ชงล็อกดาวน์กทม.! บิ๊กตู่’นั่งหัวโตะเคาะศุกร์นี้หลังพบติดโควิดพุ่งพรวดทะลุพัน


เพิ่มเพื่อน    

 

ยอดผู้ป่วยโควิดพุ่งพรวด 1,335 คน  อธิบดีกรมควบคุมโรคเผย ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผู้ติดเชื้อจะมีถึง 20,000 คนขึ้นไปต่อวัน ศปก.ศบค.อยู่เฉยไม่ได้แล้ว เตรียมชงล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และภาคตะวันออกบางจังหวัด "บิ๊กตู่" จ่อเคาะศุกร์นี้

    เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,335 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,326 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ 7,491 ราย มีอาการหนัก 9 ราย ผู้ป่วยที่หายดีเพิ่มขึ้น 34 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยรวมพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบัน 7,047 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย กลับบ้านได้แล้วรวม 896 ราย
        ในส่วนของจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายขึ้นไปโดยนับตามรอบเดือน เม.ย. มีอยู่ทั้งหมด 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ 1,689 ราย, เชียงใหม่ 880 ราย, ชลบุรี 594 ราย, สมุทรปราการ 416 ราย, นราธิวาส 304 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 265 ราย, สมุทรสาคร 166 ราย, ปทุมธานี 124 ราย และสระแก้ว 105 ราย โดยจังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคน ควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง หรือว่าการจัดงานปาร์ตี้ระหว่างบุคคลอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง
        อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดทั่วโลกว่า อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ที่มีการระบาดมากขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงหลายประเทศในยุโรป ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 138,013,074 เป็นรายใหม่ 735,486 ราย
       ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง ฉะนั้นสถานการณ์ยังมีความน่ากังวลอยู่ โดยกราฟผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะยานขึ้นไปอย่างชัดเจน” นพ.โอภาสกล่าว และว่า สถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย สะสม 579,305 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 505,744 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 73,561 ราย ซึ่งบางคนอาจบอกว่าจำนวนการฉีดยังได้น้อย ก็ต้องเรียนว่าขณะนี้เรามีวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่พร้อมฉีดให้ประชาชนราวๆ 1 ล้านโดส และวัคซีนจะต้องมีการฉีดซ้ำในเข็มที่ 2 ดังนั้นจะสามารถฉีดในเข็มที่ 1 ได้จำนวน 5 แสนโดส
       นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ที่เข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ในระหว่างการตรวจรับรองทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) คาดว่า 1-2 วันจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 6 แสนโดส โดยขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉีดวัคซีนดังกล่าวให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน
     นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทำงานที่บ้านตั้งแต่หลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนอย่างเต็มรูปแบบ และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
         อธิบดีกรมควบคุมโรคยังกล่าวอีกว่า ในภาพรวมการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย อยู่ในวัยหนุ่มสาว 20-29 ปี ซึ่งมีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ ไปเที่ยวจากสถานบันเทิง ไปเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่ง หรือกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ ก็จะมีความเสี่ยงให้ผู้สัมผัสที่เป็นคนในครอบครัวติดเชื้อ จากนั้นก็จะกระจายในคนในชุมชน ดังนั้นจังหวัดไหนที่ยังไม่มีการระบาดในชุมชนก็จะต้องตัดวงจร โดยการติดตามผู้สัมผัส คัดกรอง ลดการเคลื่อนย้ายของชุมชน อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนปิดเทอม และก็จะมีกิจกรรมอย่างเช่นการออกค่าย ทัศนศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้โรคแพร่กระจายไปได้ ถ้าเป็นไปได้ขอให้งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
ถ้าไม่ทำอะไรเลยติดวันละ 2 หมื่น
    นพ.โอภาสแถลงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 579,305 โดส ใน 77 จังหวัด ซึ่งยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ ได้มีการจัดหาวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส และได้อยู่ในไทยแล้ว ซึ่งจะจัดให้บุคลากรด่านหน้า 6 แสนโดส ทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชน ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เป็นอยู่ในขณะนี้
         เขากล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง กระจายทั่วประเทศ และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นบางจังหวัดที่เชื่อมโยงต่อเนื่องจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และพบการระบาดที่เกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กลุ่มนักศึกษาออกค่าย นักศึกษากลับภูมิลำเนา โดยช่วงนี้นักเรียน นักศึกษา ปิดเทอม แต่ก็ไปทัศนศึกษา ซึ่งก็พบติดเชื้อ 1 ราย ที่ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน รวมถึงพบการติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้น
         "จึงอยากให้ลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเน้นการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (ควรงดรับวัคซีน) เน้นสื่อสารกับประชาชนป้องกันตนเองตลอดเวลา หากจำเป็นต้องเดินทาง และเข้าที่ชุมชน และสถานที่สาธารณะด้วยมาตรการ DMHTT นอกจากนี้ ให้เน้น WFH หลังสงกรานต์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะจังหวัดเสี่ยง"
         นพ.โอภาสกล่าวว่า หากเราไม่ทำอะไร คาดผู้ติดเชื้อจะมีถึง 20,000 คนขึ้นไปต่อวัน แต่ตอนนี้ได้ทำการปิดสถานบันเทิงไปแล้ว ก็คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 2,996 คนต่อวัน ซึ่งถ้าเราลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดดื่มแอลกอฮอล์ คาดผู้ติดเชื้อจะ 934 คนต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอจะต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดไปอีก ด้วยการลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นซึ่งต้องรวมตัวกัน แม้จะเป็นงานปาร์ตี้ส่วนบุคคลก็แพร่ระบาดได้ หากลดได้คาดว่าผู้ติดเชื้อจะเหลือกว่า 500 คนต่อวัน และถ้าเพิ่ม WFH ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะลดเหลือไม่กี่ร้อยต่อวัน
         "การระบาดรอบนี้มีการกระจายเร็ว และเริ่มมีสัญญาณพบการติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะติดเชื้อจากคนในบ้าน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว  
         ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวง และโฆษก สธ. กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้หารือกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะพบมากกว่าวันละ 1,000 ราย โดยที่ประชุมเสนอมาตรการสำคัญที่นอกเหนือจากการปิดสถานบันเทิง โดยให้เพิ่มมาตรการควบคุมที่เข้มข้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง งดการรวมตัวของประชาชน รวมถึงการทำงานที่บ้าน และขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมด้านสุขภาพ, ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการเตียง ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกให้มีการจัดการดีขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ และประเด็นที่ 3 วัคซีนป้องกันโควิด-19 สธ.ขอยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการว่า วัคซีนทั้ง 2 บริษัทที่ประเทศไทยจัดหาเพื่อประชาชนคือ แอสตราฯ และซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ ลดอัตราการป่วยตายได้
ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศระลอกเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาพยาบาล  การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน  
    ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้มีการประชุมหารือแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จนอาการผู้ป่วยหายเป็นปกติและไม่มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร
    ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)  ไว้ประมาณกว่า 400,000 เม็ด (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย.2564) ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด โดยจะกระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เช่น สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ, โรงพยาบาลเลิดสิน,  สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลสังกัด กทม., โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์, โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่
    ทั้งนี้ หลักการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิก แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมของอาการผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการ รีบมาโรงพยาบาล แจ้งประวัติให้บุคลการทางการแพทย์ทราบ จะช่วยให้การวินิจฉัยได้ไว และรักษาได้เร็ว ผู้ป่วยก็จะหายไวขึ้น
จ่อเคาะล็อกดาวน์ศุกร์นี้
     พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโควิด-19 ในขณะนี้ จากการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การควบคุมสถานการณ์ที่อาจต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เช่น กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และภาคตะวันออกบางจังหวัด แต่การประกาศมาตรการใดๆ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะต้องฟังข้อมูลจากทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้เตรียมยกระดับ โดยขณะนี้ทีมงานได้เตรียมการไว้แล้ว เช่น การยกระดับพื้นที่ที่ผ่อนคลายให้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ศบค.ระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ นโยบายรายพื้นที่จะไม่ทำเหมือนทั้งประเทศ เพราะจะกระทบประชาชน มีความเป็นไปได้ต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์ใช้ในพื้นที่ แต่ต้องรอฟังข้อมูลจากสาธารณสุขอีกครั้ง
    พล.อ.ณัฐพลกล่าวอีกว่า มาตรการล็อกดาวน์คือการห้ามเข้า-ออกในพื้นที่จังหวัดควบคุม หรือหมายถึงพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม แต่จากการประเมินขณะนี้ ยืนยันว่าสถานการณ์ระบาดสามารถควบคุมได้ ยังใช้การมองเป็น 3 มิติคือ มิติพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อสูง มิติกิจการใดที่เสี่ยงและกิจกรรมใดที่เสี่ยง ทั้งนี้ ในวันที่ 15 เม.ย. กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอการยกระดับพื้นที่ให้ทาง ศบค.ชุดเล็กพิจารณาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ศบค.เป็นห่วงกลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อหรือคนที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือคนติดเชื้อแล้วยังไปที่พื้นที่สาธารณะ จึงขอความร่วมมือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต้องกักตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ส่วนโรงพยาบาลสนามที่รัฐบาล และ ศบค.จัดเตรียมไว้เพียงพอกับการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภายหลังจาก ศปก.ศบค.พูดคุยหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ขณะนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงเกินกว่า 1,300 คนแล้ว และอาจพิจารณาให้มีการยกระดับมาตรการป้องกัน ถึงอาจต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่นั้น
    ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะเรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) โดยจะเป็นการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์.

   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"