โควิดรอบใหม่ฉุดใช้จ่ายชะลอ


เพิ่มเพื่อน    

 

      สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยรอบล่าสุด สร้างความวิตกกังวลให้ประชาชนอยู่ไม่น้อย จากการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และกระจายตัวเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้หลายฝ่ายจับตาสถานการณ์การระบาดหลังจากผ่านพ้นเทศกาลดังกล่าวว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

                “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้ประเมินว่า ในช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในหลากหลายคลัสเตอร์ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 ซึ่งภาพบรรยากาศทางเศรษฐกิจตอนช่วงก่อนสงกรานต์แตกต่างอย่างชัดเจนจากช่วงปลายเดือนมี.ค.2564 ที่เริ่มเห็นกำลังซื้อในประเทศคึกคักขึ้น และโดยปกติในเทศกาลสงกรานต์ ร้านค้ามักกักตุนสต๊อกสินค้า ยอดขายกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ มักขยับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า

                กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารจะได้อานิสงส์จากการเดินทางในประเทศ แต่!! มาตอนนี้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นึกถึงบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีก่อนเทศกาลวันคริสต์มาสที่คนเตรียมฉลองและท่องเที่ยว แต่สุดท้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดด้วยการพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจังหวัดสมุทรสาคร และลามไปทั่ว จนรัฐมีมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ได้นำไปสู่ภาวะการชะลอทางเศรษฐกิจ ผมกำลังมองภาพคล้ายกันว่าเราอาจกำลังเผชิญภาพคริสต์มาสในเดือน เม.ย.นี้อีกรอบ

                นอกจากนี้ หากเกิดการระบาดที่มากขึ้น รัฐจะเลือกใช้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนคล้ายกับที่ใช้ในช่วงปลายปี เช่น ปรับเวลาการปิดร้านอาหารให้เร็วขึ้น ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ปิดสถานที่บริการที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น ฟิตเนสและร้านนวด ซึ่งไม่ใช่มาตรการที่เข้มงวดมาก และไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเทียบกับช่วงการระบาดในรอบแรก แต่โดยรวมอาจส่งผลต่อธุรกิจในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การขนส่ง ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่กำลังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงวันหยุดยาวก็กำลังลุ้นว่าจะมีใครยกเลิกการจองห้องพักมากน้อยเพียงไร

                “ช่วงก่อนสงกรานต์นี้หากยังไม่มีมาตรการใดออกมา เราอาจเห็นธุรกิจเร่งระบายสต๊อกสินค้าด้วยการลดราคาสินค้าและบริการ เพราะเกรงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยิ่งเพิ่มขึ้นหลังผู้คนกลับมาจากท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนนี้ และอาจมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนจริง จนส่งผลให้การใช้จ่ายของคนไทยลดลงในเดือน เม.ย. แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือน พ.ค.เป็นต้นไป แต่ผมขอมองต่อไปว่า แม้จะสิ้นสุดรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น” อมรเทพระบุ

                ขณะที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัย คือ 1.การขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.ขาดการลงทุน 3.ขาดความเชื่อมั่น และ 4.ขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะมาตรการของรัฐบาลที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พ.ค.นี้ หากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้ และให้เงินเพิ่มเติม เกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่ หากรัฐถอนมาตรการเหล่านี้ แน่นอนว่าบางส่วนอาจไม่มีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายได้เท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

                “การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือน เม.ย.2564 ในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือน พ.ค.2564 แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด-19 ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้”.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"