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร เขียนโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดในการออกเสียง คิดแบบไกลเกินไป อะไรที่ฟุ่มเฟือยจะเขียนไปทำไม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 42/3-42/6 ตามที่ กมธ.เสนอมาทุกมาตรา  
    ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การลงมติในแต่ละมาตรา แม้องค์ประชุมครบก็ตาม แต่ก็มีความกระท่อนกระแท่นโดยองค์ประชุมเลยมาไม่เกิน 15 เสียง จนกระทั่งก่อนลงมติมาตรา 50/1 นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประชุมขณะนั้นว่า หากองค์ประชุมไม่ครบจะเกิดอะไรขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ  
    นายชวนชี้แจงว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ รัฐสภาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญมา 2 ครั้งแล้ว และคงจะไม่มีครั้งที่ 3 แน่นอน เราทำเรื่องขอกราบบังคมทูลเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เราก็ต้องทำหน้าที่ หากไม่ทำเราจะอธิบายไม่ได้เลย แต่เรื่ององค์ประชุมมีปัญหา เราก็ต้องขอร้องกัน วันนี้การพิจารณาดำเนินมาเกินครึ่งทางแล้ว ขอให้สมาชิกรัฐสภาอดทนกันอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องค้างการพิจารณา แล้วพิจารณากันใหม่ในเดือน พ.ค. ซึ่งก็ต้องดูกันว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร  
    จากนั้นที่ประชุมก็ได้ดำเนินการพิจารณาต่อ จนกระทั่งก่อนลงมติมาตรา 53 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ได้ขอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อ แต่นายชวนได้ขอร้องให้ดำเนินการประชุมต่อไป เพราะองค์ประชุมยังครบอยู่  
    ต่อมาเวลา 14.40 น. นายชวนขออนุญาตพักประชุม 10 นาที เพื่อขอพบวิป 3 ฝ่าย และได้เปิดประชุมอีกครั้งในเวลา 15.05 น.  โดยนายชวนให้สมาชิกรัฐสภาแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนลงมติ หมวด 8 การคัดค้านการออกเสียง และได้ทอดเวลาอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สมาชิกรัฐสภาได้เสียบบัตรแสดงตน ระหว่างนั้น นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ทราบสมาชิกกลัวอะไรกับ พ.ร.บ.ประชามติ ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้ามาร่วมประชุม
    นายชวนกล่าวว่า คงไม่ใช่เรื่องกลัว แต่ด้วยเหตุที่เราทราบว่าอะไรเกิดขึ้น และการเปิดสมัยวิสามัญเป็นเรื่องที่ต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อกราบบังคมทูล เราได้เปิดวิสามัญกับเรื่องนี้ 2 ครั้งแล้ว เรามาลงเอยอย่างนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา ตนให้โอกาสสมาชิกได้แสดงตนเพื่อให้ท่านได้มีชื่ออยู่ในห้องประชุมในวาระของการประชุมในวันนี้ ขออนุญาตที่ประชุมขอเลื่อนการประชุมเรื่องนี้ไปประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากมีความจำเป็นต้องให้องค์ประชุมมีความสมบูรณ์ แม้จะยังไม่นับองค์ประชุม แต่ก็เห็นว่าควรจะเลื่อนออกไป
    จากนั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมวิสามัญ และปิดประชุมในเวลา 15.19 น.  
    ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย หารือว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่มาบอกตนว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่ห้อง 405 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีกรรมาธิการบางคนเข้ามาร่วมประชุมและติดโควิด ซึ่งไม่ทราบว่าเป็น ส.ส.หรือเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ และจากความประมาทเลินเล่อของรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ได้กักตัว จึงขอให้ประธานกำชับและระมัดระวังการประชุมในวันนี้ด้วย
    ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ หารือว่า ส.ว.หลายคนไปฉีดวัคซีนจากการให้บริการของวุฒิสภาแล้ว แต่ทำไม ส.ส.จึงไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ เพราะ ส.ส. 77 จังหวัดนั่งอยู่ในนี้ ถ้าติดคนหนึ่งก็จะติดกันหมด และแพร่กระจายไป 77 จังหวัด จะกลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อ ส.ว.ฉีดได้ ก็ขอ ส.ส.ฉีดบ้าง
    ทำให้นายพรเพชรชี้แจงว่า ตนขอไปหาข้อมูล ยืนยันว่าทำหน้าที่เป็นกลางแน่ แต่หากหารือพาดพิงไปถึงรัฐบาลจะยุ่งไปกันใหญ่    
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่ ส.ว.บางคนไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม จนทำให้องค์ประชุมล่มลงไป ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐบาลเสนอขึ้นมาเอง ในฐานะกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป แต่กลับปล่อยให้การประชุมเป็นภาระของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนการพิจารณาคงต้องนำไปพิจารณาในสมัยสามัญ ซึ่งต้องรออีก 2 เดือน รู้สึกผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก หาก พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาในวาระ 3
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องขอบคุณนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่พยายามไกล่เกลี่ย แต่ทาง ส.ว.มีท่าทีบ่ายเบี่ยง ไม่รับ สุดท้ายแล้วแม้ประธานสภาฯ ขอให้ประชุมต่อ ถ้าไม่ไหวค่อยเลิก พอเข้าห้องประชุม ส.ว.ก็เลิกจริงๆ แสดงให้เห็นว่าเขากลัวการถามประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เลยพยายามหนี ทางเดียวที่หนีได้ก็คือการพยายามทำให้ พ.ร.บ.ประชามติช้าออกไปให้ได้มากที่สุด ถ้าทำให้กฎหมายตกไปได้ ก็คงทำไปแล้ว ตนจึงขอประณามอีกเสียง
     วันเดียวกันนี้ หัวหน้าและแกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมสภานี้ และจะเปิดประชุมสภาครั้งต่อไปวันที่ 22 พ.ค. ฝ่ายค้านจะเดินสายพบพี่น้องประชาชน 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เพื่อลงไปดูความเดือดร้อนพร้อมกับรับฟังเสียงประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่า 1.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน จึงยืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม 2.ระหว่างนี้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่สามารถทำคู่ขนานกันไปได้ แต่การแก้ไขรายมาตราต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้เป็นสำคัญ 3.พรรคร่วมฝ่ายค้านจะอาศัยช่วงปิดสมัยประชุม พบปะพี่น้องประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวบรวมความคิดเห็นมาเพื่อนำมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 4.จะยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้ง จะพยายามยื่นให้ทันในการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญวันที่ 22 พฤษภาคมนี้  
    เมื่อถามว่า คราวที่แล้วในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถูกโหวตคว่ำ การยื่นแก้ครั้งใหม่ก็แก้ทั้งฉบับ เกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนเดิมหรือไม่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตอบว่า ครั้งที่แล้วถูกคว่ำเพราะมีการอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าให้ไปทำประชามติก่อน แต่ฝ่ายค้านยืนยันว่าการดำเนินการของเราถูกต้อง และยืนยันว่าจะยื่นแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 อีกครั้ง หากต้องไปทำประชามติก่อน ก็ไปทำประชามติก่อน แต่การตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.หรือใคร คงปฏิเสธไม่ได้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"