'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (1)

เป็นอีกครั้งในชีวิตที่ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพบมั้ย แต่เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตัวเองในฐานะชาวพุทธได้พบกับความสุขสงบในจิตใจและได้เว้นวรรคจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ห่างไกลจากสิ่งเร้ารอบตัว ตามโปรแกรมจะไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน คือ  สถานที่ประสูติบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เนปาล , สถานที่ตรัสรู้ ,สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เดินทางติดตามโครงการประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นำพระสงฆ์และคณะเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และทีมข่าววัฒนธรรมร่วมคณะ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ตลอดเส้นทางจาริกแสวงบุญแดนพุทธภูมิรวมระยะเวลา 8 วัน คณะฯ ได้รับความเมตตาจากพระวิเทศวัชราจารย์ เลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดสิทธารถราชมณเฑียร สาธารณรัฐอินเดีย  เป็นพระธรรมวิทยากร หรือที่รู้จักกันในชื่อ”พระครูอินเดีย” บรรยายให้ความรู้เรื่องราวพุทธประวัติในพระไตรปิฎก พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ช่วยชี้ธรรมนำทางให้เหล่าผู้จาริกได้ท่องเที่ยว ท่องธรรม และเข้าใจคุณค่าความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ในพุทธประวัติอย่างแท้จริง  รวมถึงมีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น  ปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนาทุกวัน เปิดมุมมองการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในสถานที่จริงและน้อมนำการประพฤติปฏิบัติตามรอยพระศาสดาอย่างมีสติอยู่กับลมหายใจ  

เราเดินทางสู่ตำบลโพธิคยา เมืองพุทธคยา อินเดียประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว  สองข้างทางยังมีสีสันของส่าหรี สตรีทฟู้ดอินเดียดูเพลินตาและมีชีวิตชีวา  อินเดียรวมความเชื่อและศาสนามากมาย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ที่เหลือเป็นศาสนาอิสลาม คริสต์ ซิกข์ และศาสนาพุทธ แต่ละศาสนาเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน  ระหว่างทางผ่านแม่น้ำเนรัญชราที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงลอยถาดทองอธิษฐานว่า “ ถ้าแม้จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ ก็ขอให้ถาดทองนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป” 

แม้วันนี้น้ำในแม่น้ำที่พบเห็นจะเหือดแห้ง  แต่เรื่องราวทางศาสนายังแจ่มชัด จากนั้นแวะชมสถูปสูงใหญ่บ้านนางสุชาดา ผู้นำถาดข้าวมธุปายาสถวายแด่พุทธองค์ ทรงรับด้วยพระหัตถ์แล้วปั้นได้ 49 ก้อน เสวยจนหมด เป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนทรงตรัสรู้

มาถึงพุทธคยาช่วงเย็น ดินแดนแห่งนี้สมัยพุทธกาลเรียก”ชมพูทวีป” ที่นี่คือสถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัมโพธิญาณ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ยังคงยืนต้นใหญ่ตระหง่านแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็น และมีพระแท่นวัชราอาสน์ หรือ “โพธิบัลลังก์” เป็นพระแท่นที่พระพุทธองค์นั่งสมาธิเสวยวิมุตติสุข  มีพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาปฏิบัติธรรมที่แห่งนี้มากมาย  กล่าวกันว่านี่คือ จุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนิกชนผู้แสวงบุญทั่วโลก เราก้มลงกราบเบื้องหน้าพระศรีมหาโพธิ์ และได้มีโอกาสห่มผ้าพระพุทธเมตตา พุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินแกรนิตสีดำ ศิลปะปาละอายุกว่า 1,400 ปี ภายในพระมหาเจดีย์พุทธคยา 

หลังจากที่ทรงตรัสรู้ที่เมืองพุทธคยาแล้ว พระศาสดาได้เสด็จไปพบและแสดงปฐมเทศนา”ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร” เนื้อหายึดหลักทางสายกลาง เพื่อบรรลุถึงอริยสัจ 4  เพื่อละทุกข์ทั้งปวงแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่เมืองสารนาถ  แคว้นกาสี ซึ่งอยู่ใกล้เมืองพาราณสีในปัจจุบัน นับจากกาลครั้งนั้นพระธรรมจักรได้เคลื่อนเป็นครั้งแรก และไม่เคยมีใครสามารถหยุดกงล้อพระธรรมได้  แม้สังคมปัจจุบันนี้จะมีข่าวคราวความเสื่อมทางศาสนา ข่าวฉาวของพระนอกรีตหรือมารศาสนา แต่ในฐานะชาวพุทธหน้าที่ของเราเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ยึดหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาไม่เสื่อมคลาย

