ยุคใหม่การเคหะแห่งชาติ ลดความเหลื่อมล้ำครบวงจร หัวใจสร้างครอบครัวเข้มแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

    เปิดตัวกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ "โครงการ บ้านเคหะสุขประชา" โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบสิทธิบ้านเช่าในโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุงให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 14 หน่วย โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พันเอก ดร.เจียรนัย วงศ์สะอาด ประธานกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร กระทรวง พม. และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง ซอยร่วมพัฒนา 6 ถนนสังฆประชา เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

            บ้าน..นับเป็นปัจจัยสี่อันดับต้นๆ ที่ไม่ว่ายากดีมีจนปรารถนา เพราะหมายถึงสวัสดิภาพความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโสดหรือมีครอบครัวน้อยใหญ่ก็ตาม การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายให้ประชาชนคนไทยสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองจึงเป็นวาระแห่งชาติที่การเคหะแห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของ พม.ถือเป็นภารกิจสำคัญและพยายามพัฒนาระบบระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคนิวนอร์มอล            

            ได้รับนโยบายรัฐบาลจากท่านนายกฯ แล้วก็พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งที่ทำก็คือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมแล้วก็สร้างโอกาสสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนที่เปราะบาง มีความเดือดร้อน งานนี้บูรณาการกันหลายกระทรวง เช่น มีบ้านอยู่ก็ต้องมีอาชีพ มีอาชีพแล้วไม่มีทักษะก็ไปฝึกงานที่กระทรวงแรงงาน ฝึกงานกับกระทรวงแรงงานแล้ว รู้จักวิธีทำมาหากินแล้ว ยังไม่มีทุน ก็จะมีธนาคารออมสินกับธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วย เป็นสินเชื่อรายย่อย ตรงนี้จะทำให้การที่คนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีโอกาสที่จะเดินได้ครบวงจร ขณะเดียวกันเขาก็จะได้ลดราคาค่าครองชีพ เพราะว่าค่าเช่าบ้านการเคหะ เราได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากกำไรเชิงพาณิชย์มาเป็นกำไรเชิงสังคมแทน คือไม่ให้การเคหะเจ๊ง พอถัวเฉลี่ยกับต้นทุนได้ หรือถ้าจะขาดทุนนิดๆ ก็เอารายได้จากตรงอื่นโปะตรงนี้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้” นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.สะท้อนข้อเท็จจริงให้ปรากฏ พร้อมทั้งอธิบายว่า

สิ่งที่ทำก็ได้เห็นปัญหาในสังคมที่เกิดจากโควิด แล้วว่า ประชาชนหลุดจากบ้านที่ผ่อน บ้านที่เคยเช่าอยู่แพง รายได้ลดลง ไม่มีโอที ค่าใช้จ่ายต้องลดลงหมด ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ฉะนั้นก็ต้องมาอยู่ที่บ้านนี่แหละ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าเช่าจะถูกกว่าตลาดทั่วไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

อย่างวันเปิดโครงการป้าคนหนึ่งมากับหลานพิการ เช่าอยู่ที่อื่น 2,700 บาท ห้องเล็กๆ มาอยู่ที่นี่เสียแค่ 1,500  ดีใจมากจนร้องไห้ คนอื่นกินอาหารทานก๋วยเตี๋ยวก็หมดแล้ว สำหรับเขา 500 บาท 700 บาทมีความหมายมาก ปีหนึ่งเขาประหยัดไปได้เกือบหมื่นห้า สำหรับคนจน ทุกโครงการที่ทำจะมีโครงการประมาณห้าเปอร์เซ็นต์ไว้สำหรับกลุ่มเปราะบาง เพื่อผสมผสานกันไป

