'DEmark'จัดประกวดออกแบบ 'คลื่นพลังสร้างสรรค์งานดีไซน์ไทย'

ในยุคสมัยนี้การตัดสินใจซื้อของหรือการเลือกใช้บริการ ความสวยงาม การดีไซน์ เป็นสิ่งแรกช่วยให้การตัดสินใจของเราง่ายขึ้น ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ที่นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์และการจดจำให้กับแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภคนั้นเอง

 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดการประกวดออกแบบโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ประจำปี 2566 หรือ รางวัล Design Excellence Award 2023 (DEmark) อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “Brave The Wave of Creation คลื่นพลังสร้างสรรค์ งานดีไซน์ไทย” เพื่อส่งเสริมศักยภาพของการออกแบบไทยในเวทีโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยความคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ โดยส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม 2566

โดยรางวัล DEmark ในปีนี้ประกอบด้วย 7 สาขารางวัล ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2.กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น 3.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล 4.กลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์  5.กลุ่มผลงานกราฟิกดีไซน์ 6.กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายใน ที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทํางานร่วมกัน อาคารชุด 7.กลุ่มผลงานใหม่ คือ กลุ่มผลงานออกแบบระบบ บริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล   ทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อรางวัลในวาระครบรอบ 16 ปี จากเดิมใช้ชื่อว่า “รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี “เปลี่ยนเป็น “รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม “เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการออกแบบที่ไม่ได้จำกัดเพียงผลงานที่เป็นสินค้าเท่านั้น

พร้อมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัล เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มของการออกแบบมุ่งสู่ความยั่งยืน และเพิ่มประเภทใหม่ของสาขาการประกวด ได้แก่ กลุ่มผลงานออกแบบระบบ บริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล ตอบโจทย์เทรนด์ของธุรกิจยุคใหม่ และรางวัลเพื่อส่งเสริมสินค้า BCG  เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยมีแนวทางการออกแบบที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประอรนุช ประนุช

ประอรนุช ประนุช ผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า รางวัล DEmark มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออกแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการนักออกแบบไทย โดยการใช้รางวัล DEmark เป็นเครื่องมือทางการตลาด ในตลอดระยะเวลา 16 ปี มีสินค้าจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล DEmark แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,081 รายการ และมีผลงานออกแบบไทยที่รับรางวัล Prime Minister’s Award สาขารางวัล Best Design จากนายกรัฐมนตรี รวมแล้วทั้งสิ้น 128 รายการ รวมทั้งมีผลงานที่เข้าร่วมการประกวดรางวัลระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Good Design Award (G-mark) จากประเทศญี่ปุ่น  รางวัล Golden Pin Design Award ไต้หวัน และรางวัล Hongkong Smart Design Awards ฮ่องกง นอกจากนี้ผลงานจากการประกวด ยังได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่งาน Good Design Award ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคมของทุกปีอีกด้วย

“จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับรางวัล DEmark สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่าประมาณ 9,829 ล้านบาท วัดจากมูลค่าการส่งออก เฉพาะผู้ส่งออกที่ได้รับรางวัล DEmark เมื่อปี 2562 – 2565 จำนวน 43 ราย  เพิ่มขึ้น10%  จากปีที่ผ่านมา มูลค่าปี 2564 จำนวน 8,868 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จของรางวัล DEmark นี้ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบและนวัตกรรมให้สามารถก้าวเดินได้อย่างต่อเนื่อง และก้าวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจสร้างมูลค่าได้อย่างมั่นคง” ประอรนุช  กล่าว

ประอรนุช  กล่าวต่อว่า ในปีนี้หัวข้อในการออกแบบคือ” คลื่นพลังสร้างสรรค์งานดีไซน์ไทย”มีที่มาจากความท้าทายในโลกการค้ายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นที่ท้าทายและส่งผลกระทบต่อวงการการออกแบบทั่วโลก และ ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผลงานสมัครเข้ารับรางวัลไม่ต่ำกว่า 600 รายการ และมีผลงานได้รับรางวัลไม่ต่ำกว่า 80 รายการ  และได้จากที่มีกลุ่มเป้าหมายคือ สินค้าเพื่อการส่งออก ได้ขยายเพิ่มในกลุ่มธุรกิจบริการด้านการออกแบบ อาทิ การออกแบบกราฟิก ภาพประกอบ การ์ตูนคาแรคเตอร์ ดิจิทัลอาร์ต การออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม ร้านอาหารกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทํางานร่วมกัน อาคารชุด รวมทั้งการออกแบบระบบและแพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะสิ่งเหล่านี้จะเข้ามีบทบาทกับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