การมาเยือนแดนพุทธภูมินี้เราได้ไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ภายในบริเวณมีธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่มหึมาที่ทรงประกาศพระสัจจธรรมครั้งแรก เรานมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ภายในยังมีคันธกุฎี กุฎิหลังแรกและชมสังฆารามกุฎิสงฆ์ในอดีตกว่า 1,000 หลัง ภายในสถานที่แห่งนี้

พระวิเทศวัชราจารย์ กล่าวว่า  เป้าหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาต้องการให้พ้นจากความทุกข์ พระพุทธองค์สอนให้เรามีความสุขในเบื้องต้น สอนให้พ้นจากความยากจนด้วยบท “อุ อา กะ สะ” สอนให้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขได้ด้วยหลัก “คิหิปฏิบัติ” แต่ยอดแห่งธรรมจริงๆ คือ หลักการที่เราจะประพฤติปฏิบัติด้วยตัวเอง พระพุทธองค์เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ได้ใช้ความเพียร ความอดทน ความมุ่งมั่นอย่างถึงที่สุดโดยไม่ย่อท้อ จนสามารถตรัสรู้เป็นมหาศาสดาเอกของโลกได้ เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทที่มาถึงสถานที่ต่างๆ ในพุทธประวัติได้เห็นร่องรอยธรรมในการตรัสรู้  

อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 7 ของโลก ประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก  หลายคนที่ยังไม่เคยมาอินเดีย กล้าๆ กลัวๆ หรือไม่มีอินเดียอยู่ในลิสต์การเดินทาง โดยเฉพาะปากต่อปากสภาพอินเดียที่เห็นภายนอก กลายเป็นความกังวล จินตนาการไปต่างๆ นานา จะพบกับความทุกข์ยากลำบาก  การเดินทางไปอินเดียนั้น พระวิเทศวัชราจารย์ ฝากคติธรรมให้แก่นักจาริกว่า “ มองอินเดียแบบที่อินเดียเป็น อย่ามองเขาแบบที่เราเป็น และจงมองทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ ”

อย่างการเดินทางจากพุทธคยาไปพาราณสีใช้เวลามากกว่า 8 ชั่วโมง  ด้วยถนนหนทางยังไม่เจริญ จราจรติดขัด ลัดเลาะผ่านชนบท สองข้างทางเป็นทุ่งข้าวสาลีสีน้ำตาลอ่อนรอการเก็บเกี่ยว แล้วยังมีพืชชนิดอื่นๆ ที่ชาวอินเดียปลูก วิวทิวทัศน์รายทางจะเห็นชาวอินเดีย ลูกเด็กเล็กแดง นั่งนอนหน้าบ้านที่ชิดติดริมถนนที่มีรถราขวักไขว่ เสียงแตรรถดัง ฝุ่นควันตลบ มีวัวควายเต็มไปหมด วัวเป็นเทพเจ้าสำหรับชาวอินเดีย น้ำนมจากวัวคือโปรตีนอย่างดีจากเทพเจ้า ทั้งยังใช้ไถนา

ส่วนมูลวัวมูลควายก็ใช้ทำปุ๋ย ทำเป็นเชื้อเพลิง แล้วที่เห็นเป็นปกติการนำมูลวัวมาทาผนังบ้าน เป็นของดีของคนอินเดีย เป็นความสุขแบบง่ายๆ ที่เราเรียนรู้ระหว่างทาง  ตามบ้านคนอินเดียในชนบทยังประดับธงรูปหนุมาน พวกเขาเชื่อว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความแข็งแรง บูชาแล้วจะนำมาซึ่งพละกำลังเรี่ยวแรงในการทำงาน  นั่งรถทั้งวัน มาถึงพาราณสีค่ำมืด แต่เมื่อปรับมุมมอง นึกถึงการมาแสวงบุญ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็คลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเราได้เห็นบรรยากาศเมืองพาราณสี เมืองเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย เป็นอู่อารยธรรม ถ้าไม่มาเช็คอินพาราณสีถือว่าไม่ถึงอินเดีย อดีตเป็นเมืองหลวงแคว้นกาสี มีแม่น้ำคงคาที่ศักดิ์สิทธิ์  สองข้างทางเต็มไปด้วยสีสัน ตอนนี้มีการปรับภูมิทัศน์เมือง โดยวาดภาพบนกำแพงบอกเล่าเรื่องราวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนบุคคลสำคัญในอินเดีย เช่น มหาตมะคานธี ด.ร.อัมเบดการ์ เยาวหราล เนห์รู ฯลฯ เรามุ่งไปที่ท่าทศวเมธ เป็นท่าสำคัญและใหญ่ที่สุดในบรรดาท่าทั้งหมด 84  ท่า บริเวณริมฝั่งผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์จะมาบูชาดวงอาทิตย์ลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคา  เพื่อเป็นการล้างบาปให้กับตัวเอง

พระครูอินเดียสาธยายก่อนคณะฯ ล่องแม่น้ำคงคาว่า ตามพุทธประวัติพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดพราหมณ์ริมฝั่งน้ำคงคา พระองค์ตรัสว่า “ ดูก่อนพราหมณ์ แม่น้ำใดย่อมไม่สามารถทำให้คนบาปกลายเป็นคนบริสุทธิ์ไปได้ เพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ กายสุจริต วจีสุจริต…”

ย้อนไป 200 กว่าปีที่ผ่านมา พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองพาราณสีนับถือฮินดู สั่งรื้อสถูปสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนาพระพุทธเจ้า  เมื่อเจอผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุใจกลางธรรมราชิกสถูปได้นำมาถวายมหาราชา กษัตริย์นึกสงสารกลัวพระพุทธเจ้าไม่ได้ไปสวรรค์จึงนำกระดูกของพระพุทธองค์ไปลอยแม่น้ำคงคาที่ท่าหลักนี้ โดยมีพิธีบวงสรวงด้วยการฆ่าม้า 10 ตัว นำมาสู่ชื่อว่า “ทศวเมธ” นั่นเอง

เรือแล่นออกจากท่าไปกลางแม่น้ำ คณะฯ ลอยประทีปดอกไม้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างล่องเรือผ่านอีกท่าที่สำคัญ มองเห็นควันไฟลอยขึ้นมา คือ มณิกรรณิการ์ฆาต เป็นท่าที่เผาศพของศาสนาฮินดูที่มีมานานกว่า 4,000 ปี  เชื่อกันว่า ถ้าเผาศพที่นี่ดวงวิญญาณจะไปสู่สรวงสวรรค์ โดยต้องทำพิธีภายใน 24 ชั่วโมง  ยกเว้นศพ 5 จำพวก คือ ศพนักบวช ,หญิงหม้ายตายทั้งกลม ,เด็ก,คนถูกงูกัดตาย และคนถูกฟ้าผ่าตาย ให้นำศพถ่วงน้ำได้เลย  ขณะที่ตลอดแนวท่าน้ำยาวสุดสายตา คนฮินดูทั้งอาบน้ำ ดื่มน้ำจากคงคา  

เปิดตาเปิดใจให้กว้างอินเดียเป็นห้องเรียนของชีวิตจริงผ่านธรรมชาติและชีวิตของคนเป็นและคนตายที่เราได้พบพาน… การจาริกยังไม่สิ้นสุดจะพาไปเยี่ยมบ้านเกิดพระพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เนปาล  รอติดตามกัน!!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดนตรีภาษาสากล ถักทอมิตรภาพไทย-รัสเซีย

คณะนักร้องประสานเสียงเพลงพื้นบ้าน Pyatnitsky ซึ่งรวบรวมนักแสดงมากฝีมือ ทั้งนักร้อง นักเต้นรำ และนักดนตรีชั้นยอดจากภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย  จัดการแสดงเพลงรัสเซียในรูปแบบศิลปะดั้งเดิมสุดไพเราะ งดงามตระการตา ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

วธ.จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ

25 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 29 เมษายน นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมห

บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายบูรพกษัตริย์ งาน242ปี กรุงรัตนโกสินทร์

21 เม.ย.2567 - เวลา 07.00 น. พระเทพวชิรโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

20 ชุมชนชิงต้นแบบ'เที่ยวชุมชน ยลวิถี'

ชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้นกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ละชุมชนมีความโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ วิถีชีวิต เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวตามบริบทของชุมชน เพื่อคัดเลือกชุมชนต้นแบบ”เที่ยวชุมชน ยลวิถี”ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

วธ.เปิดสงกรานต์ปีใหม่ไทยวัดสุทัศน์ฯ นทท.คึกคัก ทั่วไทยร่วมสืบสานความงามประเพณี

13 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม