ปชป.คึกสู้ศึก ชิงผู้ว่าฯกทม. เมิน2บิ๊กเนม


เพิ่มเพื่อน    

 

ปชป.คึกพร้อมสู้ศึกสนามผู้ว่าฯ กทม. แย้มได้ตัวผู้สมัครแล้วคัดเหลือ 2 แคนดิเดตรอ กก.บห.เคาะ  นโยบายหาเสียงเตรียมไว้เสร็จสรรพ ลั่นไม่หวั่นเจอ "ชัชชาติ-บิ๊กแป๊ะ" เปรียบเหมือนนักมวยเต้นฟุตเวิร์ก ให้ดูวันชกจริงดีกว่า

    เมื่อวันที่ 13 เมษายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ว่า  ขณะนี้พรรคได้เตรียมไว้ 2 ส่วน คือ เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะคาดว่าจะเลือกตั้งพร้อมๆ กัน  โดยที่ผ่านมาเราได้เตรียมผู้สมัคร จัดทำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง และทีมงานช่วยดำเนินการรณรงค์หาเสียงไว้แล้ว จะมีนโยบายเข้ามาแก้ไขและพัฒนา กทม. ซึ่งได้จากการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรของพรรค เช่น ส.ส., อดีต ส.ก., ส.ข., ตัวแทนสาขาพรรค และระดมความเห็นจากคนภายนอกที่มีหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันมีการเจาะลึกลงไปเฉพาะกลุ่ม เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการของคน กทม.อย่างแท้จริง ว่าอะไรที่เป็นปัญหาที่ควรแก้ไข โดยจัดความสำคัญ 5  ลำดับไว้ หากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานไม่ว่าในสถานะ ส.ก.หรือผู้บริหาร ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวพร้อมที่จะใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
    สำหรับตัวบุคคลที่จะส่งรับเลือกตั้ง ส.ก.นั้น พรรคมีบุคลากรอยู่แล้วประมาณกว่า 20 คน ส่วนใหญ่แสดงความจำนงที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคต่อไป และพรรคต้องสรรหาใหม่อีกประมาณ 30 คน ขณะนี้มีประมาณ 90  เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือบางเขตมีคนสนใจมากกว่า 1 คน  พรรคให้โอกาสทำงานในพื้นที่ เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะประชุมคณะทำงานสรรหาผู้สมัคร ส.ก.เพื่อพิจารณาว่าใครเหมาะสม
    "สำหรับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาธิปัตย์ดำเนินการสรรหาตัวผู้สมัครมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว โดยมีการพูดคุยกับคนที่สนใจและคนที่พรรคคิดว่าน่าสนใจ 3-4 ท่าน จนขณะนี้เหลืออยู่ 2 ท่านที่อยู่ในข่ายพรรคจะพิจารณา เมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องตัดสินใจ ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารเพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้าย คิดว่าคงไม่น่าจะมีใครมาขอลงสมัครเพิ่มอีกแล้ว เกณฑ์ในการเลือกผู้สมัครของเรา คือ มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคคลสาธารณะ มีความมุ่งมั่น มีบุคลิกลักษณะที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และมีภาวะผู้นำผู้บริหารระดับสูง" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคสอบถามคนกรุงเทพฯ หรือไม่ว่าอยากได้ผู้ว่าฯ แบบใด นายองอาจกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจโพลออกมาจำนวนมากอยู่แล้ว พอที่จะสามารถนำมาประเมินได้ แต่พรรคเองมีการสำรวจเป็นระยะเช่นกัน  ตนคิดว่าผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาตัดสินใจหาคนที่เหมาะสมที่สุด ในการเข้ามารับผิดชอบทำงานแต่ละประเภทแต่ละช่วงเวลา
    ส่วนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร., พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ประกาศตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยนั้น นายองอาจกล่าวว่า พรรคไม่วิตกกังวลว่าใครจะลงสมัคร เพราะทุกครั้งพรรคต้องแข่งขันกับผู้สมัครที่น่าสนใจและเป็นคนดังๆ ทั้งนั้น คนที่แสดงตัวออกมาตอนนี้ก็เหมือนนักมวยที่กำลังฟุตเวิร์ก วอร์มอัพร่างกายก่อนเตรียมขึ้นชกเท่านั้น พอถึงเวลาชกจริงค่อยมาดูกันว่าใครจะชนะ หรือคนกรุงเทพฯ จะเลือกใครดีกว่า ทั้งนี้พรรคจะเน้นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รณรงค์หาเสียงจนถึงวันเลือกตั้ง หากประชาชนมอบความไว้วางใจให้ทำงานก็ต้องพร้อมตั้งแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่งเลย