ยุทธศาสตร์เชิงรุกต่อยอดสู่ยุคใหม่

รมว.พม.ย้ำว่า สิ่งที่ทำวันนี้เราก็เห็นแล้วว่า การเคหะที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งไว้กับอดีตที่ผ่านมา คือ นั่งคอยเงินอุดหนุนจากรัฐอย่างเดียว คือเป็นมาตั้งแต่เอื้ออาทร ถ้ารัฐให้เงินมาสร้างเยอะก็สร้างเยอะ รัฐไม่ให้เลย ก็ไม่ได้สร้างเลย อีกประการคือการเคหะมีปัญหาภาระหนี้เยอะมาก หนี้เยอะมาจากการที่เอาเงินไปซื้อที่ตอนทำเอื้ออาทร แล้วก็เป็นหนี้ ที่เรียกว่าหนี้เน่า ก็คือทรัพย์สินไม่ก่อให้เกิดรายได้ สร้างไม่เสร็จ ค้างเติ่งอยู่ ประมาณสองหมื่นล้าน สภาพคล่องก็ไม่มี เมื่อสภาพคล่องไม่มีจะไประดมทุนเองก็ไม่สามารถที่จะไปขายพันธบัตรได้ เพราะว่าอัตราส่วนของรายได้ต่อสินทรัพย์มันมีน้อย

นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ได้ แต่มันจะไม่ตอบโจทย์ใครสักคน ก็มาคิดเอาคนที่เก่งๆ เรื่องการเงินมาวิเคราะห์ ถามว่าหนึ่ง..ทำยังไงถ้าจะไม่รองบรัฐแล้วทำเอง ก็ระดมทุน สอง..ถ้าระดมทุนแล้วมันต้องไปกู้ โดยที่กู้แล้วก็เป็นภาระหนี้สาธารณะซึ่งวันนี้ติดเพดานเต็มไปหมด ถ้าอย่างนั้นต้องตั้งบริษัทลูก ซึ่งเรื่องบริษัทลูกท่านนายกฯ ก็เห็นด้วย แต่ต้องหารือในที่ประชุมครม.”

บริษัทลูกก็มีเงื่อนไขกฎกติกาของโบราณครอบไว้อีก แต่ก็ต้องเดินหน้าทีละอย่าง สิ่งที่จะได้คือ เราจะไม่ไปเบียดบังงบประมาณ ที่เขากำลังไม่มี เพื่อมาสร้างบ้านเป็นหมื่นๆ ล้าน เป็นไปไม่ได้ แต่คนจนต้องมีบ้าน บ้านเช่า เราก็จะกู้เงินจากตลาดเอง เพราะเราก็มีนักการเงินเก่งๆ หลายคนมาช่วยตรงนี้ สามารถกู้ได้ มาสร้างบ้านได้ แล้วก็ไม่เป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ

ถามว่าทำไมต้องเป็นบ้านเช่า จากบ้านที่เคยขาย?!?

นายจุติชี้แจงว่า ..เพราะว่าวันนี้ได้ไปสำรวจแล้วว่า คนต้องการบ้านเยอะแยะมาก เอาง่ายๆ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ประกาศว่ามีบ้านล้านหลัง คนไปวันเดียวสองแสนกว่าคน แต่ก็ไม่มีใครได้เพราะกู้ไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องบ้านขาย เลิกคิดไปได้เลย จึงกลายมาเป็นบ้านเช่า แต่บ้านเช่าคนก็คิดอีกว่า สามเดือนล่วงหน้านะ ค่าน้ำค่าไฟต้องมีประกันนะ แต่นี่ไม่ต้อง เราสร้างเป็นหมื่นๆ หลัง เราสามารถไปสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกแต่มีคุณภาพ ไม่ต้องไปเสียเงินก้อนดอกจ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ไปเลย หลังละพันห้า สองพันห้า สามพันห้า คุณถือกระเป๋าเข้ามา สามารถมาเลือกอยู่ได้เลย ตามขนาดของญาติพี่น้อง ตามราคาค่าเช่า 1,500 2,500 3,500 และคุณก็สามารถอยู่ได้จนชีวิตจะหาไม่ เพราะจะไม่มีเงื่อนไข สถานการณ์คนไม่มีเงินแบบนี้ จะเป็นไปสักสามปีห้าปี แต่พอเขามีสตางค์ มีเงินแล้ว อยากจะขยับขยาย เคหะก็จะมีบ้านอื่นที่ใหญ่กว่านี้ให้ แต่เราก็จะไม่ให้สูญเปล่านะ เงินที่คุณจ่ายค่าเช่ามาจะแปลให้เป็นเงินผ่อนคุณ

ถามว่าทำไมทำตรงนี้?!?

