คลอด"กระทรวงวิทยาศาสตร์นวัตกรรมและอุดมฯ"ในรัฐบาลนี้/หารือมหา'ลัยสัปดาห์หน้า


เพิ่มเพื่อน    

    
                
เตรียมหารือกลุ่มมหา’ลัยสัปดาห์หน้า “สุวิทย์” ชี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เรื่องชื่อกระทรวงใหม่ เผยถ้าจัดตั้งกระทรวง จะมีการจัดตั้งกองทุน 3 กองทุน สนับสนุนงานวิจัยให้ตรงประเภท เพื่อไม่ให้เป็นเบี้ยหัวแตก “กอบศักดิ์” เร่งขับเคลื่อนกม.3 ฉบับ  พ.ร.บ.อุดมศึกษา ,พ.ร.บ.ว่าด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม สามารถเสนอ ครม. พิจารณา ภายใน 3 เดือนนี้

ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้าฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) - มีการจัดการประชุมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการควบรวม วท. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ วท. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิประเทศ พร้อมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วม โดยนายสุวิทย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การควบรวม วท.และ สกอ. มีจุดมุ่งเน้นที่จะยกระดับนวัตกรรมและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมศาสตร์จะหายไป เพราะการวิจัยในสายสังคมจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการวิจัยและพัฒนาสังคมพื้นที่ ซึ่งจะทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยทางด้านสังคมโดยตรง 
อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่าควรจะจัดตั้งกระทรวงใหม่ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดหารือร่วมกับนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้งนี้เมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงเรียบร้อยแล้วจะมีการจัดตั้งกองทุน 3 กองทุน 1.กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษาและผลงานวิจัย ทำหน้าที่สนับสนุนกลุ่มกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย 2.กองทุนการวิจัยและพัฒนาสังคมพื้นที่ สนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยท้องถิ่นและงานวิจัยด้านสังคม 3.กองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขัน เน้นส่งเสริมภาคอุตหกรรมและสตาร์อัพ ซึ่งทั้ง 3 กองทุนนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะได้รับเงินสนับสนุนจากอะไร เพราะการดำเนินการในปัจจุบันเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการกำหนดชื่อของกระทรวงใหม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

ด้านนายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการควบรวม วท.และอุดมศึกษา เพื่อให้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดนั้น หลักในการดำเนินงาน คือ เราจะเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย และตอนนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ประเทศไทยถือว่ามีความท้าทายอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ขับเคลื่อนประเทศ ที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาในส่วนนี้เยอะพอสมควร จึงเป็นที่มาในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในจุดนี้  ที่เราจะต้องปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อสร้างคน ปฏิรูป วท. เพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งหากทำได้ก็จะเกิดกำลังที่เข้มแข็ง เพราะเป็นสองหน่วยงานที่จะนำไปสู่การสร้างคนและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ เมื่อควบรวมได้ ตนเชื่อว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยที่พุ่งเป้าและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงใหม่นี้จะต้องดูใน 2 ส่วน คือ การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ และดูแลคณะทำงานที่จะเข้ามาทำงานวิจัยที่ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าและจะทำให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ทำคนละทางแบบที่ผ่านมา อีกทั้งยังนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ด้วย ซึ่งกระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็จะมาดูแลในส่วนนี้

“สำหรับที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะล่าช้านั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้จะสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ อีกทั้งในขั้นตอนการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องจะมีพ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ร.บ.ว่าด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งในส่วนของพ.ร.บ.อุดมศึกษา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีการยกร่างมาระยะหนึ่งแล้วเหลือเพียงการปรับในรายละเอียดเล็กน้อย และจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายใน 3 เดือน”รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการของหน่วยงานวิจัยต่างๆ จะถูกล้ม พ.ร.บ.และกลายเป็นส่วนราชการของกระทรวงใหม่หรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า เรายังไม่ขยับในเชิงหน่วยงาน แต่ขยับในส่วนของ พ.ร.บ.ใหญ่ หน่วยงานวิจัยอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรืออย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นต้น ก็ล้วนมี พ.ร.บ.ของตัวเองอยู่แล้ว ตรงนี้มองว่าหน่วยงานเหล่านี้ก็ยังเป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ.เฉพาะเหมือนเดิม แต่เพียงมารวมกันอยู่ในการบริหารจัดการด้านที่ 2 ของกระทรวงใหม่ ตอนนี้ควรเริ่มจากภาพใหญ่ก่อน แล้วค่อยขยับในชั้นต่อมาภายหลัง ซึ่งงานนี้ยังอีกหลายระลอก เช่น การปรับแก้ พ.ร.บ.ของแต่ละหน่วยงานให้มาขึ้นตรงกับกระทรวงใหม่นี้

  ที่ทำเนียบรัฐบาล ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเห็นแตกแยกกรณีการควบรวม วท. สกอ. และหน่วยงานการวิจัยของประเทศว่า เรียกว่าเป็นความแตกต่างดีกว่า เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากดูจากกระแสของคนที่ไม่เห็นด้วยมาจากหลายสาเหตุ แต่น่าจะทำความเข้าใจได้ สาเหตุหนึ่งที่เป็นห่วงกันคือ กลัวว่าจะพะรุงพะรังมาก หรือจะทำให้ช้า และในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเรารับปากว่าสามารถทำให้เร็วได้จะหมดปัญหานี้ อีกส่วนคือ คนที่รู้สึกเหมือนตัวเองถูกรื้อบ้าน คำตอบคือ จะไม่ถูกรื้อบ้าน เคยอยู่อย่างไรในกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานการวิจัยจะอยู่เหมือนเดิม

รองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ หากเคยเจริญก้าวหน้าในหน้าที่อย่างไรจะเป็นแบบนั้น ดังนั้น ถ้าอธิบายได้ว่าจะไม่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนตัว เขาจะหายวิตก ส่วนข้อดีของการควบรวมนั้นมีอยู่ เนื่องจากจะทำให้ทุกส่วนเชื่อมโยงกันในลักษณะบูรณาการ โดยอาจมีการถ่ายโอนบุคลากรข้ามกรม กอง เพราะในอดีตจะจำกัดอยู่แต่ในหน่วยงานตัวเอง ขณะที่ต่อไปเรื่องการดูแลและการจัดงบประมาณจะสามารถจัดได้เป็นเรื่องเป็นราว หากหลายหน่วยงานมาอยู่รวมกันจะทำให้การดูแลง่ายขึ้น จะเห็นว่าในอดีตหากหน่วยงานไหนที่ใหญ่มากแล้วงบประมาณโปร่ง มันอันตรายทั้งนั้น แต่ถ้าแยกออกไปจะทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นสายล่อฟ้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กังวลว่ากระทรวงใหม่นี้จะให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์มากไป นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งความกังวลของคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งสามารถทำความเข้าใจได้ว่าต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทั้งหมด เพราะถ้าพูดการวิจัยนวัตกรรมมันจะไปด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คนที่คัดค้านเป็นเพราะกลัวว่าถ้าตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาธรรมดาเล็กๆ จะไปได้เร็ว แต่พอเอาอะไรมารวมมากๆ จะดูอุ้ยอ้าย ถ้ารัฐบาลรับปากว่าจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว คงจะเป็นที่พอใจได้

เมื่อถามว่า มีไทม์ไลน์ที่จะเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย ถ้าเห็นรูปร่างหน้าตาคงจะสามารถขับเคลื่อนให้เสร็จทันให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้.
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"