ตลาดแอปเรียกรถแข่งระอุ TADA เปิดตัวบุกไทย ชูจุดแข็งเอาใจคนขับ 'ไม่เก็บค่าคอมฯ-เลือกรับงานได้'

แอปพลิเคชั่นเรียกรถ เป็นอีกหนึ่งบริการทางเลือกด้านขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารในสังคมเมืองเป็นอย่างมาก เพราะมีให้บริการเลือกรถทั้งแท็กซี่ รถยนต์ทั่วไป รถยนต์พรีเมียม รถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถจักรยานยนต์ อีกทั้งยังมีระบบจองล่วงหน้า หรือเช็คค่าโดยสารก่อนออกเดินทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ จึงทำให้ตลาดแอปเรียกรถ เรียกได้ว่าเติบโตอย่างมากในประเทศไทย

แม้ว่าในตลาดแอปเรียกรถในไทยจะมีบริษัทเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง เบอร์สามที่โลดแล่นอยู่ในสนามครองตลาดด้วยการขยายบริการที่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก แต่เหล่าน้องใหม่ที่เลือกลงสนามแอปเรียกรถก็ไม่หวั่นพร้อมกระโจนเข้ามาชิงพื้นที่ในตลาดมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ล่าสุด TADA แพลตฟอร์มเรียกรถสาธารณะ เจ้าใหญ่เบอร์สองของประเทศสิงค์โปร์ ที่ให้บริการในสิงค์โปร์ เวียดนาม กัมพูชา และได้ลงสนามในไทย เป็นประเทศที่ 4 หลังจากได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกในประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา  ชูจุดเด่น “ไม่เรียกเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ หรือ 0% Commission”  ข้อเสนอนี้เรียกได้ว่าสร้างความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับกลุ่มคนขับรถให้บริการสาธารณะ โดยในช่วงแรกจะให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้ความร่วมมือกับบริษัท Howa International ผู้ให้บริการรถแท็กซี่แบบครบวงจรรายใหญ่ในไทย เสริมกำลังยกระดับสู่สากล

นอกจากนี้ TADA ยังเป็นส่วนหนึ่งของ MVLLABS Group บริษัทแห่งการขับเคลื่อนที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน ซึ่งก่อตั้งโดยคุณเค วู บริษัทยังได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ONiON ที่ประสบความสำเร็จในโครงการนำร่องร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีกรุ๊ปของประเทศไทย

ฌอน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TADA

ฌอน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TADA กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างแพลตฟอร์มบริการรถสาธารณะให้แก่ผู้ขับขี่ในประเทศสิงค์โปร์ ที่มาค่าธรรมเนียมยุติธรรมและเหมาะสม จึงได้ทำโมเดล 0% Commission ให้แก่คนขับ และกระจายรายราคา รายได้ที่เป็นธรรม ระหว่างแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ ผู้โดยสาร และคนขับรถ  โดยได้รับอนุญาต Land Transport Authority (LTA) หน่วยงานขนส่งทางบกของสิงคโปร์ และได้ให้บริการมากว่า 5 ปี ในสิงค์โปร์ เวียนนาม กัมพูชา ซึ่งได้รับความนิยมและสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่จะใช้โมเดลนี้ในการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2566 แม้ว่าในตลาดประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการแอปเรียกรถจำนวนมาก แต่เชื่อว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาให้บริการพร้อมกับจุดเด่นที่ไม่เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นกับคนขับ ปัจจุบัน TADA มีคนขับในระบบที่พร้อมให้บริกการเฉพาะในกรุงเทพฯแล้ว 15,000 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแท็กซี่ประมาณ 60% ส่วนรายได้ของแพลตฟอร์ม TADA จะได้ค่าธรรมเนียมเรียกรถจากผู้โดยสาร 20 บาทต่อเที่ยว ตามข้อกำหนดของกรมขนส่งทางบกในประเทศไทย ดังนั้นโมเดลนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ราคาให้บริการถูกที่สุดในตลาด แต่เป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ราคาถูกกว่าบางเจ้าที่แพงที่สุดในไทยประมาณ 30% ซึ่งคนขับจะได้ราคาที่ยุติธรรม มีรายได้ และอยากที่จะรับงานมากขึ้นด้วย” ฌอน กล่าว

ฌอน ย้ำว่า หัวใจสำคัญของแนวทางที่ไม่เหมือนใครของ TADA คาดว่าจะเพิ่มจำนวนการลงทะเบียนของคนขับต่อไป สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบริการเรียกรถในประเทศไทย ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการผู้โดยสาร ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว คนขับของ TADA คือพาร์ทเนอร์ของเราและเชื่อว่าพวกเขาควรได้มีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งคนขับสามารถมีแหล่งรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นด้วยนโยบายการไม่คิดค่าคอมมิชชั่นของเรา ในขณะที่ผู้โดยสารสามารถใช้บริการด้วยอัตราค่าโดยสารที่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้นโดยไม่กระทบต่อคุณภาพ

สุภัทธา เนียมวณิชกุล หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบาย TADA ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า นอกจากจุดยืนในเรื่องของการไม่เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นกับคนขับแล้ว ในเรื่องของความปลอดภัยและยุติธรรม 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ความเสมอภาคเท่าเทียม คือการกระจายราคาที่เท่าเทียมต่อทุกฝ่าย 2.บริการที่เข้าถึงและใช้งานง่าย 3.แพลตฟอร์ม TADA มีความเชื่อถือได้ จากการรับรองของกรมการขนส่งทางบกทั้งจากประเทศไทยและสิงค์โปร์ที่ให้บริการอย่างถูกกฎหมาย  นอกจากนี้ยังให้อิสรภาพแก่คนขับที่สามารถที่เลือกรับงาน โดยมีการบังคับให้คนเลือกงานด้วย ซึ่งทำให้คนขับมีความสุขและมอบบริการที่ดีให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อเป็นการให้คุณค่าแก่คนขับทุกคนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

สุภัทธา กล่าวต่อว่า โดยในขณะการให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีบริการเฉพาะในส่วนของรถแท็กซี่ และรถยนต์ทั่วไปก่อน และในเร็วๆ นี้ จะมีการขยายไปยังพื้นที่ในเขตปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ แฃะปทุมธานี พร้อมกับเปิดให้บริการในส่วนของรถจักรยานยนต์และบริการอื่นๆ  และขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทยภายในปี 2024

หัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร ผู้จัดการบริษัท Howa International กล่าวว่า ในปัจจุบัน จำนวนแท็กซี่ในสังกัดมีจำนวนประมาณ 2,000 คัน ซึ่งทางผู้บริหารของทั้ง 2 ฝ่าย มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการให้แท็กซี่ในสังกัดของ HOWA ทุกคัน เชื่อมระบบเพื่อใช้งานแพลตฟอร์มของ TADA ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเชื่อมระบบทางเทคนิคอลให้สมบูรณ์ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้บริการที่ดีต่อไปในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขนส่งไฟเขียว 2 บริษัทให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ

“กรมขนส่งทางบก” เปิดข้อมูมมีผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านระบบแอปฯ ผ่านการรับรองแล้ว 2 ราย ย้ำผู้ที่ให้บริการอยู่ตอนนี้ ต้องยื่นขอรับการรับรองภายใน 31 มี.ค.นี้ ด้านGrab ยังไม่ผ่าน

ขนส่งเร่งผู้ให้บริการรถยนต์ผ่านแอปฯรีบยื่นขอรับรองภายในมี.ค.

“ขนส่งทางบก” เปิดไทม์ไลน์มีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันยื่นขอรับรองให้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านแอปฯ แล้ว 3 ราย ชี้แอปพลิเคชันที่บริการอยู่ ต้องยื่นขอรับรองตามกฎหมายภายใน มี.ค. 65 และต้องจดทะเบียนรถให้แล้วเสร็จภายในก.ค. 65

ขนส่งฯย้ำแอปฯเรียกรถถูกกฎหมายได้ใช้แน่ปีนี้

ขนส่งฯยืนยันบริการเรียกรถบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน มีผู้ประกอบการทั้งรายใหม่ รายเก่าสนใจ เตรียมดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ให้เป็นตามเงื่อนไข ของรถที่จะใช้ และการสอบใบขับขี่รถสาธารณะของผู้ขับรถ