คณะวิทยฯ มธ. ปั้นแบรนด์ 'สุชาดา' เครื่องสำอางจากสารสกัดใบไผ่

ประเทศไทย นับว่าเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยพืชพรรณที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพสูง สามารถนำมาวิจัยพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลายประเภทไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ และ”ไผ่ “คือ หนึ่งในพืชที่มีหลากหลายสายพันธุ์ปลูกอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย  ส่วนต่างๆของไผ่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ หน่อ นำไปประกอบอาหาร, ลำต้น นำไปสร้างบ้าน รั้ว สะพาน ตะเกียบหรืองานสานได้, ใบไผ่ นอกจากจะเป็นอาหารโปรดของแพนด้า ส่วนใหญ่ก็จะนำไปเพาะเห็ดเยื่อไผ่ และนำไปทำเป็นปุ๋ยได้

จากประโยชน์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงวิจัยพัฒนาใบไผ่ สายพันธุ์ซางหม่น มาสกัดจนพบสารประกอบสำคัญ คือ ไอโซออเรียนติน (isoorientin) เป็นสารกลุ่มฟลาวโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบำรุงผิว ช่วยลดเลือนริ้วรอยและจุดด่างดำ นำไปสู่การสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง SUCHADA (สุชาดา) ได้แก่ ได้แก่ เซรั่ม ครีมบำรุง โฟมล้างหน้า ไมเซล่า และครีมกันแดด ที่ตอบโจทย์การดูแลผิวพรรณ ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นช่องทางในสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

รศ.ดร.สุภกร บุญยืน ในขณะสกัดใบไผ่ในห้องปฏิบัติการ

หัวเรือใหญ่ในการวิจัยครั้งนี้ รศ.ดร.สุภกร บุญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการพัฒนาเครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์สุชาดา ได้รับแรงบันดาลใจจากโจทย์ของกลุ่มเกษตรกร จ.สระแก้ว เพราะในพื้นที่มีการปลูกไผ่มากถึง 200 ไร่ และในการปลูก  ไผ่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เมื่ออายุได้ 3 ปีขึ้นไป ในระหว่างนั้นก็จะไม่มีรายได้ เกษตรกรจึงต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่ และการที่ไผ่เป็นพืชที่ปลูกได้ทุกฤดูกาล  ทั่วทุกภาค  อีกทั้งการดูแลส่วนใหญ่ไม่ต้องพึ่งพายาฆ่าแมลง หรือการใส่ปุ๋ยมากนัก เพราะใบไผ่ที่ร่วงหล่นลงมาก็สามารถเป็นปุ๋ยได้ในตัว   ถือว่าเป็นพืชที่แข็งแรงทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น จึงเห็นว่าส่วนของใบไผ่ น่าจะมีสารสำคัญ สามารถนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีก

ใบไผ่ สายพันธุ์ซางหม่น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทีมวิจัยด้านเคมีได้ทำการศึกษาไผ่จำนวน 10 ชนิด จนพบว่า ไผ่ สายพันธุ์ซางหม่น ในส่วนของใบไผ่นั้นมีสารประกอบสำคัญคือ  ไอโซออเรียนติน ซึ่งอยู่ในสารกลุ่มฟลาวโวนอยด์ มีคุณสมบัติเป็นสาร Antioxidant ที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ แต่ที่โดดเด่นมากคือ การเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว

การวิจัยตลอดระยะเวลา 5 ปี  ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และทางมธ.  ทำให้ได้อนุสิทธิบัตรสารสำคัญจากไผ่ พันธุ์ชางหม่น  และพัฒนาต่อยอดจนได้สูตรผลิตภัณฑ์ดูแลผิว   เพื่อให้คนไทยได้ใช้ของดี รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น นอกจากโจทย์ของเกษตรกรแล้ว อีกโจทย์ที่สำคัญของทุนวิจัย จึงเป็นการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องตลาดได้    

“ในประเทศเกาหลีก็มีการนำไผ่มาทำเครื่องสำอาง แต่ไม่ได้มีระบุว่าใช้ส่วนใด และพบข้อจำกัดที่ไม่นิยมนำใบไผ่มาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เนื่องจากส่วนใบจะมีคลอโรฟิลล์อยู่เยอะ ทำให้เวลานำมาทำเครื่องสำอางจะมีการเปลี่ยนสีไปจากเดิม เช่น เนื้อเครื่องสำอางสีเขียว ทิ้งไว้นานก็จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู อาจจะเพราะระยะเวลาและค่า PH ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนสี  ทำให้ทางทีมวิจัยต้องวิเคราะห์เพิ่มและพัฒนามากขึ้น จนได้การสกัดใบไผ่ด้วยวิธีใหม่ คือ การให้ความร้อน และใช้ตัวทำละลายบางชนิดสกัดในสภาวะที่ร้อนทำได้หลายๆรอบ เพื่อให้ได้สารระเหยออกจากใบไผ่ ทำให้สารแยกสารไอโซออเรียนตินออกมาได้ดี ทำให้ได้สารที่มีความโดดเด่นมากเรื่องการเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิว”รศ.ดร.สุภกร  กล่าว