คำตอบคือ ..เราคิดว่า เราจะไม่เสียที่ดินอันมีค่าของการเคหะไปเลย ที่จะเน่าไม่เน่า วันหน้าครบสามสิบปี ที่จากตรงนี้แสนล้านจะเป็นสามแสนล้าน รัฐก็ยังมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และยังสามารถมีเงินทุนพอที่จะไปสร้างบ้านให้ใหม่เขาเช่าต่ออีกด้วย ทำให้คนรุ่นใหม่รู้ไว้ว่า ซิงกิ้งฟันด์หรือเงินส่วนกลาง มีเงินเข้ามาพอ ต้องกันไว้ส่วนหนึ่งสำหรับซ่อมอาคารและดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งระบบนี้ไม่มีใครคิดเอาไว้ก่อนนะ

วันนี้เราต้องมีมาร์เก็ตซาวดิ้ง ฟังว่าความต้องการดีมานด์อยู่ที่ไหน ไม่ได้ไปสร้างพร่ำเพรื่อ ไม่สักแต่ว่าสร้างเพื่อให้ได้สร้าง แต่สร้างเพื่อให้คนจนมีบ้านอยู่และมีความสุข แล้วสร้างแล้วก็จะทำให้ครบวงจร จะต้องมีอาชีพ ทั้งเงินทุนที่จะช่วยประกอบอาชีพ แล้วก็จะต้องมีที่ปรึกษาในการทำงาน ตรงนี้ก็จะเข้ากับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งมีสถาบันครอบครัวอยู่ทุกตำบล อยู่ทุกชุมชน ซึ่งเขาจะเอาพวกนี้พวกที่เป็นอดีตนายธนาคาร อดีตอาจารย์ อดีตข้าราชการ มาเป็นที่ปรึกษาว่าจะทำยังไงให้ไปให้รอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ได้รับความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี เลือกให้ธนาคารเอสเอ็มอี อย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ ก็ช่วยได้เยอะ ขณะเดียวกัน ใครจะมากู้ ใครจะมาทำอะไร สิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องทำคือปรับทัศนคติ คุณควรจะเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือน บัญชีธุรกิจอย่างง่ายก่อน ถ้าคุณไม่รู้ต้นทุน คุณก็จะไปแบบงูๆปลาๆ เหมือนกับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีอยู่หลายแสนคนที่ชีวิตมีปัญหา มีลูกแล้วเลี้ยงลูกไม่ได้ หรือเลี้ยงลูกได้ แต่ไม่มีคุณภาพ รายได้ก็ไม่มี ก็จะมาอยู่ตรงนี้

เราก็จะทำตามความพร้อมของภูมิศาสตร์ ในเมืองเรามีที่แล้ว เราก็จะหาในตลาดชุมชน ตลาดชุมชนเราจะมีที่ให้เช่า เราจะไม่ให้คนนอกเช่านะ จะให้คนในเช่าก่อน ทำอาชีพก่อน แล้วก็จะมีส่วนหนึ่งเอาของ เอาสินค้ามาลง คุณสามารถขายออนไลน์ได้ ใครขี่มอเตอร์ไซค์ได้ คุณก็ทำเป็นเรื่องโลจิสติกส์ไปได้ ให้คนในชุมชนมีอาชีพ ถ้าต่างจังหวัดคุณจะทำปศุสัตว์ ทำประมง ทำเกษตร ซึ่งมีที่ที่การเคหะมีนะ คุณสามารถทำได้ คำนวณแล้วคุณมีรายได้ถึง35,000-40,000 ต่อเดือน จะมีที่ลงกระจายสินค้า จะมีหุ้นส่วนบริษัท จะไปเอา PTTOR บริษัทลูกของ ปตท.ที่สามารถค้าปลีกมาช่วย พยายามให้ทุกส่วนเกิดการเชื่อมต่อ และเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเปราะบางทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการทำเรื่องบัญชีครัวเรือน

            บัญชีครัวเรือนทำไปทำไม?!?

 เมื่อก่อนนี้ไปศีกษาปัญหามาว่า ตลอด 20-30 ปี ผู้ว่าราชการจังหวัดคือประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจนมาตลอด ตั้งแต่สมัยนายกเปรม (ติณสูลานนท์) พอมาถึงตอนนี้มันทำคนเดียว แล้วก็อาศัยอำนาจผู้ว่าฯ เฉพาะในจังหวัด วันนี้โลกมันโกลบอลแล้ว เชื่อมต่อกันหมดแล้ว ผู้ว่าฯ คนเดียวไม่สามารถทำได้ จึงเป็นที่มาว่า เมื่อ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ท่านนายกฯ มาเป็นประธาน โดย พม. มาเป็นเลขาฯ เชื่อมต่อ 13 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำเรื่องแก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน โดยอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว 

“วิธีการทำ.. ก็เหมือนกับผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าแพทย์ใหญ่ในพื้นที่ นายกฯ ก็เป็นแพทย์ใหญ่เหมือนกัน ถึงเวลาก็จะมีแพทย์เฉพาะทาง คือ ทุกกระทรวงคือแพทย์เฉพาะทาง เรื่องลูกไม่ได้เรียนหนังสือ เรื่องคนพิการ เรื่องสาธารณสุข การเข้าไม่ถึงเรื่องสวัสดิการ เรื่องของฝึกงาน เรื่องขอกู้เงิน เรื่องของความรู้ทั้งหลาย 13 กระทรวงนี่เกี่ยวข้องกันหมด ถึงเวลามาแพทย์ก็บอกคนไข้นี่คือครอบครัวไม่ใช่บุคคล ครัวเรือนนี้ปัญหานี้มันจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่จะมีสมุดพกครัวเรือนว่าครัวเรือนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ไปเก็บข้อมูลมาแล้วก็มานั่งวิเคราะห์ว่านี่คือปัญหาของครัวเรือน ทางออกของคุณคืออะไร คุณต้องปรับพฤติกรรมคุณยังไงที่จะให้คุณหายจน เราไม่ได้บอกว่าคุณจะหายจนในปีนี้นะ มองว่าสิบปีนี้คุณจะต้องพ้นความจนอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาจนอีก

หน้าที่แพทย์จากทุกกรม ทุกกระทรวง ต้องมาดูว่าให้อะไรบ้าง ในพื้นที่เกษตรก็ให้พันธุ์พืช ประมง ปศุสัตว์ได้มั้ย หาอย่างอื่นได้มั้ย แปรรูปสินค้าเป็นอย่างอื่นได้มั้ย ก็ทำไป ในเมืองคุณจะขายออนไลน์ จะเป็นอาชีพอิสระ จะรับจ้างตัดผม สปาเล็บ สปากระเป๋า มีเยอะแยะไปหมด คุณสามารถทำได้ ฉะนั้นนี่ก็คือทางออก ที่มีสมุดพกมันจะช่วยอีกอย่างคือ นายอำเภอย้าย ผู้ว่าฯ ย้าย คนที่มาใหม่ไม่ต้องเริ่มนับศูนย์ใหม่ คุณจะมีสมุดพกนี่ที่ดูต่อเนื่องไปได้เลย แล้วสมุดพกนี่จะมีเป้าหมายชัดเจนว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวที่จะให้พ้นความจนอย่างยั่งยืน มีกี่องค์ประกอบที่จะต้องทำให้ผ่าน พยายามจะไม่เน้นว่าต้องมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ เพราะว่าบางทีพอมีรายได้เท่านั้นเท่านี้มันหลอกกัน บอกว่ารายได้ต้องให้ถึงหกหมื่น บ้านนั้นเกิดมีแปดคน หกหมื่นจะไม่ทำให้หายจนนะ เราก็จะเอาแบบที่จับต้องได้ เช่น หนึ่ง มีน้ำสะอาด สอง มีบ้านพักที่มั่นคง ก็คือที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้า เข้าถึงบริการทางแพทย์ได้ ลูกได้รับการศึกษาที่พอเพียง เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ แล้วก็สามารถมีโอกาสประกอบอาชีพได้ แล้วก็ได้รับความคุ้มครองจากรัฐด้านนิติกฎหมายอย่างเท่าเทียม นี่ก็จะเป็นองค์ประกอบที่ครอบครัวนี้เข้มแข็ง ถามว่าทำไมต้องทำกับเฉพาะครอบครัวนี้ เพราะเขาเปราะบาง เขาไม่เคยรู้ว่าเขาควรได้สิทธิ์อะไร แต่ขณะเดียวกัน คนรวยเนี่ยรู้หมดทุกอย่าง สามารถใช้สิทธิ์ตัวเองได้หมดทุกอย่าง งั้นเราก็ต้องสร้างคนเหล่านี้ให้มีแต้มต่อขยับขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้

ไทม์ไลน์กับสิ่งที่พยายามจะทำในตอนนี้ คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด คุยกับทุกส่วนนะครับ ทุกกรมที่จะไป ไทม์ไลน์คือคาดว่า วิธีการที่จีนทำเนี่ย เขา 10-12 ปี ประเทศไทยก็ไม่ควรจะหนีสิบปี แต่ประเทศไทยเนี่ยจะไม่แอปโซลูต เพาเวอร์เท่าเขา เราจึงจะอาศัยที่บูรณาการกัน ขณะนี้สิ่งที่ยากก็คือว่าต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารราชการแบบไซโล (การทำงานแบบแยกส่วน) มาเป็นบูรณาการให้หมด ต้องเชื่อมกันจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เชื่อมแค่พิธีกรรม ต้องเชื่อมโดยเน้นผลลัพธ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็ต้องมีจิตสำนึกของการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา มันจะมีหลายหน่วยงานที่เขาไปได้เลย กับหลายหน่วยงานที่ยังต้องปรับ

เราประกาศไม่ได้แบบจีนว่าคนจนจะหมดภายในปีนี้ปีนั้น เพราะว่าเราเป็นระบบเลือกตั้ง เลือกตั้งรัฐบาลมันอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราพูดได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติมันเป็นพื้นฐาน ห้าปีมันไปได้กี่สเต็ป สมมุติว่าจะต้องพ้นความยากจน มี 12 บันไดขึ้น ต้องขึ้นให้ได้เท่าไหร่ แล้วแต่ละครอบครัวเขาไม่เหมือนกัน อาจจะมีว่าในร้อยครอบครัวจะมี 30 ครอบครัวที่ไม่มีวันพ้นการพึ่งพาจากรัฐได้เลย เอาง่ายๆ มันต้องยอมรับ ตายายอยู่ด้วยกัน ไม่มีลูกหลานเลย มันจะไม่มีคนที่หาเงินเข้าครอบครัว คือทางเลือกจำกัด น้อยลงแล้ว อย่างนี้ไม่น่าจะพ้นได้ ต้องยอมรับนะว่ามันจะไปยังไง แต่สำหรับคนที่มีลูกมีหลานที่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็ต้องพัฒนาให้เขามีทักษะ มีความรู้ หาช่องทางให้มีอาชีพ แล้วก็ให้มีเงินที่จะเดินหน้าต่อไป พวกนี้มีโอกาสที่จะโต

