“Plastic Footprint” เครื่องมือใหม่ วัดระดับใครลดขยะพลาสติกได้มากกว่ากัน


เพิ่มเพื่อน    


 

 

 

 

     วิกฤติขยะพลาสติกในทะเลไทย มีการแก้ปัญหาผ่านโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตั้งเป้าเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึงการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

      ความพยายามคุมเข้มใช้พลาสติกและลดปริมาณขยะพลาสติก ทำให้ไทยปรับลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 เป็นอันดับที่ 10 ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน

SWAT ผนึก 12 องค์กรขับเคลื่อนโครงการ "ลดพลาสติกฟุตปรินต์- Plastic footprint”

 

      เท่านั้นไม่พอ เส้นทางลดขยะพลาสติกของไทยยังขับเคลื่อนไปอีกระดับ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการของเสีย ภายใต้สมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) หรือ SWAT เปิดโครงการ "ลดพลาสติกฟุตปรินต์-Plastic  footprint” ตามแนวทางขององค์การด้านสิ่งแวดล้อม  Ocean Recovery Alliance (ORA) ภายใต้ชุดโครงการ SEA circular ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ  เพิ่มประสิทธิภาพในการลดขยะพลาสติก วิธีนี้คิดค้นโดยสหรัฐและฮ่องกง ซึ่งแตกต่างจาก “คาร์บอนฟุตปรินต์” ซึ่งหมายถึงการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

      “พลาสติกฟุตปรินต์” ถือเป็นเครื่องมือใหม่ ยังไม่เคยนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ในสถานการณ์ที่การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ยังไม่กระเตื้อง การสนับสนุนแนวทางใหม่จึงจำเป็น ตอนนี้สมาคมจับมือกับบริษัทและองค์กรต่างๆ จำนวน 12 องค์กร ผลักดันโครงการดังกล่าว  จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ โรงแรมสุโกศล หวังจะเกิดผลรูปธรรมในการลดขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งแต่ละปีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2593 จะมีปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าจำนวนปลา 

 

 

    ภัทรพล ตุลารักษ์ ผู้จัดการโครงการและเลขาธิการสมาคม SWAT ให้ภาพการศึกษาพลาสติกฟุตปรินต์ขององค์กรว่า เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในปัจจุบันของการใช้ การเก็บรวบรวม การรีไซเคิล และการใช้ประโยชน์จากพลาสติกรีไซเคิลขององค์กร โดยพิจารณาข้อมูลทั้งชนิด ปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ว่าการดำเนินงานขององค์กรส่วนใดที่มีการใช้หรือการทิ้งพลาสติกมากเกินไป และจะสามารถลดพลาสติกฟุตปรินต์ได้อย่างไร

      “ยกตัวอย่างธุรกิจอาหาร จะศึกษา 2 ส่วน คือ การใช้ ดูปริมาณการใช้ เยอะหรือน้อย รวมถึงสัดส่วนของชนิดพลาสติกที่ใช้ บางทีใช้ปริมาณมาก แต่เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ทั้งหมด พลาสติกฟุตปรินต์ก็จะดีกว่า บางองค์กรใช้น้อยแต่รีไซเคิลไม่ได้เลย ส่วนการทิ้ง หากขยะพลาสติกไปหลุมฝังกลบถือว่าแย่สุด แต่ถ้านำไปใช้ในธุรกิจพลังงานหรือรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง ผลประเมินพลาสติกฟุตปรินต์ดีกว่า ซึ่ง 12 องค์กรที่ลงนาม MOU ส่วนหนึ่งมีข้อมูลทั้งสองส่วนละเอียด แต่บางองค์กรยังไม่ชัดเจน ใช้พลาสติกประเภทไหนบ้าง" ภัทรพลอธิบาย

      หากผลจากการศึกษาพลาสติกฟุตปรินต์ออกมา   ภัทรพลบอกว่า จะให้ความรู้ความเข้าใจกับมีผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทในการจัดการพลาสติกฟุตปรินต์ ตั้งแต่ลูกค้า พนักงาน ผู้บริหาร นักลงทุน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และเมื่อเห็นข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะสามารถวางแผนบริหารจัดการให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ หากใช้พลาสติกที่รีไซเคิลยาก ต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อาหารที่ง่ายต่อการรีไซเคิล รวมถึงแก้ความเข้าใจผิดเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าสปันบอนด์ ผลิตจากพลาสติกเปื่อยง่าย สลายเป็นไมโครพลาสติก อันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกว่าถุงพลาสติกอีก

      “เราจะหาจุดปรับปรุง ลดใช้ ลดทิ้ง เพิ่มอัตรารีไซเคิล โดยช่วยแนะนำแนวทาง บางอย่างเป็นเรื่องเทคนิค บางอย่างต้องลงทุน เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการ โดยบริษัทจะตัดสินใจใช้มาตรการที่เหมาะสมกับองค์กร ผมเห็นด้วยที่เสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต อดีตผู้ผลิตต่อต้าน ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่เห็นตรงกัน"  

      อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการโครงการระบุแนวทางของ ORA ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในบ้านเรา จึงยังไม่มีผลการศึกษาก่อนหน้านี้ และผลที่ได้อาจจะยังไม่สามารถเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้ เพราะจำนวนผู้ร่วมโครงการยังไม่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ เฟสต่อไปจะพัฒนาสู่มาตรฐานระบบสำหรับ  ORA มาร่วมกับ UNEP เมื่อปี 2561 เพื่อดำเนินโครงการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศมาเลเซียเริ่มใช้ก่อนไทยไม่นาน

ศ.ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์

 

      ด้าน ศ.ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ นายกสมาคม SWAT กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการพลาสติกฟุตปรินต์ คือ ลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสมาคมจะดำเนินโครงการนี้ร่วมกับบริษัทและองค์กรในไทย เพื่อช่วยศึกษาการใช้และทิ้งพลาสติกในปัจจุบัน ก่อนนำเสนอแนวทางลดใช้ผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนภาคบริการ และภาคการศึกษา นำสู่ปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โครงการนี้มีความสำคัญสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในไทย

      “12 บริษัทสมัครใจนำร่องร่วมลดพลาสติก มีทั้งลงมือแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในองค์กรจนประสบผลสำเร็จและบริษัทที่ใส่ใจ แต่ยังขาดระบบจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  ตั้งเป้าถอดบทเรียนจากองค์กรต่างๆ โดยใช้ตัวชี้วัดพลาสติกฟุตปรินต์ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ภาคโรงงาน ภาคการศึกษา ภาคบริการ จะต้องทำอย่างไร ข้อมูลจากโครงการจะมาจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมภายในเดือนสิงหาคมนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกันสำคัญ เพื่อยกระดับการจัดการของเสียขยะพลาสติกของไทย ซึ่งสมาคมยังส่งเสริมงานวิชาการจัดการขยะอาหารและของเสียชุมชนอีกด้วย" ศ.ดร.อรทัยกล่าว

กล่องสแน็กบ็อกซ์จากกระดาษคราฟต์ของ S&P ลดใช้พลาสติก

 

      บริษัทและองค์กรที่ร่วมจุดประกาย "พลาสติกฟุตปรินต์” มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มชื่อดัง ผู้ผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนภาคบริการ และภาคการศึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน), บริษัท คอสมอสบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน), โรงแรม เดอะ สุโกศล, โรงแรมซิกเซ้นส์ รีสอร์ท สปาร์, บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, บริษัท ซีเท็กซ์อินดัสตรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด, เทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงเรียนวัดสร้อยทอง และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

      กำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พีฯ กล่าวว่า เราตั้งเป้าหมายลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าหน้าร้าน ให้รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2565 รวมถึงผลักดันแผนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ยังจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภทในการกระบวนการผลิต เพื่อส่งมอบแก่ผู้บริโภค เพราะพลาสติกยังเป็นบรรจุภัณฑ์ถนอมอาหารที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่เราตระหนักปัญหาขยะพลาสติกสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และกำจัดขยะอย่างเป็นระบบ

      “เราปรับลดพลาสติกที่ใช้บรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ปี 61-63 ไปได้ถึง 299 ตัน เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ กล่องไหว้พระจันทร์รักษ์โลก กล่องสแน็กบ็อกซ์จากกระดาษคราฟต์   กล่องอาหารจากเยื่อกระดาษขึ้นรูป รายการที่ยังต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ปรับเป็นพลาสติกชนิดเดียว ให้รีไซเคิลได้ ส่วนถุงพลาสติกหูหิ้วไม่ใช้แล้วนำไปรีไซเคิล แปรรูปเป็นเสื้อพนักงาน S&P รวมถึงขอความร่วมมือลูกค้าพกถุงผ้ามาใช้บริการที่ร้าน" กำธรกล่าว และว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อช่วยให้โลกน่าอยู่ต่อไป

 

     ส่วนภาคการผลิต พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ดอยคำ ดำเนินธุรกิจตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียทุกมิติ นโยบายบริษัทมุ่ง GO GREEN จึงร่วมโครงการพลาสติกฟุตปรินต์นี้   เราปลูกฝังให้พนักงานดอยคำมีแนวคิดสีเขียว หรือปลูกป่าในใจคน สร้างจิตสำนึกที่ดี นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เราทำโครงการแกะ ล้าง เก็บ เพื่อลดขยะพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ในฐานะผู้ผลิต ต้องกำจัดขยะเอง นำมาสู่การสร้างระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิต สังคมจะเป็นสีเขียวได้ คนและองค์กรในสังคมต้องมีความรับผิดชอบ หากทุกคนช่วยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในบ้านเราต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"