    เมื่อถามถึงผลการสำรวจล่าสุดที่คนกรุงเทพฯ อยากให้การสนับสนุนผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครจากพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขณะนี้มีแต่คนที่ประกาศตัวลงสมัครที่ชัดเจนว่าจะลงในนามอิสระ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองยังไม่มีการเปิดออกมา จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผลโพลจะออกมาลักษณะนี้ เพราะต้องให้ความเห็นกับคนที่เขารู้จักก่อน คิดว่าเมื่อพรรคเปิดตัวแล้วผลสำรวจอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้
    "สนามการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.กับเลือกตั้งระดับชาติมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว การตัดสินใจของประชาชนทุกครั้งจะพิจารณาเป็นเรื่องๆ เช่นในอดีตนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคการเมืองในปี 42 และลงสมัครการเลือกตั้งทั่วไปในปี 44 เขากวาดที่นั่งได้เกือบทั้งหมด พรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่กี่คน แต่พอมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 47  มีคนมีชื่อเสียงแห่กันลงสมัครจำนวนมาก ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯ กลับเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ คือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครหน้าใหม่นอกวงการที่ไม่มีใครรู้จัก ทั้งที่กระแสนิยมรัฐบาลนายทักษิณขึ้นสูงมาก พอผ่านมาอีกแค่ 6 เดือน คนกรุงเทพฯ กลับมาเลือก ส.ส.พรรคไทยรักไทยเกือบหมด ผู้สมัครของพรรคตกเกือบหมด ได้มาแค่ 2-3 คน มี ส.ส.เก่าเพียงคนเดียว คือผม  แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ เขาแยกเรื่องออกจากกัน"  นายองอาจระบุ    
    ทั้งนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งในอดีตที่ทำให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพิจารณาเป็นเรื่องๆ ในแต่ละครั้ง เขาพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ  อย่าง และพิจารณาบุคคลที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในเรื่องนั้นๆ และตนยังมั่นใจว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะยังคงเหมือนเดิม คือมีอิสระในการตัดสินใจอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะเลือกใคร ขึ้นอยู่กับผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะส่งใคร นอกจากนี้การที่พรรคไม่มี ส.ส.ใน กทม.ก็ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะในอดีตเราได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคไทยรักไทยถึง 1 ใน 3 แต่เรายังสามารถชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้
    ส่วนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ เช่น คนละครึ่ง, เรารักกัน ที่ดูเหมือนประชาชนจะพึงพอใจ จะทำให้พรรคต้องกังวลหรือไม่นั้น  นายองอาจกล่าวว่า อย่าลืมว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีพรรคประชาธิปัตย์และอีกหลายพรรคร่วมด้วย ถ้าไม่มีพรรคเหล่านี้ก็ไม่มีรัฐบาล อย่างไรก็แล้วแต่อยู่ที่ประชาชนจะคิดตัดสินใจ เรามีหน้าที่สรรหาคนที่ดีที่สุดเสนอให้เขาเลือกเท่านั้น
    เมื่อถามว่า นโยบายหาเสียงครั้งนี้จะเป็นเรื่องเก่าที่เป็นปัญหาเดิมๆ ใน กทม. หรือมีนโยบายใหม่เกิดขึ้น  นายองอาจกล่าวว่า จะมีทั้งปัญหาเดิมๆ และปัญหาใหม่  เช่น PM2.5 ในการเลือกตั้งปี 56 พรรคไม่ได้ชูเรื่องนี้  เพราะปัญหายังไม่รุนแรงขนาดนี้ เราจะต้องมีวิธีเสนอว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนปัญหาเก่าๆ น้ำท่วม ขยะ สิ่งแวดล้อม จราจร ปากท้องของประชาชนยังคงต้องมีอยู่
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนจะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคการเมือง  ส่วนพรรคอื่นๆ สนับสนุนผู้สมัครอิสระ นายองอาจกล่าวว่า  เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองจะตัดสินใจอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุดมการณ์ 1 ใน 10 ข้อของพรรคที่เริ่มตั้งแต่ก่อตั้ง ดังนั้นเราจะส่งเสริมการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้โดยคนของท้องถิ่นเอง และมีพรรคการเมืองสนับสนุน พิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสมมาลงสมัคร และช่วยกันทำนโยบายที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นภาระหน้าที่พรรคการเมืองต้องทำอย่างเต็มที่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"