นอกจาก 13 กระทรวง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอะไรทั้งหลายเป็นเครือข่าย

มหาดไทย เรานับว่าเป็นมหาดไทย มหาดไทยนี่คือหัวใจ เพราะว่าคนในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาคนในท้องถิ่นมากกว่าที่อื่น นายก อบต.ก็จะรู้เลยว่า คนในตำบลตัวเองมีใครเป็นอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง ฉะนั้นมหาดไทยคือหัวใจใหญ่ของโครงการนี้ ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องรู้ อบต.ก็ต้องรู้ ของอำเภอก็มีหน่วยของเขา พัฒนาการตำบลร่วมกับปลัดอำเภอไปลงพื้นที่เขาจะรู้ปัญหา เหมือนกับทุกคนซ้อนๆๆ กันหมด แต่ว่าซ้อนๆ กันหมดมันต้องทำให้ว่าใครจะเป็นคนประสานขอความช่วยเหลือและติดตามความคืบหน้า ลูกที่ได้เรียนหนังสือแล้ว ได้ไปจริงมั้ย ได้ไปเรียนหรือเปล่า มีเงินเรียนหนังสือมั้ย มีเงินซื้อหนังสือมั้ย ผลการเรียนเป็นยังไง มันต้องมีคนไปดูแบบนี้ด้วย

ผมถึงได้เอาอาสาสมัครพัฒนาสังคมเพิ่มจำนวนอีกห้าเท่า เพื่อที่จะไปช่วยประเมินในพื้นที่ให้เขาด้วย เราจะทำแบบคุณภาพ จะไม่ทำแบบเอาปริมาณ เนื่องจากเราไม่สามารถมีงบประมาณที่จะอบรม คือไม่ใช่มาบอกสมัครมาแล้วให้คุณไปทำนะ คุณต้องผ่านการอบรมกี่ขั้นตอน กี่วิชา ให้เพียงรู้ว่าเคสแมเนเจอร์ไปสอบปากคำก็วิเคราะห์ให้เป็น เริ่มจากอะไร เริ่มจากกรมสุขภาพจิต มาอบรมแล้วแล้วนะ อบรมแม่ไก่ หัดฟังให้เป็น ความเห็นอกเห็นใจมี วิเคราะห์ปัญหาให้ถูก แล้วค่อยไปถึงเนื้อหา ต้องมีหลักสูตร” นายจุติกล่าว

            เรื่องปัญหาความโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

รมว.พม.ยอมรับว่าเป็นปัญหาล่อแหลมที่เหนื่อยมาก แต่ก็ไม่ย่อท้อ มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกให้มากที่สุด โดยชี้ว่า... "คืออยู่มาวันนี้แล้ว ประสบการณ์ใหม่มันสอนตัวเอง เลิกทะเลาะกับคน เพราะไม่มีเวลาทะเลาะกับใครเลย ปัญหามีไว้ต้องแก้ มัวไปทะเลาะกันก็จะไม่มีเวลาไปแก้ปัญหา ถ้าจะทะเลาะกับใครพักไว้ก่อน เอาปัญหาให้จบ แล้วที่เหลือค่อยมาว่ากันตามกระบวนการทีหลัง เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้จบก่อน แล้วส่วนความโปร่งใสก็ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกเข้ามา แล้วก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบอย่างจริงจัง ถ้าเผื่อไปจับผิดมากเกินไปงานก็ไม่เดิน ก็ยังต้องมีขีดเส้นเอาไว้ ใครมีพฤติกรรมยังไงก็พักไว้ จากนี้ไปขอให้เป็นคนดี แล้วค่อยมาว่ากัน กรรมเก่าจะไล่มาทันผมก็ช่วยไม่ได้ เพราะผมไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้คุณไม่ได้ ผมไม่ลืม แต่ขีดเส้นไว้ ไม่ไปขุดคุ้ยเรื่องเก่า เดินหน้าเรื่องใหม่ แต่ถ้าเรื่องเก่ามีปัญหา ผมไม่สามารถทำผิดให้เป็นถูกได้นะ ต้องบอกไว้ก่อนล่วงหน้านะ"

 

แปลว่า 10 ปีจะอยู่ดีมีสุข?!?

คำตอบจาก รมว.พม.ได้ความว่า “เอาอย่างนี้ 10 ปีผมคาดว่า 70 เปอร์เซ็นต์จะดีขึ้น ที่เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์จะต้องพึ่งพารัฐเหมือนเดิม แต่ผมก็เชื่อว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหลายมิติ รัฐบาลต่อๆ ไป ข้าราชการจะให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขจนเน้นผลลัพธ์ ผมเชื่อว่าเขาจะมีความสุขขึ้น ถ้าเราเร่งสร้างบ้าน ทยอยสร้างบ้านทุกๆ ปี ให้เขามีที่อยู่อาศัย แล้วก็ลดค่าใช้จ่ายเขา

จริงๆ บทเรียนมันได้มาจากตอนที่ไปช่วยคนหูหนวก ชุมชนหูหนวกไต้สะพาน อันนั้นเป็นบทเรียนใหญ่สำหรับผม ไปถึงเจอใต้สะพานคอนกรีต มาเฟียแบ่งห้องให้เช่าแล้วเก็บค่าห้อง 1,500 ห้องใหญ่หน่อยมีลูกสองคนก็ 2,000 นะ พอถึงเวลาให้ย้ายไปอยู่บ้านของการเคหะ สามเดือนแรกไม่คิดค่าเช่า ค่าขนย้ายฟรี หางาน หาที่เรียนให้ลูก ลูกย้ายโรงเรียนระหว่างเทอมซึ่งปกติไม่มีใครรับ แต่นี่คือนโยบายรัฐบาล ต้องรับ ชุดนักเรียนก็ให้ใหม่ ไม่มีอาชีพ กรมการจัดหางานไปพร้อมกันเลย คุณทำอาชีพอะไร ดูที่ใหม่ที่จะไปให้เลย ใกล้ไกลขนาดไหน ไหวมั้ย จากเดิมจะย้ายไปหมด แต่อุปสรรคคือค้างค่าเช่า ยังไปไม่ได้ นี่คือปัญหา เราไม่สามารถไปชำระหนี้แทนเขาได้ อาชีพที่ทำสารพัด ผู้ช่วยกุ๊ก ยาม บ๋อย บาร์เทนเดอร์ ตอนนั้นอยู่ใกล้อาร์ซีเอ อาชีพก็จะสีเทาทั้งหมด นี่เป็นบทเรียนว่า ไม่ใช่ฝึกแค่ทักษะนะ ไม่มีเงิน เอาไปฝึกเป็นช่างซ่อมนาฬิกา ที่ต้องใช้ต้นทุนประมาณ 16,000 มีความรู้ไม่มีเงินทำไง ก็ต้องพาไปกู้ออมสิน กู้กรุงไทยให้ยืม แล้วก็เดินเก็บวันละ 200 ใช้หนี้...ก็โอเค” รมว.กล่าวสรุป

            ฉะนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างครบวงจรโดยใช้การเคหะ เป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งจากการมีที่อยู่อาศัยอันเป็นยุทธศาสตร์ชาตินั้น เราคงต้องส่งกำลังใจให้บรรลุเป้าหมาย หลังจากนี้จะมีโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยก็จะเปิดที่ร่มเกล้าเดือนพฤษภาคม ตามด้วยโครงการบ้านของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เทพารักษ์ จะเปิดในเดือนมิถุนายน และแผนงานการตั้งบริษัทลูกเพื่อการบริหารยุคใหม่ของการเคหะภายในธันวาคมนี้ แผนและนโยบายก็จะขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่นแม้การเมืองจะมีการปรับเปลี่ยนไปก็ตาม เพราะนี่เป็นวิธีคิดเชิงรุก สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่นั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"