ในส่วนการผลิตเครื่องสำอาง  รศ.ดร.สุภกร  บอกว่า วัตถุดิบสำคัญคือ ใบไผ่ ดังนั้นทางทีมวิจัยก็จะเป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งใบไผ่ที่จะนำมาสกัดนั้น ทางเกษตรกรต้องทราบหลักในการเก็บ คือ ต้องไม่มีแมลง ไม่เก็บใบไผ่ที่ร่วงลงดินแล้ว และขอให้สังเกตและเก็บใบไผ่ในช่วงใบไม่แก่เกินไป หรือไม่ใช่ช่วงระยะที่เพิ่งออกใบ ซึ่งการกำหนดช่วงระยะเวลาในการเก็บเพราะเป็นช่วงที่สารไอโซออเรียนตินจะมีมากในระดับหนึ่ง   หลังจากนั้นก็นำมาล้างทำความสะอาด และตากในโรงเรือนแสงอาทิตย์ โดยเกษตรกรจะขายได้ในกิโลกรัมละ 400-500 บาท ซึ่งใบไผ่ 1 กิโลกรัม สามารถสกัดสารอโซออเรียนตินได้ปริมาณ 5 กรัม จากนั้นทางทีมวิจัยก็จะมาเตรียมให้เป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นในระดับหนึ่ง และนำไปใส่ในสูตรเครื่องสำอางตามสูตรวิจัย ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อผ่านทุกกระบวนการจนกลายเป็น ผลิตภัณฑ์ SUCHADA เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้อย่างปลอดภัย ก็ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพ ซึ่งผ่านผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ Biosafety Level 2 และการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวนกว่า 300 ราย ที่ประกอบด้วยเพศชาย เพศหญิง ในกลุ่มอายุต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งพบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน มีการริวรอยที่จาง รอยด่างดำดีขึ้น

 รศ.ดร.สุภกร กล่าวเสริมว่า แม้ในกลุ่มผู้ทดสอบจะพบผู้ที่มีอาการแพ้จำนวน 2 คน จึงได้มีการสอบถามทำให้ทราบว่า เพราะผู้ทดสอบเป็นคนที่ผิวแพ้ง่าย ใช้อะไรก็แพ้จึงใช้เพียงน้ำเปล่าในการทำความสะอาดใบหน้า ซึ่งการเข้าร่วมทดสอบนี้เพราะต้องการทราบว่าผิวจะเป็นมิตรกับผลิตภัณฑ์นี้ไหม  ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ได้ผลดี ก็อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ใช้งานด้วย เช่น อายุ การใช้ชีวิตประจำวัน และอาการแพ้เฉพาะบุคคล เป็นต้น

สำหรับเส้นทางของแบรนด์ SUCHADA ทำให้สังคมได้เห็นถึงการพัฒนาวัสดุเหลือทิ้ง คือใบไผ่ มาเป็นผลิตภัณฑ์ และสามารถนำไปประกวดได้รางวัลในเวทีระดับนานาชาติ อาทิ ในปี 2021 ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก Invention Geneva Salon International Des Inventions ของผลิตภัณฑ์ Serum of Bamboo extract for sensitive skin  และได้รับรางวัล Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association ในปีเดียวกัน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จาก Japan Design Idea & Invention expo ของผลิตภัณฑ์ Micellar cleansing water and cosmetic products from bamboo leaf extract และ ในปี 2022 ได้รับรางวัล เหรียญเงินจาก Invention Geneva Salon International Des Inventions ของผลิตภัณฑ์ Isoorientin from bamboo leaf extract for cosmetic products

“และในอนาคต นอกจากจะช่วยเกษตรกร อีกส่วนสำคัญคือ อยากทำให้เยาวชนได้เห็นภาพว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานในห้องปฏิบัติการ แต่วิทยาศาสตร์อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง งานวิจัยสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ สร้างธุรกิจได้ และในขณะนี้เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย จึงยังไม่ได้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางแบรนด์กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งในรูปแบบเป็นบริษัท เพื่อขยายฐานผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งหรือราคาตามความเหมาะสม และอาจจะเป็นโอกาสในการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับคณะอื่นๆ ในการวิจัยพัฒนาพืชที่มีในประเทศ เพื่อสร้างเป็นบิวตี้โปรดักส์ของมหาวิทยาลัยต่อไป” รศ.ดร.สุภกร ทิ้งท้าย  

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเปิดประสบการณ์ผิวได้ลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และติดต่อได้โดยตรงที่คณะวิทย์ฯ มธ. โดยราคาเบื้องต้นเริ่มที่เซ็ตละ 1,000 บาท ได้ครบทั้ง 5 ชิ้น ได้แก่ เซรั่ม ครีมบำรุง โฟมล้างหน้า ไมเซล่า และครีมกันแดด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนชิม 10 เมนูอาหารถิ่น หากินยาก

เหลือเวลาอีก 2 วันที่จะได้ชิม ช้อป เมนูอาหารถิ่นในงาน "ใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" งานนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดเมนูอาหารหาทานยาก ภายใต้โครงการ "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น

ประกวดการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพ

เที่ยวงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี ชิล ชิม ช้อป ครบครัน

24 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมกว่า 20 หน่วยงาน จัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ไทยอวด'วิญญาณข้ามสมุทร' งานเวนิส เบียนนาเล่

เริ่มแล้วนิทรรศการ “The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร” ผลงานศิลปะที่จะแสดงศักยภาพศิลปินไทยและอาเซียนบนเวทีระดับโลก งานนี้ มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