 ประธาน ธีระธาดา Editor-in-Chief, Art4D Magazine กรรมการรางวัล DEmark กล่าวว่า  ในการออกแบบต่างๆ ยกตัวอย่าง การออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบ ต้องทำหน้าที่เป็นนักเล่าเรื่อง และเป็นผู้สร้างประสบการณ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะนี่คือหัวใจที่ผู้เข้ามาใช้งานจะได้สัมผัสสิ่งที่นักออกแบบได้สร้างขึ้นมา ดังนั้นนักออกแบบที่จะส่งผลงานเข้าประกวดอาจจะต้องมองอย่างรอบด้าน เพราะการออกแบบไม่ใช่เพียงแค่มองเรื่องศิลปะ ความสวยงาม แต่ยังข้ามไปสู่กลยุทธ์ของการตลาด คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม

นิวัติ อ่านเปรื่อง Senior Partner บริษัท PIA Interior นักออกแบบรางวัล DEmark Interior Design ผู้ออกแบบเรือสิริมหรรณพ เล่าว่า ในการออกแบบเรือสิริมหรรณพ  เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ที่ได้รับโจทย์มาจากเจ้าของเรือว่า ต้องการสะท้อนประวัติศาสตร์ยุครุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในเรือนมีการตกแต่งที่หรูหราผสมผสานกับความรุ่งเรืองในอดีต จากเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และการออกแบบยังได้คำนึงถึการใช้สอยพื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งในการตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดนอกจากเจ้าของ และคณะกรรมการที่ดูผลงานแล้ว สิ่งสำคัญผลตอบรับจากผู้ใช้บริการจริง เพื่อนำสิ่งต่างๆไปปรับปรุงให้ดีขึ้น นักออกแบบรุ่นใหม่ ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวงการนักออกแบบ นี่จะเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพ

เรือสิริมหรรณพ

ณัฐจรัส เองมหัสสกุล Design Director จาก Studio Dialogue นักออกแบบรางวัล DEmark Graphic Design ผู้ออกแบบเว็บไซต์ Creative City Development  บอกว่า ในการออกเว็บไซต์ที่เป็นพื้นที่กลางทำหน้าที่รวบรวมฐานข้อมูลและการพัฒนาพื้นที่ในระดับย่าน จังหวัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับประเทศต่อไป แต่ในยุคนี้นักออกแบบต้องมีการปรับตัวไปตามยุคสมัย ต้องมีมุมทั้งเป็นนักออกแบบและเป้นผู้ใช้งาน  อย่าง การออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เพียงเปลี่ยนจากการออกแบบพื้นที่ มาอยู่ในหน้าจอ ที่เราคิดว่าเหมาะสมกับผู้ใช้งาน ซึ่งมีส่วนที่สำคัญคือการเล่าเรื่องและสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน

ผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดรางวัล DEmark สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทาง https://demarkaward.net/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและ สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 Email : [email protected]


เว็บไซต์ Creative City Development

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุชาติ" หารือทูตลักเซมเบิร์ก วางแผนจับคู่ธุรกิจและเชิญชวนลักเซมเบิร์กลงทุนในไทยเพิ่ม”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือเอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทยเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับราชรัฐลักเซมเบิร์ก รวมถึงการเจรจา FTA ไทย-EU

DITP แนะเทรนด์แฟชั่นสิงคโปร์ ปี 67 ก่อนวางแผนผลิตสินค้าส่งออกไปขาย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเทรนด์แฟชั่นสิงคโปร์ ปี 67 ผู้บริโภคสนใจสินค้าทำจากวัสดุเหลือใช้ แนวสตรีท สินค้าไม่ระบุเพศ ผ้าโปร่งสีขาว กางเกงยีนส์เอาต่ำ-สูง ผ้าลายดอก กระเป๋าทำจากวัสดุรีไซเคิล แนะผู้ส่งออกไทยศึกษาและวางแผนผลิตสินค้าไปขาย

แป้งมันไทยฝ่าวิกฤต! ส่งออกพุ่งไตรมาสแรก

มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในภาพรวม สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 แม้ว่าจะหดตัวแต่การส่งออกแป้งมันสำปะหลังยังคงขยายตัวได้เป็นอย่างดี สวนกระแสสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก